หมัดต่อหมัด! ‘สุภา VS ประชา’ปมแทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด
“สุภา ปิยะจิตติ….การที่ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงสั่งงดประชุม หรือสั่งเลื่อน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นการทำลายระบบการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจในอนาคตอย่างสิ้นเชิง จะเกิดปัญหาที่มีฝ่ายการเมืองแทรกแซงไม่จบสิ้นเหมือนในอดีตอีก VS ประชา ประสพดี..ผมไม่มีเหตุผลประการใดที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์นายธีธัช เนื่องจากนายธีธัชดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2553 สมัยนายถาวร เสนเนียม เป็น รมช.มหาดไทย ดังนั้นยืนยันได้ว่า ไม่เคยรู้จักกับนายธีธัช ไม่เคยมีความสัมพันธ์ใด ๆ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำแถลงเปิดคดีในชั้นการถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และคำแถลงคัดค้านของนายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย กรณีถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแทรกแซงคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัช สุขสะอาด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การตลาด
----
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ
กรณีนี้นายสำคัญ ธรรมรัต อดีตประธานกรรมการองค์การตลาด และนายปิยะชาติ อำนวยเวช ได้ร้องเรียนกล่าวหานายประชา ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีการไต่สวนผู้กล่าวหา 2 ปาก บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง 21 ปาก รวมถึงนายประชาได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
จากการไต่สวนสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า องค์การตลาดทำสัญญาจ้างนายธีธัชให้ปฏิบัติงานเป็น ผอ.องค์การตลาด เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2553 ต่อมาประมาณ มิ.ย. 2555 มีผู้กล่าวหาร้องเรียนนายธีธัชต่อ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) กรณีการจัดจ้างปรับปรุงอาคารทรงไทย ปรับภูมิทัศน์ สำนักงานองค์การตลาดสาขาบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กระทรวงมหาดไทยจึงมีบันทึกให้องค์การตลาดตรวจสอบ โดยองค์การตลาดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลให้กับบอร์ดองค์การตลาดทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 บอร์ดองค์การตลาดเห็นชอบรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลให้กับกระทรวงมหาดไทยทราบ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2555
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2555 กระทรวงมหาดไทย แจ้งให้องค์การตลาดทราบว่า นายธีธัช อาจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้นิติบุคคลสมยอมกับเสนอราคาเกี่ยวกับการจัดจ้างดังกล่าว ทำให้องค์การตลาดเสียผลประโยชน์ ถือว่ามีมูลความผิดทางอาญา และทางวินัย องค์การตลาดจึงไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายธีธัช กับพวกแก่พนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชัน ในฐานความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เพื่อดำเนินคดีอาญา และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2555
(ทั้งนี้นายประชาได้เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2555 ได้รับมอบอำนาจให้กำกับดูแลองค์การตลาดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2555)
