ประธานบอร์ดปตท. แนะรัฐเปิดกว้างด้านพลังงาน ดึงเอกชนเข้าร่วมพัฒนา
ประธานบอร์ด ปตท. แนะรัฐเปิดกว้างด้านพลังงาน ดึงเอกชนเข้าร่วมพัฒนา แข่งขัน สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านนักวิชาการ มองอนาคตพลังงานไทยต้องแก้ที่โครงสร้างระบบ
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี บริษัท ป่าสาละ จำกัด จัดเสวนา "มองอนาคตพลังงานไทย – เราควรถกกันเรื่องอะไร ?”
ด้าน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานตณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการด้านพลังงาน ถอยไปสัก 50 ปี ระบบบริหารจัดการภายในค่อนข้างที่จะรวมศูนย์ โดยที่เอกชนมีโอกาสน้อยมาก รัฐวิสาหกิจคือผู้ปฏิบัติ รัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย และรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ ดูเเลเรื่องพลังงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า หรือก๊าซธรรมชาติ น้ำมันก็มี แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น มีการกำหนดให้เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินกิจการในส่วนที่เราทำไม่ได้ จนกระทั่งเราเห็นการเติบโตอย่างมหาศาลของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ก็เพราะว่านโยบายของรัฐที่เปิดกว้าง ลดการผูกขาด และอาศัยความริเริ่มของภาคเอกชนไทยในการเริ่มโครงการต่างๆ และการสนับสนุนของรัฐ
"ถ้าไม่มีนโยบายอย่างนั้น เราก็จะไม่เห็นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ก้าวกระโดดมากขนาดนี้ แต่ถ้าหากภาครัฐมั่นใจว่า ฉันจะผลิต กำหนดว่าจะมีอะไรเท่าไร จะเป็นการสร้างข้อจำกัดทันทีในการคิดริเริ่มของภาคเอกชน และโครงการต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น"
ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า อนาคตพลังงานไทยอยากให้กลับไปสู่แนวทางเดิม เดินหน้าต่อไปในการเปิดกว้างให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น รัฐลดบทบาทลงไป แต่ในทางกลับกันวันนี้สังคมไทยกำลังพูดถึงเรื่องของการในภาครัฐมีบทบาทมากขึ้น โครงสร้างกิจการพลังงานโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า หากลองดูเรื่องของน้ำมันมีตลาดแข่งขัน โรงกลั่นน้ำมันมีการแข่งขันสูง การแข่งขันทำให้มีคุณภาพ ในขณะที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการบริการที่ดี ปั้มน้ำมันสะอาดมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ทั้งหมดเกิดจากการแข่งขัน
"กิจการพลังงานไฟฟ้าที่ผูกขาด จะเห็นว่า ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าเพิ่มก็ต้องขายให้การไฟฟ้าฯ เท่านั้น ใครจะซื้อไฟฟ้าก็ต้องซื้อจาการไฟฟ้าฯ ดังนั้นวันนี้เราควรหาโอกาสที่จะเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะมีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้ามีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เรามีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เราสามารถแก้เรื่องพลังงานหมุนเวียนได้"
ประธานบอร์ด ปตท. ตั้งคำถามสิ่งที่ต้องการคือเราจะเปิดให้มีการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าอย่างไร ซึ่งหมายความว่า ระบบไฟฟ้าเป็นระบบเชื่อมโยงกัน หนีไม่พ้นเรื่องที่จะต้องมีศูนย์ควบคุมระบบที่เป็นอิสระ จะอยู่ที่สายส่ง จะแยกออกมาหรือเปล่า และจะต้องสร้างกลไกความสมดุลในระบบไฟฟ้า จะเรียกว่าอะไรก็เเล้วแต่ เปิดให้มีผู้ค้าสามารถขายไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นต้องเปิดทั้งหมด ไปเปิดปลายทางไม่ได้
“ส่วนภาครัฐทำอะไร ภาครัฐเป็นคนกำหนดนโยบาย องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับดูเเล และภาครัฐกำหนดกติกา กฎเกณฑ์ เพื่อให้จัดการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ให้เอกชนมีบทบาท ให้ภาครัฐเอาเงินภาษีประชาชนไปลงทุนในโครงการที่เอกชนไม่ทำ หรือเป็นโครงการที่ส่งผลดีต่อส่วนรวม เช่น เรื่องของการค้นคว้าวิจัย เป็นต้น”
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่พัฒนามาถึงจุดที่ไม่มีใครเชื่อว่า จะเกิดขึ้นจริง คำถามทุกวันนี้คือจะเปลี่ยนระบบพลังงานของเราอย่างสิ้นเชิงในอนาคตหรือไม่ หัวใจสำคัญกว่าคำถามที่ว่าเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้าในประเทศไทยของเรา คือจะเกิดขึ้นในมือของใคร ผลประโยชน์จากเทคโนโลยี ใครจะได้รับประโยน์
