กสทช. จะช่วยให้เคเบิลท้องถิ่นรอดตายได้อย่างไร
แม้ว่าในทางปฏิบัติ กสทช. มีเจตนาที่ดีในการผลักดันและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาจจะยังทำได้ไม่ดีนักในการพิจารณาแนวทาง วิธีการดำเนินการ และการวิเคราะห์ผลกระทบของการดำเนินการต่างๆ....
กสทช. จะช่วยให้เคเบิลท้องถิ่นรอดตายได้อย่างไร กิจการเคเบิลท้องถิ่น เป็นกิจการโทรทัศน์ขนาดเล็กในระดับท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศและข้อกำหนดต่างๆที่ กสทช. ประกาศใช้ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ต้องปิดกิจการเนื่องจาก ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโทรทัศน์ที่มี ประกาศและข้อกำหนดต่างๆ ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมได้ ระหว่างผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กระดับท้องถิ่น กับผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ระดับชาติ และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั้งหมด ที่ประกอบกิจการมากว่า 30 ปี จะไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้
เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น จึงขอจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อประกอบในการทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ดังต่อไปนี้
เคเบิลท้องถิ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
กิจการเคเบิลท้องถิ่นเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการรับชมสัญญาโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ของประชาชนในต่างจังหวัด ในพื้นที่ ที่ระบบเสาทีวีกระจายสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินของทางราชการ ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ต่อมากลุ่มผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นได้รวมตัวกัน จัดตั้งเป็นสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกันในด้านการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาและฝึกอบรมบุคลกรในธุรกิจ และเป็นตัวแทนในการเจรจาทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดจนเป็นองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิก
เคเบิลท้องถิ่นมีอยู่ทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ประกอบกิจการจำนวน 245 บริษัท มีเครือข่ายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นสถานีรวมกันกว่า 300 แห่ง มีประชาชนที่สนในสมัครเป็นสมาชิกและรับบริการรวมกันมากกว่า ๓ ล้านครัวเรือน หรือมีผู้รับชมรวมกันประมาณ 12 ล้านคนทั่วประเทศ
เคเบิลท้องถิ่นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น
นอกจากกิจการเคเบิลท้องถิ่น จะเป็นกิจการที่มีการประกอบการมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว ในด้านเศรษฐกิจยังเป็นกิจการที่สามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เช่น การโฆษณาสินค้าหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในแต่ละท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product หรือ OTOP) ผ่านช่องรายการเคเบิลทีวี ที่ผลิตขึ้นในแต่ละพื้นที่ เป็นการนำเอากลุ่มธุรกิจ 2 กลุ่มมาเชื่อมโยงผูกพันให้สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้ กล่าวคือ เป็นการสนับสนุนกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่จัดเป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small Medium Enterprise) ให้อยู่รอดและเติบโตไปพร้อมๆกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น OTOP มีช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นการทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของประเทศได้รับการพัฒนาจากฐานรากพร้อมกัน อีกทั้งยังเป็นกิจการที่ช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่สภาพภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการรับชมทีวีได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของทางราชการในส่วนท้องถิ่น เป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี อนุรักษ์ประเพณี ศิลปและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
เคเบิลทีวีท้องถิ่นจัดเป็น "สื่อมวลชน" ที่เข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากที่ดีที่สุดสื่อหนึ่ง และที่ผ่านมาธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นเองก็ได้พิสูจน์ให้ชุมชนเห็นแล้วว่า เคเบิลทีวีท้องถิ่นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชน ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งของชุมชนเองและของรัฐบาลได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และหากภาครัฐได้พิจารณาใช้สื่อเคเบิลท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น (OTOP) เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนกิจการ ในระดับท้องถิ่นที่เป็น SME ด้วยกัน ก็จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
สื่อโทรทัศน์ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป รวมถึงมีงานวิจัยต่างๆระบุว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนหลักที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายโฆษณา หรือสื่อแนวใหม่ต่างๆ และเมื่อพูดถึงสื่อโทรทัศน์คนส่วนใหญ่มักจะมองไปที่ช่องรายการโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงประชาชนในระดับชาติ เพราะสามารถชี้นำแนวความคิดที่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนในสังคมได้
นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ประกาศใช้ ส่งผลให้การประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ในอากาศที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติและมีอยู่อย่างจำกัด ในปัจจุบันหมายถึง กลุ่มทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน 48 ช่อง ประเภทหนึ่ง และกลุ่มกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และมีคลื่นความถี่อยู่อย่างไม่จำกัด เพราะเป็นการใช้คลื่นความถี่ที่มนุษย์สร้างขึ้นตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มกิจการนี้หมายถึง เคเบิลท้องถิ่นและทีวีดาวเทียม ซึ่งไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อีกประเภทหนึ่ง
กสทช. ต้องการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก (Analogue Switch-off, ASO)
นับตั้งแต่ปี 2555 กิจการเคเบิลท้องถิ่น ถูกจัดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เป็นต้นมา ภายใต้แผนแม่บท 5 ปี ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) ที่ กสทช.ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแล และด้วยผลของนโยบายการปรับเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ทั่วโลกให้เป็นระบบดิจิตอลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือInternational Telecommunication Union (ITU) ประกอบกับประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนได้มีมติร่วมกันเห็นชอบกับกรอบเวลาสำหรับการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก (Analogue Switch-off, ASO) ในช่วงเวลา ระหว่างปีพ.ศ. 2558 ถึง 2563 ด้วย ทำให้ กสทช.ต้องรีบเร่งดำเนินการสนับสนุน และ ส่งเสริม เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บท และด้วยการออกประกาศ ต่างๆของ กสทช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น จนอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจเคเบิลท้องถิ่นกำลังเข้าสู่ภาวะลดถอยและอาจเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและเล็กไม่สามารถดำรงอยู่รอดต่อไปได้
ดังนั้นเพื่อให้ กสทช. ได้รับทราบถึงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเตรียมการ เพื่อป้องกันมิให้ธุรกิจเคเบิลท้องถิ่นต้องล่มสลายลงเพราะความเข้าใจผิด และการขาดความตระหนักรู้ในการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ต่อไป
ผลกระทบจากการกำกับดูแลกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ของ กสทช.
สืบเนื่องจากสภาพปัญหาของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ที่กำลังเกิดขึ้น และมีความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงขอสรุปให้เห็นถึงผลกระทบที่ได้รับ จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดจากการกำกับดูแลของ กสทช. ดังนี้คือ
1. ผลกระทบจากกฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ และการดำเนินนโยบายของ กสทช.ที่มีผลต่อเคเบิลทีวีท้องถิ่น ประกอบด้วย
1.1 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 หรือหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เรียกกันสั้นๆว่า “Must Carry” ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเคเบิลทีวีท้องถิ่นคือ
ข้อ 6 “ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองมีหน้าที่ต้องให้สมาชิกได้รับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปโดยตรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการหรือเนื้อหารายการ...........”
ข้อ 9 “ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือผู้ทดลองแพร่ภาพกระจายเสียงที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกสามารถรับชมบริการโทรทัศน์ของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป โดยให้นำความตามข้อ ๖ มาบังคับใช้โดยอนุโลม จนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งหรือประกาศเป็นอย่างอื่น”
ประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช. ดังกล่าวบังคับให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นทุกราย จะต้องนำช่องฟรีทีวีไปเผยแพร่ในโครงข่ายของตนเองให้ครบทุกช่อง จะเลือกช่องใดช่องหนึ่งหรือบางช่องไปให้บริการไม่ได้ โดยที่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นทุกราย เป็นผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ จะต้องคัดสรรช่องรายการทุกช่องที่ให้บริการกับสมาชิก ให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกผู้จ่ายค่าบริการรายเดือน ประกอบกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น จะต้องลงทุนประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นด้วยเงินทุนของตนเอง โดยไม่ได้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดของประเทศ การที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับของ กสทช. ที่จะต้องจัดสรรช่องรายการจำนวนมาก (36 ช่อง) เพื่อนำช่องรายการฟรีทีวีบางช่องที่ไม่ใช่ความต้องการของสมาชิกมาบรรจุอยู่ในผังช่องรายการที่ให้บริการแก่สมาชิกด้วย จึงเป็นภาระที่หนักเกินไป โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ แอนะล็อก ที่มีช่องรายการให้บริการที่จำกัด
ด้วยการแข่งขันที่สูงในกิจการโทรทัศน์ในปัจจุบัน การที่จะต้องถอดช่องรายการลิขสิทธิ์ดีๆที่ซื้อมาให้สมาชิกรับชมเป็นการเฉพาะออก เพื่อกันพื้นที่ให้กับช่องรายการฟรีทีวีที่ กสทช. กำหนดเป็นจำนวนมาก จะเป็นการลดคุณภาพการให้บริการกับสมาชิกที่ต้องชำระค่าบริการเป็นรายเดือน จนทำให้สมาชิกมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะชำระค่าบริการรายเดือนต่อไป ที่สำคัญช่องรายการทุกช่องที่ให้บริการกับสมาชิก ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น จะต้องลงทุนสร้างสถานีส่งสัญญาณขึ้นด้วยงบประมาณของตนเอง การที่จะต้องกันตำแหน่งช่องรายการที่สมาชิกไม่ต้องการรับชม เพื่อทำตามกฎ กสทช. โดยมิได้รับผลตอบแทนที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์จากช่องรายการที่ต้องนำมาเผยแพร่ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นการตอบแทน เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบกิจการเกินสมควร ที่สำคัญช่องรายการฟรีทีวีทางธุรกิจบางช่อง ที่ถูกบังคับให้นำมาเผยแพร่ ยังมีสถานะเป็นคู่แข่งทางการค้าในการหาโฆษณา เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของการประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นอีกด้วย
1.2 ประกาศ ฯ เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ. 2556 หรือ หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เรียกกันสั้นๆว่า “หลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ” ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเคเบิลท้องถิ่นคือ
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
ข้อ 5 ผู้รับใบอนุญาต ต้องจัดลำดับหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ดังนี้
ลำดับที่ 1 หมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปตามข้อ 4(1)
ลำดับที่ 2 หมวดหมู่บริการโทรทัศน์อื่น ๆ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ตามข้อ 4 (2) (3) (4) (5) และ (6) ทั้งนี้ อาจสลับลำดับหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ หรือยกเว้นหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ได้ตามความประสงค์ของผู้รับใบอนุญาต
กล่าวโดยสรุปคือ
ประกาศหลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ของ กสทช. ดังกล่าว เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย จะต้องปรับผังช่องรายการที่ให้บริการกับสมาชิกมาเป็นเวลานาน จนสมาชิกเกิดความเคยชิน ให้ทำการจัดเรียงลำดับช่องรายการใหม่เป็นครั้งที่ 1 โดยบังคับให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นทุกราย จะต้องจัดเรียงลำดับช่องของฟรีทีวี 36 ช่อง (ที่ กสทช. กำหนด) ให้อยู่ในหมวดหมู่ลำดับที่ 1 เสมอ (ลำดับที่ 1-36) โดยผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น จะต้องย้ายตำแหน่งช่องรายการอื่นๆที่เคยจัดอยู่ในลำดับที่ 1-36 ไปไว้ในลำดับอื่น โดยมิได้รับผลตอบแทนที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์จากหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นการตอบแทนทั้งสิ้น ทั้งที่การจัดเรียงลำดับช่องดังกล่าว จัดเป็นโอกาสทางธุรกิจในการหารายได้จากการโฆษณา และการสร้างความแตกต่างของผังช่องรายการของผู้ประกอบกิจการแต่ละราย รวมทั้ง สร้างความนิยมและความสะดวกให้แก่สมาชิกผู้รับบริการ ที่จะต้องชำระค่าบริการในการรับชมเป็นรายเดือน อันเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดหารายได้ ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นแต่ละรายในแต่ละพื้นที่ ที่จะสามารถจัดหารายได้ในเชิงพาณิชย์ได้อีกส่วนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ การที่ กสทช. กำหนดให้ช่องฟรีทีวีทีวี 36 ช่องถูกจัดอยู่ในลำดับต้นของผังช่องรายการ ย่อมทำให้ช่องรายการของเคเบิลท้องถิ่น หรือของพันธมิตร ที่หารายได้จากการโฆษณาเช่นกัน ด้อยค่าลง จนหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้
1.3 ประกาศ ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 หรือ หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เรียกกันสั้นๆว่า “หลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 กสทช.ได้ออกมา ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเคเบิลท้องถิ่นคือ
ข้อ 4 ในประกาศนี้ “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
ข้อ 5 ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดลำดับบริการโทรทัศน์ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
ผู้รับใบอนุญาตอาจนำเอาบริการโทรทัศน์จากหมวดหมู่ใดก็ได้ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มาจัดเรียงไว้ในสิบลำดับแรก
ประกาศหลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ของ กสทช. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขจากข้อกำหนดเดิมมาเป็น บังคับให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย จะต้องปรับเรียงลำดับช่องรายการใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 โดยให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกรายจะต้องจัดเรียงช่องของฟรีทีวี 36 ช่อง ให้มีลำดับเลขช่องเหมือนกันตามลำดับที่ กสทช.กำหนดขึ้นมาใหม่คือช่อง 11-48 จากเดิมที่กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งที่ 1-36 ซึ่งทำให้สมาชิกเกิดความสับสนในเรื่องตำแหน่งช่องรายการเป็นครั้งที่ 2
1.4 ประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หรือ หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เรียกกันสั้นๆว่า “หลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเคเบิลท้องถิ่นคือ
ข้อ 3 ประกาศนี้ “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
ข้อ 4 ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดลำดับบริการโทรทัศน์ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ผู้รับใบอนุญาตอาจนำเอาบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ใดก็ได้ มาจัดเรียงในยี่สิบสี่ลำดับถัดจากหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป
ประกาศหลักเกณฑ์การจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการ ของ กสทช. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขข้อกำหนดเดิมอีกครั้ง โดยบังคับให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย จะต้องปรับเรียงลำดับช่องใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยให้จัดเรียงลำดับช่องของฟรีทีวี 36 ช่อง (ที่ กสทช. กำหนด) ไว้ในหมวดหมู่ลำดับที่ ๑ เสมอ (ลำดับที่ 1-36) โดยผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น จะต้องย้ายตำแหน่งช่องรายการอื่นๆที่เคยจัดอยู่ในลำดับที่ 1-10 ไปไว้ในลำดับอื่น ถัดจากลำดับที่ 36 เป็นต้นไป ทำให้สมาชิกเกิดความสับสนเป็นครั้งที่ 3 โดยเฉพาะสมาชิกที่รับบริการในระบบ แอนะล็อก เมื่อ กสทช. สั่งให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นปรับเปลี่ยนผังช่องรายการ สมาชิกส่วนใหญ่จะแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการไปทำการปรับจูนช่องรายการให้มีตำแหน่งเหมือนเดิมทุกครั้ง เป็นการสร้างภาระ และสร้างความสับสน ให้เกิดกับผู้ประกอบกิจการ และสมาชิกผู้รับบริการ
1.5 ประกาศ เรื่องแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลพ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555