หลังจากองค์การตลาดได้แจ้งความแล้ว บอร์ดองค์การตลาด ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัชในวันที่ 2 พ.ย. 2555 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2555 นายประชา ได้โทรศัพท์ไปหานายสมิทธิ์ ดารากร ณ อยุธยา รองประธานบอร์ดองค์การตลาด สั่งให้ชะลอการประชุมดังกล่าวไปก่อน โดยนายสมิทธิ์ได้แจ้งข้อเท็จจริงเรื่องนี้พร้อมแสดงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายประชาให้กับบอร์ดองค์การตลาดคนอื่นรับทราบด้วย ส่งผลให้นายสำคัญ ประธานบอร์ดองค์การตลาด (ขณะนั้น) สั่งเลื่อนการประชุมออกไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2555 นายสำคัญ ได้นัดประชุมบอร์ดองค์การตลาดอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย. 2555 เพื่อพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัชอีกครั้ง ทว่าในวันที่ 11 พ.ย. 2555 นายประชาธิปไตย สิงห์คำนอก ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.มหาดไทย ได้นำหนังสือลงนามโดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย มาแสดงต่อนายสำคัญ มีลายมือที่อ้างว่าเป็นของนายประชา ระบุว่า ให้ชะลอการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ขอให้เลื่อนการประชุมในวันที่ 12 พ.ย. 2555 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
แต่บอร์ดองค์การตลาดเห็นว่า ข้อความด้วยลายมือในบันทึกนี้ มีเนื้อหาสาระไม่เกี่ยวกับระเบียบการประชุม และขณะนั้นไม่อาจเชื่อหรือตรวจสอบได้ว่า ลายมือดังกล่าวเป็นของนายประชาจริงหรือไม่ ประกอบกับกำหนดการที่กระทรวงมหาดไทยสั่งให้รายงานผลการประชุมคือวันที่ 22 ต.ค. 2555 ซึ่งล่วงเลยเวลามานานแล้ว หากล่าช้าอาจถูกตำหนิ หรืออาจถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้ที่ในการดำเนินการทางวินัยแก่นายธีธัชได้ จึงได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ย. 2555
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2555 บอร์ดองค์การตลาดได้ประชุมและมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแก่นายธีธัช พร้อมมีมติเห็นชอบให้เลิกจ้างนายธีธัช โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามสัญญา เนื่องจากทำผิดอาญา พร้อมกับแต่งตั้งนายปิยะชาติ ดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การตลาด แทน
อย่างไรก็ดีช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายประชาได้โทรศัพท์ไปหานายสำคัญ และต่อว่าในเรื่องการจัดประชุมดังกล่าวโดยฝ่าฝืนคสั่งของตนเอง โดยในระหว่างพูดคุยโทรศัพท์นั้น นายสำคัญได้เปิดเสียงให้บอร์ดองค์การตลาดคนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันในห้องรับประทานอาหารทราบด้วย ซึ่งเสียงดังกล่าวแสดงถึงความไม่พอใจของนายประชา และต่อว่าบอร์ดฯว่าไม่ให้เกียรติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 16-17 พ.ย. 2555 นายประชา ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ระบุทำนองว่า การประชุมของบอร์ดองค์การตลาดในวันที่ 15 พ.ย. 2555 เป็นการประชุมโดยมิชอบ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงไม่มีผลผูกพันกับองค์การตลาด และจะปลดนายสำคัญ กับกรรมการบางส่วนออกจากบอร์ดองค์การตลาด และสนับสนุนนายธีธัชเป็น ผอ.องค์การตลาดต่อไป
ในเวลาต่อมาคำให้สัมภาษณ์ของนายประชาก็เป็นความจริง กล่าวคือ สำนักงาน รมช.มหาดไทย ทำบันทึกขอให้แต่งตั้งประธานบอร์ดองค์การตลาด รองประธานฯ และกรรมการอื่น ในบอร์ดองค์การตลาดชุดใหม่ โดยให้บอร์ดชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง ก่อนจะเสนอเรื่องนี้ต่อ รมว.มหาดไทย และ รมว.มหาดไทย นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
โดยกรรมการองค์การตลาดที่ถูกปลดนั้นมีอยู่ 4 คน ที่ถือเป็นผู้มีบทบาทในการพิจารณาการกระทำอันส่อทุจริตของนายธีธัช ได้แก่ นายสำคัญ นายปิยะชาติ รวมถึงประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายธีธัช และกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายธีธัชด้วย
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ว่า พฤติการณ์ของนายประชา ไม่ว่าก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจให้กำกับดูแลองค์การตลาด หรือหลังรับมอบอำนาจให้กำกับดูแลองค์การตลาด นายประชามีอำนาจเพียงกำกับดูแลทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายขององค์การตลาดเท่านั้น ไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการประชุม แต่นายประชากลับเข้าไปสั่งการให้การประชุมขององค์การตลาดไม่มีผล จนทำให้มติ รวมทั้งการเลิกจ้างสิ้นผล ทำให้นายธีธัชได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งต่อไป
โดยในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้โอกาสนายประชาชี้แจงในเรื่องต่าง ๆ และนายประชายอมรับว่า ได้สั่งการด้วยวาจาจริง เลื่อนการประชุมจริง แต่อ้างว่า ไม่ทราบว่าเป็นการประชุมพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัช นอกจากนี้ยังอ้างว่า ในการสั่งการด้วยวาจา ได้สั่งการไปยังทุกรัฐวิสาหกิจที่ตนเองกำกับดูแล เช่น กรมที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้เชิญตัวแทนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของนายประชามาให้ปากคำแล้ว พบว่า ไม่เคยได้รับการประสานงานจากนายประชาให้เลื่อนประชุมแต่อย่างใด
ทั้งนี้นายประชา เป็นข้าราชการการเมือง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย ดำรงตำแหน่งการบริหารงานมาก่อน ย่อมทราบว่ามีอำนาจในองค์การตลาดเรื่องใดบ้าง รัฐบาลที่นายประชาเป็นรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อองค์การตลาดอย่างไรบ้าง สิ่งใดเป็นอำนาจ และหน้าที่ของบอร์ดองค์การตลาด สิ่งใดเป็นงานปกติ สิ่งใดเป็นงานนโยบาย นายประชาย่อมรู้ตามปรกติวิสัย และวุฒิภาวะ แต่นายประชาได้สั่งการให้ชะลอการประชุมถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ไม่มีอำนาจชะลอหรือยับยั้งการประชุมบอร์ดองค์การตลาด เท่ากับเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งของ รมช.มหาดไทย ก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของบอร์ดองค์การตลาด อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 266 และ 269 และผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 และผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 อนุ 1
“ป.ป.ช. มีพยานหลักฐานครบถ้วนชัดเจนเพียงพอรับฟังได้ว่า นายประชา มีการแทรกแซงการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจประมาณ 55 แห่ง ทรัพย์สินอยู่ในการดูแลกว่า 13 ล้านล้านบาท และกลไกสำคัญที่ทำให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดีคือ บอร์ดควรแยกการทำงานออกจากนักการเมือง ดังนั้นการที่ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงสั่งงดประชุม หรือสั่งเลื่อน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นการทำลายระบบการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจในอนาคตอย่างสิ้นเชิง จะเกิดปัญหาที่มีฝ่ายการเมืองแทรกแซงไม่จบสิ้นเหมือนในอดีตอีก เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นทรัพย์สินของประเทศ ไม่ใช่สมบัติของนักการเมือง ดังนั้นสมควรให้ สนช. ที่มีความเห็นอิสระถอดถอนนายประชาพ้นจากตำแหน่ง”
นายประชา ประสพดี
ได้คัดค้านคำแถลงเปิดคดีของ น.ส.สุภา 5 ประเด็นหลัก ได้แก่
หนึ่ง อำนาจในการพิจารณาส่งเรื่องถอดถอนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ผมเคารพการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ สนช. แต่เห็นว่าอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คราวนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ สนช. จะได้พิจารณาประกอบ กล่าวคือ ในการเสนอเรื่องถอดถอนคราวนี้ ไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนตามรัฐธรรมนูญปี 2550
โดยประเด็นนี้นายณรงค์ รัฐอมฤต ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า ไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 270 และมาตรา 271 ที่ต้องให้ ส.ส. ส.ว. หรือประชาชนร่วมกันลงชื่อยื่นให้ประธานวุฒิสภา เป็นคนนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยในการชี้มูลความผิดผมนั้น มีกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 3 ราย เห็นไปในทำนองเดียวกันกับนายณรงค์ ที่ไม่สามารถส่งเรื่องมาถอดถอนได้ ดำเนินการได้แค่ชี้มูลความผิดทางคดีอาญาเท่านั้น เนื่องจากนายสำคัญ และนายปิยะชาติ ไม่ใช่บุคคลที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จะยื่นเรื่องขอถอดถอน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา แต่ไม่ได้ส่งเรื่องถอดถอน เช่น คดีที่ดินรัชดาภิเษก คดีรถดับเพลิง กทม. หรือคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อ
สอง มติองค์การตลาดที่ให้เลิกจ้างนายธีธัชไม่เป็นผล
ตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สรุปข้อกฎหมาย 2 ส่วนคือ พ.ร.ฎ.องค์การตลาด พ.ศ.2496 และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ในช่วงที่ยังบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ฎ.องค์การตลาดฯ มาตรา 20 รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือเลิกจ้าง ผอ.องค์การตลาดได้ แต่พอมี พ.ร.บ.คุณสมบัติฯ แล้ว พ.ร.ฎ.องค์การตลาดฯ จึงไม่นำมาใช้อีก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหา และเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฏหมายอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวคือ อำนาจหน้าที่ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์กรของรัฐบาลที่มีกฎหมายจัดตั้ง จะเป็นไปตามที่ข้อกฏหมายกำหนด แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ที่เป็นไปตามข้อบังคับ ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.คุณสมบัติฯ มาตรา 8 จัตวา กำหนดไว้ทำนองว่า ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสรรหา หรือทำสัญญาพนักงาน แต่สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีกฏหมายจัดตั้งจะไม่มีผลยกเลิก พ.ร.ฎ.องค์การตลาดฯ มาตรา 20 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งหรือถอดถอนหรือพ้นตำแหน่งตามที่กำหนดไว้
ด้วยเหตุนี้อำนาจของรัฐมนตรีในการแต่งตั้งหรือถอดถอนหรือพ้นตำแหน่ง ไม่ได้ถูกยกเลิกตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้กล่าวหา แต่เป็นการใช้กฎหมายร่วมกันทั้งสองฉบับ ดังนั้นการให้ ผอ.องค์การตลาดพ้นจากตำแหน่ง หรือเลิกจ้าง เมื่อบอร์ดองค์การตลาดมีมติแล้ว ต้องเสนอให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแล ในที่นี้คือ รมช.มหาดไทย เห็นชอบ การเลิกจ้างจึงจะมีผลตาม พ.ร.ฎ.องค์การตลาดฯ มาตรา 20
สำหรับประเด็นนี้มีความเห็นชัดเจนจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือคำพิพากษาของศาลปกครอง (นายปิยะชาติ ได้ฟ้องนายสมิทธิ์ ประธานบอร์ดองค์การตลาดต่อจากนายสำคัญ กรณีปลดนายปิยะชาติ และให้นายธีธัชดำรงตำแหน่งตามเดิม) ว่า อำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนหรือพ้นจากตำแหน่งเป็นของรัฐมนตรี ดังนั้นการที่บอร์ดองค์การตลาดมีมติเลิกจ้างนายธีธัช และแต่งตั้งนายปิยะชาติ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อผู้กล่าวหาทั้งสองรายในการเลิกจ้างนายธีธัชกระทำได้โดยชอบนั้น เป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติกฏหมายโดยชัดเจน
สาม การกล่าวหาผมว่าเข้าไปแทรกแซงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายธีธัช ทำให้กระบวนการสอบทุจริตล่าช้า
ประเด็นนี้กระบวนการเลิกจ้างทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายอย่างที่เรียนไปแล้ว แต่การสอบเรื่องทุจริตของนายธีธัชได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังองค์การตลาดร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชันแล้ว พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนต่อ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 เห็นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ตกไปนั้นย่อมเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา และทางวินัยด้วย