"เรื่องพลังงานไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน เปลี่ยนทั้งห่วงโซ่อุปทาน คือ เดิมทีเราต้องไปหาบ่อแก๊ส เหมืองถ่านหิน ต้องขนเข้ามา ต้องมีบริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทแบบหนึ่ง ในขณะที่ผู้ผลิตแก๊สชีวภาพ ห่วงโซอุปทานของพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ อาจจะไม่มีผู้ผลิตแก๊ส ผู้ผลิตขี้หมูเลยก็ได้ รวมถึงผู้จัดจำหน่ายต่อไปอาจจะไม่ต้องมีผู้จัดจำหน่าย รับซื้อรายเดียว ต่อไปก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ ฉะนั้นตัวโครงสร้างจะเป็นหัวใจ ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า ก็ไปเกี่ยวพันกับโครงสร้างของบริษัทรถยนต์ โครงสร้างเกี่ยวกับผู้ให้บริการ ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้าง ไปผูกกับอำนาจรัฐ ที่จะเข้ามาสนับสนุนนโยบายหรือขัดขวางในเชิงนโยบาย และอีกเรื่องหนึ่งคืออำนาจรัฐในการกำกับดูเเล การที่จะเปิดให้เข้ามา พลังงานจะเข้ามาอย่างไร ต้องดูที่ตัวโครงสร้าง เราควรถกเถียงกันเรื่องโครงสร้าง นโยบาย การกำกับดูเเล
ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ประเด็นปัญหาสำคัญตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ยกตัวอย่าง กรณีมือถือ ต่อให้มีอีกกี่จี ก็ไม่เป็นไร หากเราโอเคกับไม่กี่เจ้าที่มีอยู่ แต่กรณีไฟฟ้า น้ำมัน การขนส่ง อาจจะเป็นไปไม่ได้ อาจจะเดินไปสู่จุดแตกหัก เลยหนีไม่พ้นที่เราจะมาคุยเรื่องโครงสร้าง
"ถ้าเรามองอนาคต สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดสำคัญว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรคือ (1) เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น (2) คุณค่า กรณีเช่นนี้ตัวชี้ขาดว่า เทคโนโลยีมาเร็วมาช้า ขึ้นอยู่ว่า ประชาชนอย่างเราจะให้คุณค่ากับอะไร เรามองมติสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไหน มติเชิงสังคม มติเชิงเศรษฐกิจ มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่นำมาเทียบเรื่องต้นทุน คือการเอาคุณค่าที่แตกต่างหากหลาย เข้ามาสู่กระบวนการเดียวกัน เช่น เมื่อก่อนเราใช้มือถือปุ่มกดเยอะเราชอบ อยู่วันนี้ก็ไม่มีปุ่ม เราก็พอใจ เพราะสะดวกสบาย แต่เรื่องพลังงานไม่ใช่บางเทคโนโลยีอาจถูกกว่า บางตัวอาจลงทุนน้อยกว่า แต่บางตัวอาจจะมีประโยชน์ในทางสังคม สิ่งแวดล้อมมากกว่า ฉะนั้นการถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ เป็นการถกเถียงสำคัญ (3) อำนาจ เป็นสิ่งที่กำหนดพลังงานจะเป็นอย่างไร อำนาจรัฐในเชิงนโยบาย การกำกับดูเเล สามอย่างนี้จะผูกโยงเข้าหากันเพื่อกำหนดอนาคตต่อไป"
ด้าน น.ส.ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวถึงไฟฟ้าเป็นสาธารณะประโยชน์ อยากให้ทุกคนมองว่า เรื่องนี้เป็นทรัพยากรที่เราใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ดังนั้นไม่อยากให้เราคิดว่า ไฟฟ้าเป็นแค่สินค้า ถ้าเรามีปัญญาจ่าย เรามีสิทธิที่จะใช้มากแค่ไหนก็ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ณ วันนี้
"ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่ทำให้บริษัทพลังงาน การไฟฟ้าต่างๆ กลายพันธุ์ เดิมที่เป็นเรื่องการเสียสละของคนในชาติเพื่อให้เกิดการกระจายการไฟฟ้าไปยังพื้นที่ห่างไกล แต่วันนี้เรามาไกล บริษัทพลังงานส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไฟฟ้าได้กลายเป็นสิ้นค้าไปแล้ว ยิ่งมีการลงทุนมาก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ตลาดหุ้นมีความคึกคัก อาจจะมองว่าเป็นพัฒนาของธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันเเล้ว หากเราไม่มีตรวจสอบถ่วงดุลที่ถูกต้อง จะกลายเป็นเรื่องของการค้ากำไร"
น.ส.ชื่นชม กล่าวด้วยว่า เรื่องเหล่านี้ อยากให้ช่วยคิดว่าทำอย่างไร ให้การไฟฟ้ากลับมาเป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ อยากให้มีการแข่งขัน แต่ไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องการซื้อขายตามดีมาน ซับพลายให้ใช้ระบบการจัดการสาธารรประโยชน์ ให้ประชาขนมีส่วนร่วมมากกว่า และที่สำคัญประชาชนจะตรวจสอบได้แค่ไหน