“ยิ่งลักษณ์” ล้วงลูก สปสช. ขีดเส้นเดินตามนโยบาย-ทบทวนงบรายหัว
ประชุมบอร์ด สปสช.เครียดหนัก “นายกฯยิ่งลักษณ์” ยันเดินหน้าเก็บ 30บาทแต่รอจังหวะ อาจปรับงบรักษารายหัว 2,700 บ. ประธานสพศท. ยื่นปลดหมอวิชัย และ กก.สายเอ็นจีโอ
วันที่ 9 ม.ค.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมมอบนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)โดยมีหลายกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นหนังสือเรียกร้อง อาทิ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเก็บ 30 บาทรักษาโรค-พัฒนาระบบสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 กองทุน-เร่งผลักดันรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในการประชุมว่า รัฐบาลกำหนดให้การพัฒนาคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพเป็นโยบายเร่งด่วน โดยเฉพาะการสานต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดีกว่าเดิม ทำให้คนไทยแข็งแรงเจ็บป่วยน้อยลง พัฒนาประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลและขั้นตอนการให้บริการ นอกจากนี้สิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลของประชาชนต้องเสมอภาคเท่าเทียมทั้ง 3 ระบบ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ
“ส่วนระบบไหนจะไปเพิ่มสิทธิพิเศษตามแต่ละระบบก็จัดการกันเอง แต่สิทธิพื้นฐานต้องเหมือนกัน โดยเร็วๆนี้จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 กองทุน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละกองทุนแตกต่างกันอย่างไร และจะพัฒนาอย่างใดให้เท่าเทียม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นต้องวางแผนลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ส่งเสริมยาไทยแทนการนำเข้ายานอก ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดังนั้น บอร์ด สปสช.ต้องหารือร่วมกับ สสส.เพื่อเดินหน้าระบบส่งเสริมสุขภาพลดการเจ็บป่วย และฝากเรื่องการบำบัดเยียวยาผู้ติดยาเสพติด
“นอกจากนี้จำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว ซึ่งขณะนี้ค่าใช้จ่ายการรักษาต่อหัวเพิ่มขึ้น อาจมีการเพิ่มรายหัวในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยแยกเป็นกลุ่มโรคที่แตกต่างกันไป” นส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ด้าน นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมว่านายกรัฐมนตรีห่วงใยการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต ให้มีมาตรฐานและคุณภาพบริการดีขึ้นและเท่าเทียมทุกกลุ่ม ภายใต้งบประมาณและสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้นต้องการทราบว่างบประมาณ 2,700 บาทต่อหัวครอบคลุมการรักษาเรื่องใดบ้าง โดยให้เน้นสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มการเกิดโรคจากสภาพแวดล้อมและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต้องดูแลสุขภาพระยะยาว 3–5 ปี ข้างหน้าให้ครอบคลุมทุกโรค
สำหรับประเด็นเก็บเงิน 30 บาท นายกรัฐมนตรีให้บอร์ด สปสช.พิจารณาให้รอบคอบว่าเมื่อเก็บแล้วมาตรฐานการดูแลสุขภาพประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร รวมทั้งให้วางแผนระยะต่อไปว่าจะใช้งบประมาณดูแลประชาชนต่อหัวเท่าไร อาจมีการลดต้นทุน โดยพัฒนาไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กร การลดขั้นตอนและเพิ่มมาตรฐานบริการ และตรวจสอบประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมถกเถียงเรื่องการเก็บ 30 บาท ฝ่ายหนึ่งคือแพทยสภา-รพ.เอกชน-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช.เห็นด้วยกับการเรียกเก็บ ด้วยเหตุผลช่วยลดการรักษาโดยไม่จำเป็น ลดความแออัด ส่วนภาคประชาชนนำโดยนายนิมิต เทียนอุดม กรรมการ สปสช.ไม่เห็นด้วยกับการเก็บ ให้เหตุผลว่าเบียดเบียนประชาชน ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หากจะรีแบรนด์ก็ควรให้ทุกระบบเป็นมาตรฐานเดียวกันจริงๆ ซึ่งสุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกให้บอร์ด สปสช.ไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยจะไม่เก็บตอนนี้ ต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิมก่อน
วันเดียวกัน พ.ญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์เเพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ให้ปลดคณะกรรมการ สปสช. 5 คน ได้แก่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ตัวแทนด้านผู้สูงอายุ นส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนด้านเกษตรกร นางสุนทรี เซงกี่ ตัวแทนด้านผู้ใช้แรงงาน นายนิมิตร เทียนอุดม ตัวแทนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี และนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ตัวแทนด้านคนพิการ ฐานบกพร่องในหน้าที่โดยไม่เข้าร่วมการประชุมถึง 3 ครั้ง .