กกวล.มติถอนพิจารณา EIA แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล สั่ง สนข.เจรจาชาวบ้านใหม่
ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติถอน อีไอเอ พร้อมสั่งให้ สนข.กลับเจรจาชาวบ้าน ก่อนเสนอพิจารณารอบใหม่ด้านศิลปิน-เครือข่ายภาคปชช. อ่านแถลงการณ์พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ค้านแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2559 ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เครือข่ายประชาชนปกป้องอุทยานแห่งชาติ เภตรา – ตะรุเตา และเครือข่ายศิลปินอิสระ ประมาณ10 คน ร่วมออกแถลงการณ์และแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กรณีเส้นทางรถไฟเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือสวนกง( แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล ) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ซึ่งมีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันเดียวกัน
ด้านนายสมยศ โต๊ะหลัง ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้นำอ่านแถลงการณ์เรื่อง เดินหน้าปกป้องอุทยานแห่งชาติ จากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา – สตูล ว่า การพัฒนาประเทศที่จะนำความผาสุกมาสู่ประชาชนในชาติ เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ หากแต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ และจะต้องน้อมรับเสียงทักท้วงของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้วการพัฒนาประเทศที่อ้างว่าจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั้น ก็จะกลายเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู แต่กลับไม่มีความหมายสำคัญที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้อย่างแท้จริง
นายสมยศ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ ยังยืนยันว่า ทะเลไทยไม่เหมาะแก่การทำโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีคุณค่าเชิงการท่องเที่ยวอย่างหมู่เกาะเภตรา –ตะรุเตา สร้างชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวและเป็นเหมือนครัวขนาดใหญ่ของชุมชนโดยรอบ ซึ่งพึ่งพาอาศัยทะเลไทยมาแสนนาน
ด้านนายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินนักเคลื่อนไหวด้านสังคม กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในประเทศไทย ขณะนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และในนามกลุ่ม ศิลปินเองก็ไม่อาจนิ่งเฉย เพราะการโกงการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ก็มาจากการคิดและดำเนินการโครงการขนาดใหญ่เสมอ ท่าเรือที่รัฐบาลจะสร้างในภาคใต้ก็ต้องใช้งบประมาณประเทศมหาศาล ประชาชนย่อมมีสิทธิสงสัยและตั้งคำถามบางคนออกมาประท้วง บางคนออกมาเดินเท้า ฯลฯ และศิลปะก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกสังคมให้รับทราบว่า เราศิลปินคนไทยที่ไม่อยากเห็นคนไทยต้องสูญเสียทะเลไปกับโครงการใหญ่ ที่เสี่ยงต่อการเกิดขึ้นของขบวนการคอรัปชั่นของกลุ่มการเมือง จึงได้มาร่วมกับเครือข่ายปกป้องอุทยานฯ เพื่อทำกิจกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้พิจารณาอีไอเอแลนด์บริดจ์ฯ และมีมติให้ถอนออกไปก่อน โดยในระหว่างนี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม(สนข)ไปเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม แล้วค่อยเสนอกลับมาใหม่.