นอกจากนี้ภายหลังเปลี่ยนบอร์ดองค์การตลาดชุดใหม่แล้ว มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายธีธัชขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบว่านายธีธัช ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกรณีเอื้อประโยชน์ให้กับนิติบุคคลในการจัดจ้างอาคารทรงไทย สำนักงานองค์การตลาดสาขาบางคล้าแต่อย่างใด ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงหรือเอื้อประโยชน์
“ผมไม่มีเหตุผลประการใดที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์นายธีธัช เนื่องจากนายธีธัชดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2553 สมัยนายถาวร เสนเนียม (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) เป็น รมช.มหาดไทย ดังนั้นยืนยันได้ว่า ไม่เคยรู้จักกับนายธีธัช ไม่เคยมีความสัมพันธ์ใด ๆ ผมได้รับการโปรดเกล้าฯเป็น รมช.มหาดไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2555 นอกจากนี้จากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ความว่า ผมกับนายธีธัช เคยพบกันแค่ 2 หน หนแรกเมื่อครั้งรับตำแหน่งที่มีนายธีธัช กับหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ มาแสดงความยินดี อีกหนคือช่วงที่นายธีธัชยื่นเรื่องอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม ภายหลังถูกมติบอร์ดองค์การตลาดเลิกจ้างเท่านั้น”
แม้ว่าตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และนายธีธัช ดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การตลาด มีการอ้างว่า พบเห็นนายธีธัช บริเวณหน้าห้องทำงานผมบ่อยครั้ง ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ควรไต่สวนให้สิ้นกระแสความว่า เจ้าหน้าที่ที่เห็นนายธีธัชหน้าห้องทำงานผมเป็นใคร แล้วเชิญมาให้ถ้อยคำ แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯกลับไม่ดำเนินการ กลับเชื่อคำกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า นายธีธัชวิ่งเต้นเพื่อให้ผมช่วยเหลือ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผมอย่างยิ่ง จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง เลื่อนลอยเป็นอย่างยิ่ง
สี่ กรณีการปลดบอร์ดองค์การตลาดชุดเดิมที่มีมติเลิกจ้างนายธีธัช
ประเด็นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า ผมปลดบอร์ดองค์การตลาด โดยมีอย่างน้อย 4 คนที่ถูกปลด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัช ขอเรียนว่า ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ไม่เคยรู้จักกับบอร์ดองค์การตลาดทั้ง 14 คนมาก่อน และในทางไต่สวนก็ไม่มีข้อเท็จจริงใดระบุว่า เคยมีความสัมพันธ์กับบอร์ดองค์การตลาดคนไหน รวมถึงนายธีธัช หรือมีเหตุโกรธเคืองใครมาก่อนด้วย
นอกจากนี้ในการเปลี่ยนแปลงบอร์ดองค์การตลาด เป็นการปลดทั้งหมด 14 คน ไม่ใช่แค่ 4 คนตามข้อกล่าวหา โดยมีบอร์ดชุดเดิมถึง 8 คนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อ และมีถึง 4 คน ที่เคยมีมติเลิกจ้างนายธีธัช ก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อเช่นกัน หากผมมีเจตนาช่วยเหลือนายธีธัชตามข้อกล่าวหาจริง ผมก็สามารถเสนอชื่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์หรือรู้จักให้เป็นประธานบอร์ดองค์การตลาดชุดใหม่ได้ แต่นี้ประธานบอร์ดองค์การตลาดชุดใหม่คือนายสมิทธิ์ ที่เคยลงมติเลิกจ้างนายธีธัชเช่นกัน
ส่วนการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อหนังสือพิมพ์ทำนองว่าว่า จะเปลี่ยนแปลงบอร์ดองค์การตลาดนั้น เป็นการพูดเพียงว่า การที่บอร์ดองค์การตลาดมีมติเลิกจ้างนายธีธัช ต้องได้รับความเห็นชอบจากผมก่อน แต่บอร์ดองค์การตลาดไม่ได้หารือผมก่อนกลับมีมติเลิกจ้าง และตั้งนายปิยะชาติมาดำรงตำแหน่งแทนเลย จึงไม่ได้เป็นการข่มขู่แต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดภาพรวมเท่านั้น และเมื่อมีบอร์ดองค์การตลาดชุดใหม่ทำหน้าที่ ก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายธีธัชต่อ กระทั่งมีผลสรุปว่า ไม่มีความผิดในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้
