โทรศัพท์ขอให้เลื่อนฟัน ผอ.องค์การตลาด! ‘สุภา’งัดหลักฐานชง สนช.ถอด ‘ประชา’
สนช. นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน ‘ประชา ประสพดี’ ปมแทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด มท. ฟัน ‘ธีธัช สุขสะอาด’ เผยมีโทรศัพท์-ส่งหนังสือขอให้เลื่อนประชุมเลิกจ้าง ผอ.องค์การตลาดไปก่อน หลังมีมติเลิกจ้างถูกโทรกลับมาต่อว่า และปลด กก.ออก ด้าน รมช.มท. ยันสั่งชะลอจริงแต่แค่รอการมอบนโยบาย ยกคำพิพากษาศาล ปค. ชี้มีอำนาจในการแต่งตั้ง-เลิกจ้าง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอนนายประชา ประสพดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาดที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด (ขณะนั้น)
โดยวันนี้ (28/7/59) เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อแถลงเปิดสำนวนระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. นำโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. และการแถลงคัดค้านของนายประชา
น.ส.สุภา กล่าวเปิดสำนวนคดีนี้ว่า กรณีนี้มีนายสำคัญ ธรรมรัต อดีตประธานกรรมการองค์การตลาด และนายปิยะชาติ อำนวยเวช กล่าวหานายประชา ฐานก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัช โดยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปได้ว่า ประมาณเดือน มิ.ย. 2555 มีผู้กล่าวหานายธีธัชต่อ รมว.มหาดไทยว่า อาจเข้าไปพัวพันกับการสมยอมราคาในการจัดจ้างปรับปรุงอาคารทรงไทย ปรับภูมิทัศน์ สำนักงานตลาดที่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องให้องค์การตลาดตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2555 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการองค์การตลาดรับทราบเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 พร้อมกับเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว หลังจากนั้นคณะกรรมการองค์การตลาดได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชัน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
น.ส.สุภา กล่าวอีกทำนองว่า สำหรับพฤติการณ์ของนายประชา มีการโทรศัพท์และส่งหนังสือติดต่อไปยังกรรมการขององค์การตลาดเพื่อขอให้ชะลอการประชุมเพื่อพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัชอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการโทรศัพท์ไปหานายสมิทธิ์ ดารากร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการองค์การตลาด ขอให้ชะลอการประชุมพิจารณาทางวินัยนายธีธัชเพียง 1 วัน ครั้งที่สองคือส่งหนังสืออ้างว่าเป็นลายมือของนายประชา ขอให้ชะลอการประชุมพิจารณาทางวินัยนายธีธัชก่อนการประชุมเพียง 1 วันเช่นกัน แต่ต่อมาคณะกรรมการองค์การตลาดได้นัดประชุมอีกครั้ง และมีมติเลิกจ้างนายธีธัช ส่งผลให้วันรุ่งขึ้นนายประชา ให้สัมภาษณ์สื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ระบุทำนองว่า การประชุมดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีผลผูกพันเลิกจ้างนายธีธัช หลังจากนั้นมีหนังสือจากสำนักงาน รมช.มหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการองค์การตลาดชุดใหม่ขึ้นแทนชุดเดิม
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว การดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาด นายประชาไม่มีสิทธิ์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเนื่องจากไม่ใช่เรื่องนโยบาย ดังนั้นนายประชาไม่มีอำนาจในการชะลอการประชุมของคณะกรรมการองค์การตลาดทั้ง 2 ครั้ง จากข้อเท็จจริงนี้จึงนับได้ว่า พฤติการณ์ของนายประชา ถือว่าใช้สถานะและตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาดในการพิจารณาเรื่องทางวินัยของพนักงานองค์การตลาด
ด้านนายประชา กล่าวคัดค้านการเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการชี้มูลความผิดถอดถอนในเรื่องนี้และส่งสำนวนมาให้ สนช. เนื่องจากตอนกล่าวหาร้องเรียน ไม่มีบุคคลใดที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ยื่นเรื่องขอให้ถอดถอน ซึ่งข้อเท็จจริงต้องเป็น ส.ส. ส.ว. หรือประชาชนลงชื่อ ก่อนส่งให้ประธานวุฒิสภาเป็นคนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ โดยกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 3 ราย ก็ได้ยืนยันหลักการนี้ ดังนั้นกรณีนี้ไม่สามารถส่งเรื่องถอดถอนได้ ทำได้แค่ชี้มูลความผิดทางอาญา
นายประชา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงนั้น หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ฎ.องค์การตลาด พ.ศ.2496 จะเห็นได้ว่า ให้อำนาจรัฐมนตรีในการพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งถอดถอนเลิกจ้างหรือไล่ออกบุคคลใด ๆ บุคคลหนึ่งในองค์การตลาดได้ตามรายงานของคณะกรรมการองค์การตลาด ดังนั้นในการประชุมของคณะกรรมการองค์การตลาดที่เลิกจ้างนายธีธัช ไม่ได้มีการเสนอเรื่องมาถึงตนก่อน จึงเป็นการประชุมที่มิชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า การจะเลิกจ้างนายธีธัช เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ทั้งนี้ยืนยันด้วยว่า ไม่เคยโทรศัพท์ไปสั่งการให้ชะลอการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาทางวินัยแก่นายธีธัช แต่ทำหนังสือไปขอให้ชะลอการประชุมที่สำคัญไว้ก่อน เนื่องจากตนเพิ่งเข้ารับดำรงตำแหน่ง ยังไม่ได้มอบนโยบาย จึงอยากมอบนโยบายให้กับพนักงานทุกคนก่อน
นายประชา กล่าวด้วยว่า ส่วนนายธีธัช ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าทุจริตนั้น ในส่วนคดีอาญาที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชัน มีการส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 เสียง ให้ข้อกล่าวหาตกไปเนื่องจากไม่มีมูล ส่วนการดำเนินทางวินัย ภายหลังแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การตลาดชุดใหม่ขึ้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว และไม่พบว่ามีมูลความผิดแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ฟันถอดถอน'ประชา'แทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด
โดนอีกดอก! ป.ป.ช.ฟันอาญา‘ประชา’ ปมแทรกแซงบอร์ดองค์การตลาด มท.