แพทย์เตือน! “อย่าเชื่อข่าวสารสุขภาพโลกโซเชียลอันตราย! แฝงธุรกิจ ไม่มีที่มา
เผยข้อมูลสุขภาพบนโลกออนไลน์ที่ผิดส่วนใหญ่อวดอ้างสรรพคุณสารสกัดทางการเกษตรและยาลดอ้วน แพทย์เตือน! “อย่าเชื่อข่าวสารสุขภาพโลกโซเชียลอันตราย! แฝงธุรกิจ ไม่มีที่มา อ้างอิงวิทยาศาสตร์เสมือน โน้มน้าวให้เชื่อ ไม่เปิดเผยตัวตน”
นพ. อดุลย์ชัย แสงเสริฐ ผู้รับผิดชอบโครงการแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว (SOS Specialist) กล่าวว่า โลกยุคดิจิตอลที่โซเชียลเน็ตเวิร์คมีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทุกคนสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นวิกฤตข้อมูลข่าวสารล้น ขาดการกลั่นกรองนำมาซึ่งความเข้าใจผิด โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์อย่างผิดๆ และนำไปใช้หรือปฏิบัติตาม อาจทำให้เกิดความเสี่ยงถึงชีวิตได้
นพ. อดุลย์ชัย กล่าวถึงโครงการแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว โดยการรวมตัวแพทย์จิตอาสาให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โดยการสนับสนุนของสสส.เพื่อช่วยลดการรับข้อมูลทางการแพทย์และความเชื่อที่ผิดแต่มักแชร์ต่อกัน โดยสร้างชุดข้อมูลความรู้โรคต่างๆ ให้เข้าใจง่ายผ่านอนิเมชั่น และอินโฟกราฟิก ให้ข่าวสารกิจกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ www.sosspecialist.com และ Facebook “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” ที่สำคัญมีการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับโรคต่างๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโดยตรง 16 ห้องตรวจ14 สาขาวิชา ซึ่งในรอบ 1 ปี มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม จากทั้งหมด 10,273 คน
"ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช"
นพ.อดุลย์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่มาปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางบาทเดียวแบ่งเป็น 1.กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ 2. กลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย 3.กลุ่มที่ไม่มีเงินไปหาแพทย์ 4.กลุ่มที่ปรึกษาให้กับญาติ เพื่อน หรือคนรอบข้าง 5.กลุ่มที่มีความวิตกกังวลสูง และ 6. กลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งการให้คำแนะนำปรึกษาลักษณะนี้ทำให้ประชาชนที่ห่างไกลได้เข้าถึงแพทย์เฉพาะทางในกรุงเทพฯสามารถรักษาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
“ที่ผ่านมาข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ที่มักแชร์กันบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลสรรพคุณทางการเกษตร เช่น สารสกัดจากทุเรียนเทศช่วยรักษามะเร็งได้หลายชนิด หมามุ่ยอินเดียกินแล้วลดน้ำหนัก แต่ก็มีเด็กที่กินแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ระบุถึงงานวิจัยรองรับ ปริมาณของสารสกัดที่เหมาะสม และวิธีการสกัด จากการตรวจสอบต้นทางก็พบว่ามาจากแหล่งเพจสินค้าทางการเกษตร และตามด้วยข้อมูลยาลดอ้วน แต่ผู้บริโภคจะรู้โดยตรงว่าเป็นการขายของ ดังนั้น 5 ข้อพึงระวังจากการรับข่าวสารสุขภาพผ่านโซเชียลมีเดีย คือ 1.ข่าวสารที่แอบแฝงการค้า หรือธุรกิจสุขภาพ 2. ข่าวสารที่ไม่มีที่มาที่ไป เพียงแต่บอกว่า “เค้า” บอกมา 3.ข่าวสารที่อ้างอิงวิทยาศาสตร์เสมือน หรือข่าวที่เสมือนวิทยาศาสตร์ 4.ข่าวสารที่เร่งเร้าอารมณ์หรือความรู้สึกโน้มน้าวให้เชื่อ และ 5. ข่าวสารที่มาจากหมอออนไลน์ที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ดังนั้น ก่อนจะเชื่อควรดูที่มาและพิจารณาข้อเท็จจริงให้ถี่ถ้วน”นพ.อดุลย์ชัย กล่าว
ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนฯ คนที่ 2 กล่าวถึงทีมแพทย์ที่เข้าร่วมตอบคำถามในโครงการเป็นแพทย์จิตอาสา มีจิตสาธารณะทำประโยชน์โดยการให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องผ่านสื่อออนไลน์แก่ประชาชน นับเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นโครงการที่สามารถก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนด้านการสร้างเสริมสุขภาวะได้ โดยสามารถลดภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาล ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล และลดภาระงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศ