ปาฐกถา“ขวานฟ้า:การเมืองแห่งการกำหนดชื่อ” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ในแง่การเขียนพจนานุกรม ก็คือการพยายามตรึงคำไว้กับความหมายที่ผู้เขียนพจนานุกรมกำหนดขึ้น เพราะชื่อว่าคำเหล่านี้ทุกหน้าที่กำหนดความคิดของคน และดังนั้นจึงคุมคนได้ เป็นที่มาของ "คุมคำ>คุมความหมาย> คุมความคิด> คุมคน" ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมวิชาการ 100 ปี ชาติกาล ศาตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ปฎิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดยในช่วงหนึ่งของการกล่าวปาฐกถา โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “ขวานฟ้า:การเมืองแห่งการกำหนดชื่อ”
โดยช่วงหนึ่งของปาฐกถา ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้พูดถึง Ashis Nandy นักวิชาการอินเดียคนสำคัญ ที่มีผลงานทางวิชาการมากมาย และถือกันว่า เป็นนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญของอินเดีย ขนาดที่ปัจจุบันมีผู้เขียนหนังสือน่าสนใจเกี่ยวกับ ความคิดของเขาหลายเล่ม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนได้มีโอกาสเข้าพบปัญญาชนจากอินเดียคนนี้ และถาม Nandy ว่า เวลานี้กำลังทำอะไรอยู่ Nandy ตอบว่า “ กำลังเขียนพจนานุกรมอยู่” คำตอบแสนประหลาดค้างคาอยู่ในใจจนหลายปีต่อมา เมื่อมีโอกาสเดินทางไปประชุมวิชาการที่ บอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ถือโอกาสไปเยี่ยม Gene Sharp ปัญญาชนผู้บุกเบิกงานวิชาการด้านการไม่ใช้ความรุนแรงของโลก
เมื่อได้คุยหลังอาหาร ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ถามมิตรอาวุโส ซึ่งขณะนั้นคือปี 2011 ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เขาตอบยิ้มๆ กลับมาว่า กำลังเขียนพจนานุกรมอยู่ คำตอบนี้ทำให้ นิ่งไปครู่หนึ่ง จากนั้นก็กุลีกุจอช่วยเขาตั้งชื่อหนังสือพจนานุกรมเล่มใหม่
“ เหตุใดนักวิชาการลือชื่อเหล่านี้ จึงหันมาผลิต “พจนานุกรม” กล่าวอีกอย่างหนึ่งพจนานุกรมอันเป็นที่บรรจุคำสำคัญอย่างไร?” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งคำถาม และหยิบยกมิตรสหายบางคนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อพวกเขาออกเดินทางไปในโลกที่พูดภาษาผิดแผกจากภาษาพ่อและแม่ แต่เขาก็กล้าไปในที่ที่พูดกันคนละภาษา เช่นนั้นโดยไม่มีอะไรติดตัวไปเลย นอกจากเงินเล็กน้อยและพจนานุกรมอีกหนึ่งเล่ม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อ Jhumbha Lahiri นักเขียนอินเดียนามอุโฆษที่เขียนนิยายลือเลื่องหลายเล่ม ตอนอายุได้ 20 ปี เธอเล่าว่าเธอไปชมพิพิธภัณฑ์ Uffizi ที่นครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี พี่สาวเธอบังเอิญทำหมวกหายไป เธอพยายามสื่อสารกับยามชาวอิตาเลียนให้ช่วยหาหมวกพี่สาว โดยอาศัยความช่วยเหลือของพจนานุกรม อังกฤษ-อิตาเลียนเล่มเดียวที่ติดตัวเธออยู่
"เมื่อยามช่วยเธอหาหมวกจนพบ เธอรู้สึกว่า ได้ก้าวเดินเข้าไปในโลกที่ไม่เคยพานพบและประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพจนานุกรมเป็นอย่างยิ่ง เธอเล่าว่า “ (พจนานุกรม) นำทางฉัน ปกป้องฉัน อธิบายทุกสิ่งอย่าง มันกลายเป็นผู้ปกครองทางสิทธิอำนาจ ที่ฉันขาดไม่ได้ ฉันเห็นพจนานุกรมเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยความลี้ลับและวิวรณ์"
ถ้าจะถามว่า เหตุใดผู้คนเหล่านี้จึงอุทิศแรง “เขียน” พจนานุกรมเช่นนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ มองว่า สำหรับพวกเขาโลกที่เผชิญอยู่ในศตวรรษที่ 21 มิใช่โลกเก่าที่กำหนดกรอบการต่อสู้แห่งชีวิตไว้กับการเป็นเจ้าอาณานิคมกับผู้ถูกยึกครอง เผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่ากดบังคับเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า ชนชั้นสูงกว่าที่กดขี่บังคับชนชั้นล่าง หรือกระทั่งระหว่างฝ่ายที่พัฒนาแล้วนำทางให้ผู้ด้อยพัฒนาในโลก แต่เป็นการเผชิญกันระหว่างชุดแห่งความขัดแย้งที่คลุมเครือ ระหว่างที่พูดภาษากฎหมายและภาษาสิทธิมนุษยชนที่อาศัยภาษาเหล่านี้มาแสดงความรู้สึกอาทรต่อผู้คนในโลก กับฝ่ายที่ไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะยอมอยู่ใต้ชุดภาษาดังกล่าว ผลประการหนึ่งคือสิทธิในการลงโทษและฆ่าฟันจึงมาจากการระบุหรือกำหนดว่ารัฐกลายเป็นรัฐผู้ร้ายนอกกฎหมาย หรือที่นักการเมืองอเมริกันและยุโรปบางคนเรียกว่า “ประชาคมนานาชาติ”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า หากจะตอบให้กระชับรัดกุมกว่านั้น คงต้องอาศัยวิธีตอบของนักรัฐศาสตร์ไทยอย่างศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เขาอธิบายการเปลี่ยนคำที่สำคัญในทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างคำว่า “กรรมกร” เป็น “แรงงาน” ว่าเป็นวิธีสะกด “ปีศาจวาทกรรม” ที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย(lexica non grata) “โดยจับลงหม้อปิดยันต์ถ่วงน้ำแบบไทยๆ ตามสูตรสำเร็จ : คุมคำ > คุมความหมาย > คุมความคิด > คุมคน”
ในแง่การเขียนพจนานุกรมก็คือการพยายามตรึงคำไว้กับความหมายที่ผู้เขียน พจนานุกรมกำหนดขึ้น เพราะเชื่อว่า คำเหล่านี้ทำหน้าที่กำหนดความคิดของคน และดังนั้นจึง “คุมคน” ได้
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มีอีกสองประเด็นที่น่าสนใจ คือถ้า “คำ” สำคัญเช่นนี้ การที่ “คำ” ใดปรากฎหรือไม่ปรากฎในพจนานุกรมก็แสดงฐานะอำนาจของคำนั้นอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะคำที่ไม่ปรากฎในพจนานุกรมอาจด้วยกว่าคำที่ปรากฎในแง่ความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีทางภาษานั้นๆ
อีกประการคือ การควบคุมความคิดของคนผ่านคำไม่เหมือนการควบคุมคนด้วยกฎหมายหรือด้วยอาวุธ เพราะทั้งสองสิ่งนั้นเห็นได้ชัดและสัมพันธ์กัน (หมายความว่า กฎหมายอยู่ได้ด้วยการมีบทลงโทษเป็นเงาครอบอยู่ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งมีอาวุธเป็นเครื่องมือสำคัญ) แต่การคุมคนด้วย “คำ” มองไม่เห็นได้ง่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะกลายเป็น สิ่งที่ผู้ใช้ยอมรับโดยไม่รู้ตัวผ่านบริบทการใช้ “คำ” ดังกล่าวที่อาจแพร่หลายจนกลายเป็นสิ่งปรกติไม่ต้องตั้งคำถาม
“ปาฐกถาครั้งนี้ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “คำ” หากแต่สนใจเรื่อง “ชื่อ” แม้ชื่อจะเป็นคำแต่ ถ้าชื่อไม่เหมือนกับคำเสียทีเดียว ชื่อทางฤทธิ์อำนาจ “คุมความหมาย ความคิด และผู้คน “ได้ เช่นเดียวกับ คำหรือไม่อย่างไร” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว
ขวานฟ้า
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เล่าอีกว่า ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ทรงตราพระราชกำหนดฉบับหนึ่ง มีความตอนหนึ่งว่า
“อนึ่งแผ่นดินเป็นใหญ่ แต่สมเด็จพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุว่า พระมหากษัตริย์เจ้านั้น เป็นสมมุติเทวดา จะให้เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้น้อย ผู้น้อยเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าสมเด็จพระมหากษัตริย์มีพระราชโองการด้วยกิจสิ่งใดๆ ก็ดี ดุจดัง “ขวานฟ้า” ถึงมาตรว่าผ่านถูกต้องต้นไม้ภูเขามิอาจสามารถจะทนทานได้ ย่อมจะหักทำลายไป ถ้าจะมีพระราชโองการสั่งให้ห้ามสิ่งใด ก็ขาดเป็นสิทธิ์นั้น”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าอ่านพระราชกำหนดโบราณนี้ จากมุมยุคสมัยปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า พระราชโองการขององค์กษัตริย์ทางอำนาจดุจ “ขวานฟ้า” ผ่าต้องสิ่งไรก็ไม่มีอะไรทนทานได้ ก็เพราะเป็นถ้อยคำกำหนดชื่อขององค์อธิปัตย์ และโองการขององค์อธิปัตย์ก็ทำให้สิ่งต่างๆ ปรากฎขึ้นหรือหายไปได้ สร้างสรรค์และทำลายล้างสรรพสิ่งต่างๆ ก็ได้ และสำหรับมุนษย์ในสังคมแล้ว แทบไม่มีใครเลย ไม่ประสงค์จะมีอำนาจกำหนดชื่อและสร้างโลกผ่านการกำหนดชื่อนั้น หากเงื่อนไขอำนวย
“แต่เป็นเช่นนี้จริง จะเหลือหนทางใดให้ผู้คนภายใต้อิทธิฤทธิ์ของ “ขวานฟ้า” ที่ทรงพลานุภาพขนาดนี้อีกหรือ?” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เล่าว่า เมื่ออาจารย์ป๋วยจบปริญญาเอกจากอังกฤษก็มารับราชการที่กระทรวงการคลังสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร 2490 วันหนึ่งจอมพลป. ถามท่านว่า
“ คุณป๋วย คุณก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้ว เมื่อไหร่จะเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทยเสียที” อาจารย์ป๋วยตอบนายกรัฐมนตรีไปว่า “ชื่อผมบิดาตั้งให้ บิดาก็ตายไปแล้ว จะไปขอให้ท่านเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ไม่ได้เสียเเล้ว และอีกประการหนึ่ง ท่านนายกฯคงจะเคยไปลำปาง เวลานั่งรถไฟคงจะจำได้ว่า ว่ามีสถานีปางป๋วย ซึ่งต้องเป็นชื่อไทยแน่ๆ” จอมพลป.ได้ฟังคำตอบก็นิ่งไปไม่ว่าอะไรอีก
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า อันที่จริงชื่อป๋วยนี้บิดาท่านเป็นคนตั้งให้เป็นภาษาจีน แปลง่า พูดดินที่โคนต้นไม้ แต่คำตอบของอาจารย์ป๋วยต่ออธิปัตย์ในขณะนั้นมีที่ให้ใคร่ครวญได้หลายประการ
ประการแรก คำตอบของอาจารย์ตรึงอำนาจในการตั้งชื่อไว้กับความสัมพันธ์ในครอบครัว มิได้ยอมให้อำนาจอธิปัตย์จากภายนอกก้าวล่วงเข้าไปจาบจ้วงแปรเปลี่ยนได้ ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงตอบจอมพลป. ไปว่าชื่อของท่าน พ่อเป็นคนตั้งและตอนนี้พ่อท่านก็ไม่อยู่เเล้ว
ประการที่สอง จอมพลป. เห็นว่า ชื่อป๋วยนี้ไม่ใช่ภาษาไทย อาจารย์ป๋วยก็น่าจะทราบเช่นกันว่าชื่อของท่านภาษาอะไร แต่คำตอบที่ว่า ลำปางมีสถานรถไฟชื่อ “ปางป๋วย” ไม่ได้หมายความว่า ชื่อ “ป๋วย” เป็นชื่อ “ไทย” อย่างที่จอมพลป.น่าจะคิดอยู่ คำตอบของอาจารย์ ป๋วยเพียงแต่ทำให้เห็นได้ว่า ชื่อ “ป๋วย” นี้ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเป็นชื่อภาษาจีนแต่อย่างเดียว แต่อาจถือได้ว่าเป็นชื่อภาษาที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วยก็ได้ แม้อาจไม่ใช่ภาษาไทยภาคกลางอย่างที่รัฐาธิปัตย์ใช้อยู่ก็ตาม
และประการที่สาม อาจกล่าวได้ว่าที่อาจารย์ป๋วยไม่ยอมเปลี่ยนชื่อของท่านเพราะอาจพยายามธำรงอัตตาณัติของตนแทนที่จะยอมตามอำนาจเผด็จการที่ครองสังคมอยู่ และการรักษา “ชื่อ” ที่พ่อตั้งให้แทนที่จะเปลี่ยนชื่อตามบัญชาใช้ของผู้มีอำนาจรัฐที่ดูเหมือนจะมีอำนาจล้นพ้นเช่นนี้ จึงเป็นการแข็งขืนไม่ยอมต่อระบอบเผด็จการอำนาจในฐานะสุภาพชนที่มีเสรีในตนและมีสันติธรรมในใจ
“ดังนั้นการเมืองแห่งการกำหนดชื่อจึงต้องมีความหมายรวมถึงพลังแห่งการต่อต้านขัดขืน อำนาจเกรียงไกรแห่งการกำหนดชื่อดัง “ขวานฟ้า” อันมีฤทธิ์ไว้ด้วย” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว.
ขอบคุณภาพประกอบ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จาก http://prachatai.com/sites/default/files/u10/5738970007_4e08909223_b.jpg