ดร.พรายพล แนะคสช.กล้าขึ้น VAT เชื่อเงินเข้าคลังหลายหมื่นล้านบาท
อดีตคณบดีเศรษฐศาสร์ มธ. ห่วงหลักประกันสังคมไทย ยังไม่พร้อมรับสังคมสูงอายุ ชี้อนาคตรัฐแบกรับภาระเพิ่มขึ้น 9% ของGDP แนะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มช่วยพยุงการคลัง
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กลุ่มสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมวิชาการ 100 ปี ชาติกาล ศาตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ปฎิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : หวังได้แค่ไหน?”
ศ.ดร.พรายพล กล่าวถึงข้อความหนึ่งของ อ.ป๋วย บอกว่า "เมื่อแก่ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา"ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่มีความหมายอย่างมาก ต่อการดูเเลคุณภาพชีวิตในบั้นปลาย
"คำถามใหญ่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่คือบริบทของสังคมโลกนั่นคือ แก่แล้วใครเลี้ยง ในประเทศไทย หากเป็นข้าราชการ ก็จะได้รับบำเหน็จ บำนาญ มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างดี ถ้าเป็นลูกจ้างธุรกิจเอกชนที่มีความั่นคงพอสมควร แก่แล้วอาศัยเงินออมตัวเองได้ มีผลตอบแทนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ มีระบบประกันสังคม พวกนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่โอเค แต่นอกจากนี้สองกลุ่มนี้ มีคนไทยอีกมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ชาวไร่ ชาวนา แรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีหลักประกันในชีวิตที่เป็นระบบ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ยามแก่เฒ่าก็ต้องพึ่งตนเอง และครอบครัว ซึ่งบางครั้งก็พึ่งไม่ได้"
ศ.ดร.พรายพล กล่าวต่อว่า แม้รัฐจะมีบริการสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมคนเหล่านี้ ขณะที่ช่วงหลังมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐอย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท ซึ่งมีคนรับเบี้ยคนชราอยู่กว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้จัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการออมสำหรับคนทั่วๆ ไป ที่อยากเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่ แต่การเข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ก็ยังมีปัญหาอย่างมาก
"เมื่อเป็นอย่างนั้นการประกันสังคมที่อ.ป๋วย อยากเห็นเพื่อดูเเลยามแก่เฒ่านั้น ก็ยังไม่เป็นจริงสำหรับคนไทยจำนวนมาก ระบบครอบครัวที่ลูกหลาน เลี้ยงดูญาติผู้ใหญ่ก็หวังได้ไม่มากในสภาพสังคมปัจจุบันและในอนาคต เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องเข้ามาบริหารจัดการให้มีระบบประกันสังคมที่เพียงพอ ธุรกิจเอกชนสามารถเข้ามาช่วยได้ แต่เป็นเพียงแค่ตัวเสริมเท่านั้น อีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ คือการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ คำถามมีอยู่ว่า รัฐจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดระบบประกันสังคมได้เพียงพอหรือไม่ เพราะในอนาคตภาระเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น
ประการแรก คือสังคมไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากเด็กจะลดลง คนในวัยทำงานก็จะลดลงด้วย คนทำงานแต่ละคนจะเเบกภาระด้านสุขภาพของคนแก่มากขึ้นต่อหัว แม้ว่า เด็กน้อยลง ภาระในการจัดการศึกษาจะลดลง แต่ว่าภาระเรื่องสุขภาพ อนามัยจะสูงขึ้น เพราะคนแก่มากขึ้น
ประการที่สอง คุณภาพของสวัสดิการสังคมของประเทศไทยยังไม่อยู่ในลักษณะที่น่าพอใจ ถึงแม้จะประกันสุขภาพ แต่หากไปดูตามโรงพยาบาลคนไทยยังต้องรอคิวกันยาวนาน
ประการที่สาม คนอีกครึ่งประเทศที่ยังอยู่นอกระบบ เมื่อจะเข้ามาในระบบ คนส่วนนี้เป็นคนที่มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นพอเขาเข้ามา ก็จ่ายเข้าระบบได้น้อย คนอื่นก็ต้องจ่ายเพิ่ม โดยผ่านระบบภาษี สิ่งที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง"
ศ.ดร.พรายพล กล่าวถึงศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบพื้นฐานต่างๆ มีภาระการเงินเฉลี่ยแล้ว เป็น 9.3% ของ GDP โดยรัฐต้องรับภาระไป 6.4% คิดเป็น 38% ของภาษีที่รัฐได้ แต่ในอนาคตหากเราต้องการปรับปรุงคุณภาพ ภาระจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของGDP และรัฐต้องรับภาระเพิ่มเป็น 9% ที่น่าสนใจหากคิดเป็นรายได้ของภาษีจะเป็น 53% นั่นคือเกินครึ่งหนึ่งของภาษีที่เก็บได้
"ปกติการคาดการณ์จะบอกว่า ขนาดของเศรษฐกิจจะโตปีละ 4% แต่ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตเพียง 3.2% อาจจะอ้างได้ว่า ช่วง 10 ปี เราเจอปัญหาทั้งการเมือง น้ำท่วม วิกฤตต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโตช้า เราหวังว่า ในอีก 12 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ เราอาจจะโตได้ 4% แต่คำถามสำคัญเมื่อรัฐต้องรับภาระที่สูงขึ้นมาก ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ด้านอื่นๆ ก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น" ศ.ดร.พรายพล กล่าว และว่า ฉะนั้นวิธีการเดียวคือ รัฐต้องเพิ่มการเก็บภาษี โดยเฉพาะอย่างการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะช่วยให้รัฐมีเงินมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขณะนี้กฎหมายอยู่ในสภา สนช. ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ควรจะเก็บในอัตราก้าวหน้า
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามคือรัฐบาลทั้งปัจจุบันและอนาคตมีความกล้าหาญในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงมาก วันนี้เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลที่ตั้งใจจะเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ต้องมีความกล้าหาญ เพราะแม้แต่ คสช.เองก็ยังไม่กล้าในเรื่องนี้ สิ่งที่เราเห็นกลับกลายเป็นนโยบายประชานิยมที่เปลี่ยนใช้คำว่า ประชารัฐ ลด แลกแจก แถม ต่างๆ ลงทะเบียนคนจน ต่างๆ แทน
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.manager.co.th