ซึ่งกำหนดไว้ว่า กสทช. จะเริ่มพิจารณาจัดทำแผนการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในปีพ.ศ. 2558 โดยแผนดังกล่าวจะต้องคำนึงถึง ความพร้อมของประชาชน ความพร้อมของผู้ประกอบกิจการ ความพร้อมของประเทศโดยรวม รวมถึงกรอบเวลาในการยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกาศฯดังกล่าวยังระบุไว้ว่าระยะเวลาการยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกจะต้องไม่สร้างภาระมากเกินไปในการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์คู่ขนานทั้งในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอล(Simulcast) นอกจากนี้เพื่อให้การดำเนินงานสามารถบรรลุตามแผนการยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ที่กำหนดประกาศฯดังกล่าวยังกล่าวถึงความจำเป็นของมาตรการในการสนับสนุนการยุติการรับส่งสัญญาณระบบแอนะล็อกในมิติต่างๆอาทิแผนสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ประกาศของ กสทช.ฉบับดังกล่าวเป็นประกาศที่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นที่มากเกินความจำเป็น โดยมีจุดมุ่งหมายที่ประสิทธิผลความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านของโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเป็นตัวตั้งจนทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ใกล้เคียงกันในตลาดที่ควรมีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันอาจส่งผลให้เป็นการบิดเบือนตลาด เช่นการแจกคูปอง 690 บาทเพื่อให้ประชาชนนำไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 และเปิดโอกาสให้กล่องโทรทัศน์ดาวเทียมบางรุ่นสามารถใช้คูปองแลกซื้อได้ แต่สำหรับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบดิจิตอล หรือที่สมาชิกรับบริการในระบบ แอนะล็อก แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นระบบ ดิจิตอล กลับไม่สามารถให้สมาชิกนำคูปองมาแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลของเคเบิลท้องถิ่นได้ ดังที่ได้ปรากฏผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วในรายงานการศึกษา เรื่อง โครงการประเมินผลการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลภาคพื้นดินประเภทบริการธุรกิจ ของ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่สรุปว่า
“โดยรวม การดำเนินงานในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านฯ (นอกจากการจัดการประมูลใบอนุญาต) ควรได้รับการทบทวนเพื่อลดผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชน ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในทางปฏิบัติ กสทช. มีเจตนาที่ดีในการผลักดันและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาจจะยังทำได้ไม่ดีนักในการพิจารณาแนวทาง วิธีการดำเนินการ และการวิเคราะห์ผลกระทบของการดำเนินการต่างๆ อย่างรอบคอบรอบด้านก่อนที่จะดำเนินมาตรการหรือออกกฎเกณฑ์ใด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะขาดการประเมินผลกระทบการออกกฎ ระเบียบ หรือมาตรการต่างๆ (Regulatory Impact Assessment: RIA) รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนทำการร่างกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆ”
1.6 พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ใน พรบ. ฉบับดังกล่าว มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ กิจการกระจายเสียงหรือการกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญที่ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับนี้มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงเพราะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงและมีผลกระทบกับกิจการเคเบิลท้องถิ่น ดังนี้คือ
มาตรา 25 ถึงมาตรา 28 ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ การกำกับดูแลกิจการเคเบิลท้องถิ่นของ กสทช. มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆเป็นอย่างเดียวกันกับ กิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่
“ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค สภาพการแข่งขันของตลาด ต้นทุนในการประกอบกิจการ และการให้ความเป็นธรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประกอบด้วย”
กล่าวโดยสรุปคือ
กิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น แม้จะเป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ที่ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายและการกำกับดูแลของ กสทช. เช่นเดียวกันกับ กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ กิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็น “กิจการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการช่องรายการที่ให้บริการเป็นการทั่วไป” เป็นการใช้หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเช่นเดียวกับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งที่กิจการเคเบิลท้องถิ่น สมาชิกต้องเสียค่าบริการในการรับชม ในขณะที่กิจการที่ใช้คลื่นความถี่ สมาชิกสามารถรับชมฟรีได้ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีปัจจัยและองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ด้านการลงทุนโครงข่าย ด้านการให้บริการแก่ผู้รับชมด้วยระบบสมาชิกที่ต้องเสียค่าบริการในการรับชม ด้านการแข่งขันกันเองในระหว่างผู้ประกอบการที่ใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่ ด้านการผลิตเนื้อหารายการในท้องถิ่น กับการผลิตเนื้อหารายการระดับชาติ เป็นต้น โดย กสทช.ละเลยการใช้ดุลยพินิจที่จะต้องคำนึงถึงสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ว่า "หน้าที่ในการกำกับดูแลของ กสทช.จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค สภาพการแข่งขันของตลาด ต้นทุนในการประกอบกิจการ และการให้ความเป็นธรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประกอบด้วย"
จนทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้ จนต้องขายกิจการหรือปิดกิจการในที่สุด
กสทช. ต้องมี "หลักธรรมาภิบาล"
ผลของประกาศ ฯ ต่างๆดังกล่าวจัดเป็นนโยบายที่ กสทช.ดำเนินมาเป็นลำดับต่อเนื่องกันนับตั้งแต่การจัดทำแผนแม่บทและดำเนินการตามแผนแม่บทที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนผ่านการรับส่งโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้การประมูลช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องให้สำเร็จลุล่วง จนส่งผลให้ กสทช. ละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องคำนึงถึง "หลักธรรมาภิบาล" ด้านต่างๆซึ่งประกอบด้วยด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Efficiency) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) ด้านความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability) ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง(Participation) ในกระบวนการตัดสินใจด้านความโปร่งใส(Transparency) และความสามารถในการคาดการณ์ (Predictability) หรือความแน่นอนของวิธีปฏิบัติของหน่วยงานกำกับดูแลฯซึ่งนโยบายที่สะท้อนผ่านการออกประกาศต่างๆ
กสทช. ใช้อำนาจเป็นธรรมหรือไม่
เมื่อวันที่ 26 – 27 ธันวาคม 2556 กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการทางธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งตามประกาศ จะต้องเป็นการประมูลช่องรายการทางธุรกิจ 24 ช่อง เพื่อเผยแพร่เฉพาะบนโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า การออกประกาศต่างๆ ของ กสทช. เพื่อชักชวน จูงใจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้สนใจเข้าร่วมในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทางธุรกิจ ๒๔ ช่องเข้าใจว่า กสทช. ได้ยึดเอาทรัพยากรช่องรายการในตำแหน่งที่ 1-36 ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น และผู้ประกอบกิจการดาวเทียม มาให้ช่องทีวีดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทั้ง 24 ช่องได้ทุกช่องทาง การรับชม โดยมีการจัดเรียงช่องรายการเหมือนกันในทุกโครงข่าย ตามที่ กสทช. ได้ให้สัญญาไว้กับผู้เข้าร่วมประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมให้กับ กลุ่มโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น และ กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม อีก จนทำให้มูลค่าการประมูลช่องรายการ เพิ่มจาก 15,190 ล้านบาท เป็น 50,862 ล้านบาท โดยมีส่วนต่างจากราคาตั้งต้นสูงถึง ๓๕,๖๗๒ ล้านบาท น่าจะหมายถึง มูลค่าโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น และ โครงข่ายดาวเทียม ที่ กสทช. ยึดมาได้ และนำมาขายต่อให้กับกลุ่มช่องทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องนั้นเอง
กสทช. ยึดทรัพย์เคเบิลท้องถิ่นและทีวีดาวเทียมไปขายต่อให้ช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่อง
การประมูลครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประมูลเพื่อเผยแพร่ช่องรายการเฉพาะบนโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอลเพียงโครงข่ายเดียว แต่เป็นการเปิดประมูล เพื่อเผยแพร่ช่องรายการทีวีธุรกิจ 24 ช่อง บน 3 โครงข่าย คือ โครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล โครงข่ายดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ด้วย โดย กสทช. ใช้วิธีออกประกาศ หรือคำสั่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อยึดเอาทรัพย์สิน ที่เป็นตำแหน่งช่องรายการ 1-36 ของ โครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่น ไปหาประโยชน์เข้า กสทช. โดยไม่มีการจ่ายผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์ ให้กับเจ้าของโครงข่ายที่ได้ลงทุนไปด้วยงบประมาณของตนเอง โดยขาดหลัก "ธรรมาภิบาล" และ ไม่คำนึงถึง สภาพการแข่งขันของตลาด ต้นทุนในการประกอบกิจการ และการให้ความเป็นธรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
กล่าวโดยสรุปคือ
การดำเนินนโยบายของ กสทช. กล่าวได้ว่ามุ่งเน้นที่จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนเฉพาะผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง ที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ระดับชาติ เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ขนาดเล็กที่เป็น SME ในระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น กสทช. ไม่เคยได้รับการดูแลใดๆ จาก กสทช.จนทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขาดความสามารถในการแข่งขัน จนต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
