ภาค ปชช. ยื่น “ยิ่งลักษณ์” ทบทวน30บ.-เร่ง พ.ร.บ.ผู้เสียหายฯ
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นทบทวนเก็บ 30 บาทเพื่อรีแบรนด์-ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน-เร่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์
วันที่ 9 ม.ค. 55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานระบบหลักสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ก่อนการประชุม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 50 คน เข้ายื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดย น.ส.กชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มฯ กล่าวว่าสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ ซึ่งได้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการดูแลรักษาที่จำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่ควรยกเลิกการเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันแก่ประชาชน โดยหันมาใช้นโยบายรักษาฟรีดังเดิม เพราะประชาชนจ่ายภาษีให้ประเทศแล้ว
“ผู้ป่วยทุกคนต้องการรับบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม ตามกฏหมาย โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงหวังว่าภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทย คงไม่เห็นภาพโรงพยาบาลให้บริการแก่ผู้ป่วยมีเงินดีกว่าผู้ป่วยยากไร้”
ขณะที่การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหาร สปสช.นั้น น.ส.กชนุช กล่าวว่าบอร์ดชุดนี้มีการคัดเลือกไม่โปร่งใสโดยคัดสรรจากโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มนายทุน กลุ่มธุรกิจการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพ ทำให้องค์ประกอบการบริหารผิดเพี้ยน โดยการแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้านธุรกิจสุขภาพที่แฝงมากับบุคคล
“ถ้าบอร์ด สปสช.ส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจหรือภาคการเมืองมาก ทิศทางการกำหนดนโยบายจะเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง จนกระทบประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ” โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าว
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยภายหลังรับหนังสือว่าจะนำเรื่องหารือกับคณะกรรมการ รัฐมนตรี พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งยืนยันว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาพยาบาลในระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ข้อเสนอภาคประชาชนต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเก็บเงินสมทบ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพสามารถพัฒนาคุณภาพบริการได้โดยไม่ต้องเก็บ 30 บาท การย้อนเก็บเงินเป็นการถอยหลังและทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชาชน 2.ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้ระบบสุขภาพของประเทศเป็นมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนงบประมาณดูแลสุขภาพสำหรับผู้ประกันตน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมอย่างถ้วนหน้า
3.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเสนอ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย ลดการฟ้องร้อง เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเสมอภาคทุกระบบ และเพื่อพัฒนาระบบการป้องกันความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอีกขั้น ซึ่งดีกว่าขยายมาตรา 41 ภายใต้ระบบหลักประกัน เนื่องจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณตามความเสี่ยงการให้บริการแทนการจ่ายฝ่ายเดียวจากรัฐ
4.ขอให้ทำตามมติบอร์ด สปสช. กรณี นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อระบบหลักประกันสุขภาพ 5.ขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพให้เท่ากับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อหน่วยบริการและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 55 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้ออกแถลงการณ์ ใจความว่า กฎหมายที่กำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน คุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน ยังไม่บรรลุผล ปัจจุบันยังมีระบบการรักษาพยาบาลถึง 3 ระบบ คือ ข้าราชการ ผู้ประกันตนในประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคเดียวกับที่สนับสนุนสร้างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ยังไม่ปรากฏวิสัยทัศน์ไกลไปกว่า “เก็บเงิน 30 บาท” อีกครั้ง แต่การเก็บเงินที่จุดบริการไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคของคนที่ยังเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึงการรักษา การปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกับประกันสังคมสร้างภาพการรักษาที่แตกต่าง รวมหัวกันขึ้นค่ารักษาอย่างมีเลศนัย
การไม่ยอมหลอมรวมระบบประกันสุขภาพทั้งสามภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้มีการแสวงผลประโยชน์เกินควรของผู้ให้บริการ ตลอดจนไม่ยับยั้งการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาของคนต่างชาติ อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการบางส่วนสามารถแสวงผลประโยชน์เกินควรบนความลำบากในการเข้าถึงสิทธิอย่างเต็มเที่ของประชาชนส่วนใหญ่
“กลุ่มคนที่รักหลักประกันสุขภาพ” จึงขอปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการจับตามองการดำเนินนโยบายรัฐบาลที่สวนทางกับการพัฒนาระบบดังกล่าว โดยมองว่าการชูนโยบายกลับมาเก็บ 30 บาทอีกครั้ง เพียงเพื่อลบล้างพัฒนาการที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เพื่อรีแบรนด์อีกครั้ง เป็นการคิดที่ล้าหลัง และไม่รับผิดชอบต่อหลักการที่ถูกต้อง .