นักโทษก็คนเหมือนกัน...เสียงครอบครัวเหยื่อจลาจลคุกปัตตานีที่ไม่มีใครเหลียวแล
"ตั้งศพไว้ 8 คืนจนเผา ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรไหนมาดูดำดูดีเลย นอกจากผู้บัญชาการเรือนจำที่ให้เงินส่วนตัว กับ ส.ว.อนุศาสน์ สุวรรณมงคล น้ำใจหายไปไหนกันหมด เพราะเราเป็นชาวบ้าน คนธรรมดา เลยไม่มีความหมายใช่ไหม"
เป็นเสียงที่เต็มไปด้วยอัดอั้น ปนสะอื้นของ ชนมณี ฤทธิ์ชนนท์ มารดาของ เกียรติศักดิ์ จันทร์ดวง หนึ่งในสี่ผู้ต้องขังที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุจลาจลในเรือนจำกลางปัตตานี เมื่อวันที่ 15-16 ก.ค.59
บ้านของเธออยู่แถวถนนนาเกลือ ในตัวเมืองปัตตานีนี่เอง ไม่ไกลจากเรือนจำที่ลูกชายของเธอเอาชีวิตไปทิ้งไว้
เกียรติศักดิ์ หรือ เอียด เป็นหนุ่มวัย 23 ย่าง 24 ปีเท่านั้น เป็นลูกชายคนที่สองของเธอจากลูกทั้งหมด 4 คน เอียดมีครอบครัวตั้งแต่อายุ 19 กับ "แก้ม" ศรัณยา ปิติ ภรรยาที่อายุเท่ากัน มีลูกชายด้วยกัน 1 คน วัย 4 ขวบครึ่ง
ชนมณี เล่าว่า เอียดถูกจับในคดียาเสพติด ถูกคุมขังในเรือนจำกลางปัตตานีมา 2 ปีกว่า เดือน ส.ค.นี้ก็จะพ้นโทษแล้ว แต่มาเกิดเหตุร้ายเสียก่อน
"เขาจะพ้นโทษอยู่แล้ว เป็นนักโทษชั้นดี ช่วยเหลือผู้คุม ก่อนหน้านั้นไปเยี่ยมเขาบ่อย แต่ 2 เดือนหลังไม่ค่อยสบาย แฟนเขาก็ไปเยี่ยมตลอด ตอนเกิดเรื่อง (วันศุกร์ที่ 15 ก.ค.) ฉันอยู่ในงานบวช หลานมาบอกก็เป็นลมในงาน วันเสาร์ (16 ก.คง) ไปขอรับศพ ทำเรื่องขอรับศพที่เรือนจำ เขาเอาศพออกมาตอนเย็นวันเสาร์ เราได้ดูวันอาทิตย์ตอนสายๆ สองศพที่ถูกเผาอยู่ในโลงแอร์โลงเดียวกันแต่แยกห่อ เห็นศพแล้วสงสารลูกมาก ฆ่าเขาตายแล้วยังใจร้ายเผาเขาอีก"
จากปากคำของ ชนมณี ทำให้ทราบว่ารายงานเบื้องต้นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ขณะเกิดเหตุที่ระบุว่าผู้เสียชีวิต 2 รายแรกถูกผู้ต้องขังก่อจลาจลรุมทำร้าย และโยนร่างเข้ากองไฟ คือ เกียรติศักดิ์ กับเพื่อนนักโทษอีกคนหนึ่ง ชื่อ เสริม จันทร์สุนทร นั้นเป็นความจริง
ทั้งคู่เป็นนักโทษชั้นดี ทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์...
"ติดใจเรื่องที่ผู้ต้องขังคนอื่นบอกว่าลูกเข้าไปช่วยผู้คุมที่ถูกผู้ต้องขังจับอยู่ที่ประตู 4 เขาเห็นผู้คุมถูกตีจึงเข้าไปช่วย จากนั้นคนอื่นก็เข้ามารุมทำร้าย จับมาแทง เชือดคอ แล้วลากลงมาเผา มันโหดร้ายมากที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน" ชนมณี เล่าอย่างเจ็บปวด
เมื่อรับศพลูกชายมาเพื่อบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางพุทธศาสนาที่สมาคมโกวิทยา ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เธอจำเป็นต้องไปกู้ยืมเงินมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำพิธีให้เสร็จสิ้น หนำซ้ำยังหาวันเผาไม่ได้ เพราะต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากศพ และจัดการเอกสารการเสียชีวิตเองทุกอย่างจนเสร็จ โดยไม่มีผู้รับผิดชอบหรือใครมาดูแลหรือให้กำลังใจ
"ฉันต้องกู้เงินมาเพื่อจัดงานศพลูก ตอนนี้ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้ ช่วงที่ตั้งสวดศพมีผู้บัญชาการเรือนจำปัตตานี และ ส.ว.อนุศาสน์ ที่มีน้ำใจมาช่วยเหลือ ส่วนหน่วยงานอื่นไม่มีมาเลย หน่วยงานที่ดูแลเรื่องเยียวยาบอกว่าจะได้รับเงินเยียวยา 1 แสนบาท แต่ต้องรอ เพราะเงินในกองคลังหมดแล้ว และต้องรอผลสอบสวนด้วยว่าลูกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจลาจลครั้งนี้"
"เรื่องเกิดไปแล้ว คนตายไปแล้ว หลังจากนี้คือชีวิตของคนที่เหลือ แม่ เมีย และลูก เขาเป็นนักโทษก็จริง แต่การต้องไปตายในพื้นที่จำกัดอย่างนั้นมันไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ น่าจะดูแลผลกระทบทางจิตใจกันให้มากกว่านี้" ชนมณี กล่าว
ความรู้สึกน้อยใจที่ไม่มีใครเหลียวแลนี้ ไม่ได้มีเฉพาะแม่และภรรยาของเกียรติศักดิ์ หากแต่ญาติๆ และเพื่อนบ้านก็มีความรู้สึกเดียวกัน จนเกิดคำถามว่าเพราะความเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ใช่ไหม จึงไม่มีใครเหลียวแล
"ฉันว่ามันแย่มากนะ เขาตายอย่างทารุณแล้ว น้ำใจยังหายไปหมดอีก" เพื่อนบ้านรายหนึ่งบอก
"ที่ออกมาพูดและเรียกร้องเพื่ออยากให้เป็นต้นแบบให้กรณีอื่นได้ดู จริงๆ การได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นสิทธิ์ของคนทุกคน นักโทษก็คือคนเช่นกัน อยากให้สังคมรับรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วมีทางออกแบบไหน เยียวยาความรู้สึกของคนที่เหลืออย่างไร ไม่มีใครคิดว่านักโทษจะก่อจลาจล และไม่มีใครอยากให้เกิด จะมีการป้องกันดูแลคนที่สูญเสียอย่างไร มันต้องคิดกันได้แล้ว อย่าต้องรอให้เกิดซ้ำอีก"
เพื่อนบ้านอีกรายตั้งข้อสังเกตว่า หากเอาศพที่ไม่ได้ทำพิธีทางศาสนาในเวลาสิบกว่าปีของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มากองรวมกัน คงเป็นภูเขาย่อมๆ ลูกหนึ่ง เมื่อคนธรรมดาๆ ตาย รัฐดูแลแค่ไหน ไม่ใช่แค่เงินเยียวยาแล้วจบ แล้วคนที่เหลืออยู่จะทำอย่างไร โดยเฉพาะการช่วยเหลือที่มีความถาวร อาชีพสำคัญกว่าเงิน สร้างให้เป็นรูปธรรม ช่วยให้จริง ชีวิตคนไม่ใช่ของเล่น
เหตุการณ์จลาจลที่เรือนจำกลางปัตตานีเที่ยวนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากครอบครัวผู้สูญเสีย เพราะมีคนเสียชีวิตถึง 4 คน โดย 3 คนแรกตายขณะเกิดเหตุ คือ สุอนันท์ ป้องเศร้า อดีตทหาร ถูกแทง เสริม จันทร์สุนทร ถูกเผาร่าง และเกียรติศักดิ์ถูกเผาร่างเช่นกัน โดยทั้ง 3 คนเป็นนักโทษชั้นดี เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์
