นักกม.แนะเลี่ยงนำเด็กทำผิดขึ้นสู่ศาล เน้นใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แทน
คณะนิติศาสตร์ มธ. ถกแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำความผิดทางอาญาซ้ำ ชี้นำขึ้นสู่ศาลไม่ใช่ทางออกของปัญหา แนะใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แทน เพื่อให้แก้ไขและปรับปรุงตัว
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “ผิดซ้ำหรือกลับตัว อนาคตเด็กไทยในกระบวนการยุติธรรม” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อต้องการศึกษาปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน รวมถึงการกระทำผิดซ้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมได้ฉุกคิดและนำไปช่วยเหลือเด็กและเยาวชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในบรรดาการกระทำผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีอยู่จำนวนมากที่มาจากเด็กและเยาวชน ซึ่งในบางครั้งการกระทำไม่ได้แตกต่างจากการกระทำผิดโดยผู้ใหญ่
“การกระทำผิดเด็กและเยาวชนมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และครอบครัว แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเด็นนี้มีความสำคัญขึ้นมา เพราะมีเด็กที่เคยกระทำผิดมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำขึ้นมาอีก โดยมีสาเหตุมาจากการตีตราจากสังคมและครอบครัว จึงทำให้เด็กเหล่านั้นยากที่จะกลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งถือเป็นสาเหตุใหญ่”
ด้านรองศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เด็กที่กระทำความผิดไม่ได้เกิดมาจากจิตใจที่ชั่วร้ายโดยกำเนิด แต่มากจากการที่เด็กขาดวุฒิภาวะจึงนำไปสู่การกระทำที่ฝ่าฝืนเกณฑ์ของสังคม ซึ่งเด็กที่พบว่ามีการกระทำความผิดจะอยู่ในช่วงอายุ 15-18 ปี ถือเป็นช่วงรอยต่อที่เรียกว่า วัยรุ่น โดยร่างกายของเด็กถือเป็นผู้ใหญ่ แต่โดยวุฒิภาวะนั้นยังไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าระบบการควบคุมสังคมในครอบครัวที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดไม่ดีพอ เด็กเหล่านี้จะสามารถกระทำความผิดอย่างผู้ใหญ่ได้
“วิวัฒนาการและความเจริญของสังคม ทำให้เด็กเข้าถึงบางสิ่งบางอย่างได้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน โดนเฉพาะสังคมอินเทอร์เน็ต ทำให้การรับรู้ของเด็กมีมากขึ้น แต่กลับขาดคนที่คอยชี้แนะว่า สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะสังคมเริ่มกลายเป็นสังคมเดี่ยว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เด็กเริ่มมีความใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือครอบครัวน้อยลงไปทุกวัน แต่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแทน นี่ถือเป็นช่องว่างที่ทำให้กลไกในการควบคุมสังคมเกิดความอ่อนแอ และมีอยู่ในทุกสังคมบนโลกนี้ เชื่อว่า สังคมไทยก็ไม่ได้มีน้อยไปกว่าที่อื่น”
รศ.ณรงค์ กล่าวถึงรูปแบบของการกระทำผิดของเด็กที่พบมีอยู่ 5 รูปแบบ ดังนี้ 1.การใช้กำลัง 2.การพนันออนไลน์ 3.ยาเสพติด 4.ลักทรัพย์ 5.การกระทำโดยประมาท เช่น อุบัติเหตุ เป็นต้น
ส่วนการแก้ปัญหา ถ้าหากเด็กกระทำความผิดไปแล้วจะแก้อย่างไรเพื่อไม่ให้เด็กกระทำความผิดซ้ำอีกน รศ.ณรงค์ กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับเด็กบอกว่า เด็กที่กระทำความผิดโดยหลักการแล้วจะไม่นำตัวเด็กเข้าคุก แต่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับเด็กแทน เช่น นำเด็กที่กระทำความผิดมาพุดคุยทำความเข้าใจ ก็ถือเป็นการพิจารณาความผิดเด็กแล้ว เราถือว่าเด็กกระทำความผิดไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น สิ่งที่เด็กเหล่านี้ควรได้รับคือ คำแนะนำเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงตัว และสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือระบบทางสังคมจะต้องทำคือการอบรม
