‘ประมนต์ -ดร.มานะ’ ยันร่างรธน.มีดีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริต
ปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันหวังประชาชนศึกษา ร่างรธน.ด้วยตัวเองก่อนลงประชามติ 7 สิงหาฯ ด้านดร.มานะ ชี้ร่างรธน.ฉบับนี้มีกว่า 50 มาตรา พูดถึงการคอร์รัปชัน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เฉพาะประเด็นที่พูดถึงการต่อต้านการทุจริต จากได้ศึกษาภาพรวมเราก็เห็นว่า มีหลายเรื่องที่เหมาะสม และเคยออกแถลงการณ์ไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริต
“ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ประชาชนควรจะศึกษาเพิ่มเติมและพิจารณาด้วยตนเอง”
ด้านดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งหมด 279 มาตรา มีอย่างน้อย 53 มาตรา ที่พูดถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน มีการกำหนดปัญหาคอร์รัปชันอย่างรอบด้าน และมีบทลงโทษอย่างชัดเจน เช่น การปราบการโกงของนักการเมือง การปราบการโกงในภาคราชการ โดยมีการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันด้วยกลไกของภาครัฐ และการป้องกันคอร์รัปชันด้วยพลังของประชาชน
สำหรับเนื้อหารัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันที่สำคัญๆ ดร.มานะ กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่การคัดกรองนักการเมืองหรือการถอดถอนหรือการให้สิ้นสภาพนักการเมืองที่เกี่ยวข้องการทุจริต อีกอย่างคือการลดแรงจูงใจของนักเมืองที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
“เราจะเห็นเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนก็ในเรื่องการทำงบประมาณ เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนในภาคราชการสิ่งที่แก้ไขชัดเจนก็คือการกำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำงานตามแนวทางจริยธรรม คุณธรรม มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเปิดเผย ผ่านระบบสารสนเทศหรือระบบไอที เมื่อเปิดเผยแล้วต้องเป็นวิธีการหรือในอยู่ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ ตรงนี้มีความชัดเจนมากขึ้น”
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวอีกว่า ในส่วนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในภาคราชการ มาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ ได้มีการระบุว่า จากนี้ถ้าจะมีการออกกฎหมายจะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาผลกระทบของกฎหมายเสียก่อน โดยจะต้องการทบทวนกฎหมายว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรที่สร้างภาระให้ประชาชน อะไรที่ล้าสมัยเกินไป ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นการปฏิรูประบบการให้บริการแกประชาชน รวมถึงการกำหนดสิทธิของชุมชนและสิทธิของประชาชนที่จะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิทธิที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐ และรัฐต้องให้การสนับสนุนการรวมตัวของประชาชน ต้องปกป้องประชาชน
“ถึงวันนี้ถ้ากฏหมายฉบับไหนหรือรัฐธรรมนูญจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์คอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสักนิดหนึ่งเราก็ดีใจแล้ว” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าว