ต่อมาอีกเพียง 1-2 วัน นักโทษชาย อัซวีรา ดอเลาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองแกนนำที่กรมราชทัณฑ์เชื่อว่าเป็นผู้ปลุกระดมให้เกิดการจลาจลที่เรือนจำกลางปัตตานี ก็เสียชีวิตไปอีกคน
ทั้งหมดไม่มีรายงานการสอบสวนอย่างเป็นทางการจากกรมราชทัณฑ์ มีเพียงรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่รายงานหน่วยเหนือว่า สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดจลาจลนั้น ผู้ก่อการน่าจะต้องการสังหารผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ที่เข้มงวดกับพฤติกรรมของผู้ต้องขังมากกว่า ส่วนข้อเรียกร้องต่างๆ เป็นเพียงผลพลอยได้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวขององค์กรที่เคยเสียงดังในเรื่องอื่นๆ ที่เกิดในพื้นที่ ปรากฏว่ากรณีนี้กลับเงียบหาย มีเพียงการพยายามปกป้องผู้ต้องขังคดีความมั่นคงบางรายที่ถูกระบุในช่วงต้นว่าเป็นแกนนำก่อการจลาจลเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปากคำจากเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่เข้าไปร่วมเจรจากับนักโทษขณะเกิดเหตุ ก็ยืนยันตรงกับรายงานของฝ่ายความมั่นคงว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่เมื่อปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะหน่วยเหนือของกรมราชทัณฑ์ออกมาแถลงอีกแบบหนึ่ง ทำให้หน่วยอื่นๆ จำต้องเงียบ
แต่ความจริงหลังกำแพงสูงได้กลายเป็นคำถามในหัวใจของครอบครัวผู้สูญเสีย...
ศรัณยา ปิติ หรือ "แก้ม" ภรรยาของเอียด ซึ่งหลังจากนี้ต้องเลี้ยงลูกวัย 4 ขวบครึ่งตามลำพัง บอกว่า เอียดเป็นคนนิสัยดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น เวลาเอาของฝากไปเยี่ยมก็จะแจกเพื่อนๆ ในเรือนจำ คิดกันว่าเมื่อเอียดพ้นโทษจะตั้งต้นทำมาหากิน แต่วันนี้ก็ต้องคิดใหม่แล้ว
"แก้มทำงานเป็นพิธีกรตามงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ บางทีต้องเดินทางไปทำงานเป็นอาทิตย์หรือหลายๆ วัน แต่เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นก็ต้องกลับมาดูแลลูกและหางานประจำทำในปัตตานี แต่ตอนนี้ยังไม่มีงาน"
ขณะที่ ชนมณี บอกทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เรียกร้องนี้ทำเพื่อทุกครอบครัวที่สูญเสียในเหตุการณ์ เพราะควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง...
และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ใครๆ มักเรียกร้องกันบ้าง...เท่านั้นเอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชนมณี แม่ของเกียรติศักดิ์ กับลูกในงานศพของลูกชาย
2-3 ชนมณี กับจดหมายเรียกร้องความเป็นธรรม
4 ภาพของเกียรติศักดิ์ที่ตั้งในงานสวดศพ
5 แก้ม ภรรยาของเกียรติศักดิ์
อ่านประกอบ :
1 เปิดรายงานจลาจลคุกปัตตานี ฝ่ายมั่นคงชี้จงใจฆ่า 3 นักโทษผู้ช่วยราชทัณฑ์
2 จากคุกนราฯ-สงขลาถึงเรือนจำกลางปัตตานี หลายคำถามที่ยังรอคำตอบ
3 ปลัดยธ.แฉ 2 หัวโจกยุจลาจล ไม่เกี่ยวคดีความมั่นคง วอด 4 ล้าน