"เด็กที่กระทำความผิดถือเป็นเด็กที่มีตราบาปและอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กได้ ดังนั้น จึงเกิดความพยายามในการสร้างกลไกที่จะหลีกเลี่ยงการนำเด็กที่กระทำความผิดขึ้นสู่ศาลหรือทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วมาเน้นที่กระบวนการฟื้นฟู อบรมแทน เพื่อให้เด็กรู้ตังเองว่าจะต้องปรับปรุงตัวอย่างไร กลไกที่ว่ามานี้ให้หลักประกันว่า ประเทศของเราก้าวหน้าที่สุด"
ด้านนางชารียา เด่นนินทาน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวถึงการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติงานไม่เปลี่ยนความคิด ไม่เข้าใจโลกของเด็กในยุคปัจจุบันนี้ จะไม่มีวันเข้าถึงเลย และอย่าคาดหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะหมดไป ไม่มีวันหมด
สำหรับสถิติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนทางอาญามี 5 ฐานความผิด ดังนี้ 1.ยาเสพติด ทั่วประเทศมี 16,453 คดี 2.จราจร 4,053 เรื่อง 3.ลักทรัพย์ 4,600 คดี 4.อาวุธปืน 3,697 คดี 5.ลหุโทษ 1,473 และอื่นๆ 12,700 คดี อย่าลืมว่า เด็กและเยาวชนที่ทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกข้อหาจะไม่เหมือนกับคดีของผู้ใหญ่ โดยจะครอบคลุมทุกคดีเพื่อทำการอบรม แก้ไข ฟื้นฟูเด็ก โดยกระบวนการตามอนุสัญญาสิทธิ เด็กในคดีอาญา คือ การผันเด็กออกจากกระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุดในคดีที่โทษไม่เกิน 5 ปี
“ในคดีอาญาจะมีกฎหมายใหม่ออกมา โดยจะทำแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู ซึ่งการทำงานเปลี่ยนไปจากกฎหมายในปี 2534 มาก เพราะกฎหมายในปี 2534 เป็นกฎหมายที่ดีใช้ง่ายและเหมาะสมกับภาวะของประเทศไทย แต่มีข้อเสียคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เก่งในการเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญาทุกชนิด โดยมีภาระหน้าที่คือการสร้างกฎหมายให้เข้ากับอนุสัญญา ซึ่งลืมนึกไปว่าเด็กไทยกับเด็กต่างชาติไม่เหมือนกัน”
ขณะที่ นายพยนต์ สินธุนาวา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการคุมประพฤติ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นปลายทางของเหตุ การปฏิบัติต่อเด็กที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและลงทุนมากแต่ไม่ได้ผล จุดอ่อนไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายของเด็กในปี 2534 ที่มีความอ่อนแอ แต่อยู่ที่กระบวนการไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์ได้
“การร่างกฎหมายใหม่มีข้อดีคือมีกฎหมาย แต่ข้อเสียพอมีแล้วกฎหมายกลับขัดกัน ดังนั้น ควรจะไปปรับปรุงกฎหมายเดิมให้มันดีกว่า สำหรับกระบวนการในการดำเนินการเกี่ยวกับเด็กที่กระทำผิดในปัจจุบันนี้มีแนวทางและปรัชญาที่ชัดเจน แต่วิธีการปฏิบัติเป็นวิธีการแบบเหมาเข่ง เพราะเด็กที่เข้ามามีประมาณปีละ 20,000 คน แต่เจ้าหน้าที่มีจำนวนไม่เพียงพอ”
นายพยนต์ กล่าวอีกว่า เรามีจะวิธีคิดในเรื่องของกระบวนการฟื้นฟูอยู่ตลอดเวลา ด้วยจำนวนเด็กที่มากกระบวนการต่างๆไม่สามารถที่จะทำเป็นรายบุคคลได้ทุกคดี ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ สำหรับโปรแกรมในการฟื้นฟูเด็กมีดังนี้ 1 โปรแกรมการจัดการความคิด 2.โปรแกรมเกี่ยวกับครอบครัว 3.โปรแกรมการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง 4.โปรแกรมธรรมะ 5.โปรแกรมยาเสพติด 6.โปรแกรมการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมมาทั้งหมดนี้เราจะพิจารณาดูว่า เด็กคนไหนควรจะเข้าโปรแกรมใดเพื่อเป็นการแก้ไขเด็กให้ตรงจุดที่สุด
“เด็กๆทุกคนในประเทศไทยคือทายาทของสังคม เป็นเจ้าของประเทศ เด็กทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่ระบบของประเทศไม่ได้ออกแบบมาให้คิดแบบนี้ แต่เป็นลักษณะของตัวใครตัวมัน ครอบครัวใครครอบครัวมัน แต่สิ่งสำคัญคือการเลี้ยงเด็กไม่มีอยู่ในตำราที่วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ทุกครอบครัวมีความแตกต่าง และมีปัญหาที่แตกต่างกันไปหมดแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างคือความเข้าใจ”