ห้า การสั่งการขอให้ชะลอการประชุมบอร์ดองค์การตลาด
เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งให้อำนาจในการควบคุมดูแลองค์การตลาดได้ใกล้ชิดกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ฎ.องค์การตลาดฯ ส่วนการชะลอการประชุมในวันที่ 2 พ.ย. 2555 ยืนยันว่าไม่ได้โทรศัพท์ไปหานายสมิทธิ์แต่อย่างใด โดยพยานที่เป็นบอร์ดองค์การตลาดที่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เชิญมาให้ถ้อยคำก็ไม่มีบุคคลใดยืนยันได้ว่า ผมได้โทรศัพท์ไปสั่งการนายสมิทธิ์ให้เลื่อนการประชุม แม้แต่นายสมิทธิ์ที่นายสำคัญอ้างว่าเป็นผู้รับโทรศัพท์ผม ก็ไม่ได้ให้การยืนยันว่าผมโทรศัพท์ไปหาเขา ส่วนนายปิยะชาติ ให้การว่า ในวันที่ 2 พ.ย. 2555 ผมได้สั่งการให้นายประชาธิปไตย โทรศัพท์ไปหานายสมิทธิ์ ส่วนบอร์ดองค์การตลาดอีกรายหนึ่งให้การว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนประชุม เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือขององค์การตลาด
ส่วนกรณีสั่งการให้เลื่อนการประชุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2555 นั้น ผมได้รับแจ้งจาก รมว.มหาดไทยว่า จะมอบหมายงานให้ผมกำกับดูแลองค์การตลาด จึงเห็นว่า เพื่อให้การบริหารงานองค์การตลาดเรียบร้อยกับนโยบายที่จะไปมอบ จึงประสงค์ให้องค์การตลาดได้ชะลอการประชุมเพื่อรอการมอบนโยบายไว้ก่อน ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของผม ก็มีการประสานไปในรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้เป็นการประสานอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้ให้อำนาจใกล้ชิดเหมือนองค์การตลาด
ส่วนที่คิดว่าในวันที่เปิดให้หัวหน้าส่วนราชการเข้าไปยินดีตอนผมดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทยนั้น เป็นความเข้าใจผิดของนายสำคัญ เพราะผมเพิ่งมอบนโยบายให้องค์การตลาดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2555 แต่ในวันที่บอร์ดองค์การตลาดประชุมกันในวันที่ 15 พ.ย. 2555 ผมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาทางวินัยนายธีธัช เพราะถือว่าพูดคุยกันเป็นที่เข้าใจแล้ว และเพิ่งทราบตอน 16.00 น. วันเดียวกันว่า มีกลุ่มพนักงานองค์การตลาดมาร้องขอความเป็นธรรมให้นายธีธัชที่เพิ่งถูกมติให้เลิกจ้าง
“ผมจึงได้โทรศัพท์สอบถามนายสำคัญว่าทำไมจึงประชุม ทั้งที่แจ้งขอให้ชะลอไว้ก่อน และสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยการสั่งการไม่ได้ต่อว่าอย่างรุนแรงแต่ประการใด และเป็นการสั่งการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากการแต่งตั้งถอดถอนหรือเลิกจ้าง ผอ.องค์การตลาดเป็นอำนาจของผมในฐานะ รมช.มหาดไทย แต่บอร์ดองค์การตลาดไม่ปรึกษา กลับประชุมและมีมติดังกล่าว โดยการประชุมวันนั้นทราบมาว่า ทำไปในลักษณะเร่งรัด มีบอร์ดบางคนติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ หรือไม่เข้าประชุม แม้ว่าองค์ประชุมจะครบก็ตาม”
ดังนั้น หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า การที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องถอดถอนผม ข้อกฎหมายไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่ได้มีการยื่นคำร้องให้ถอดถอน รวมถึงการกล่าวหาใช้อำนาจตามข้อกฎหมายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เข้าใจคลาดเคลื่อน
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายระหว่างฝ่ายกล่าวหาคือ ป.ป.ช. และฝ่ายถูกกล่าวหาคือนายประชา
แต่นี่เพียงการ 'แลกหมัด' กันในยกแรกเท่านั้น ยังเหลืออีกยกหนึ่งคือตอนแถลงปิดสำนวน ดังนั้นต้องรอดูว่าท้ายสุด สนช. จะเชื่อใคร และมีบทสรุปออกมาเช่นไร !
อ่านประกอบ :
โทรศัพท์ขอให้เลื่อนฟัน ผอ.องค์การตลาด! ‘สุภา’งัดหลักฐานชง สนช.ถอด ‘ประชา’
ป.ป.ช.ฟันถอดถอน'ประชา'แทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด
โดนอีกดอก! ป.ป.ช.ฟันอาญา‘ประชา’ ปมแทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด มท.