2. ผลกระทบที่เกิดจากพัฒนาการทางด้านเทคนิคในการเผยแพร่ช่องรายการของผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น สามารถใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่ช่องรายการได้ ๒ ระบบ คือ ระบบแอนะล็อก และ ระบบดิจิตอล กล่าวคือ
“ระบบแอนะล็อก”
เป็นระบบดั้งเดิมของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในประเทศไทย ที่มีการใช้งานมากว่า 30 ปี มีผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีนี้ในการประกอบกิจการในอัตราร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ทำให้สามารถเผยสัญญาณภาพได้เพียง 60- 80 ช่องรายการเท่านั้น
“ระบบดิจิตอล”
เป็นระบบแบบใหม่ที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย มาเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการร้อยละ 20 ที่มีการปรับปรุงระบบ โดยเปิดให้บริการระบบแอนะล็อก ควบคู่กับการให้บริการระบบดิจิตอล ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระบบ และด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจัดเรียงช่องรายการได้ตามประกาศของ กสทช. ได้โดยไม่ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคแต่อย่างใด แต่สมาชิกผู้รับบริการจะต้องลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณระบบดิจิตอลเพิ่มเติม
ด้วยเหตุผลด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีการพัฒนาดังกล่าว ส่งผลให้ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ยังไม่มีศักยภาพในการพัฒนาจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล จะไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับสมาชิกผู้รับบริการ ระหว่างการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของสัญญาณระบบ SD และ HD ที่มีช่องรายการเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือน หรือ Free to air เช่น ทีวีดาวเทียม หรือ โทรทัศน์ในระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน กับการเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ แอนะล็อก ที่มีความคมชัดของสัญญาณด้อยกว่า และต้องชำระค่าบริการในการรับชมเป็นรายเดือน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
รายงานการศึกษาเรื่องผลกระทบของกฎหมายและประกาศของ คณะกรรมการกิจการกระจาเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ต่อผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นสรุปได้ว่า
เคเบิลท้องถิ่นมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากจัดเป็นสื่อทางเลือกในชุมชนต่างๆได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นช่องทางในการรับชมและกระจายข้อมูลข่าวสารในระดับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาในด้านข้อจำกัดบางประการอยู่บ้างก็ตาม
กสทช. จะช่วยเคเบิลท้องถิ่นได้อย่างไร
ในด้านการประกอบกิจการนั้น ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นมีความเห็นว่า ประกาศของ กสทช. ที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นประกาศที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนในการสร้างโครงข่ายด้วยงบประมาณของตนเองทั้งหมด แต่กลับต้องมารับภาระในการนำเนื้อหาจากช่องรายการ ที่ใช้คลื่นความถี่ทั้ง 36 ช่อง มาออกอากาศ อันส่งผลให้ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นได้รับผลกระทบซึ่งควรต้องได้รับการ แก้ไข เยียวยา และ ชดเชยผลกระทบต่างๆด้วย เช่น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นมีโอกาสเลือกนำช่องรายการที่ใช้คลื่นความถี่ "บางช่อง" มาเผยแพร่ และจัดเรียงตำแหน่งช่องได้เองตามหมวดหมู่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกแต่ละกลุ่ม ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนช่องรายการในระบบ แอนะล็อก หรือ หากได้รับการสนับสนุนการเปลี่ยนระบบการให้บริการจาก ระบบแอนะล็อกมาสู่ ระบบดิจิตอล ด้วยการให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นได้ใช้โครงข่ายสาย Fiber Optic ที่เชื่อมระหว่าง จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ของหน่วยราชการต่างๆ เช่น CAT หรือ TOT เพื่อเชื่อมโครงข่ายสายเคเบิลของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อประหยัดการลงทุนห้องส่งสัญญาณระบบ ดิจิตอล รวมทั้งให้การสนับสนุนคูปอง 690 บาทกับสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นที่ต้องการเปลี่ยนจาก ระบบ แอนะล็อก มาสู่ระบบดิจิตอล เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนผ่านระบบการให้บริการโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อก ไปสู่ระบบดิจิตอล ของ กสทช. และผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นก็จะสามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้
3. ผลกระทบจากการออกประกาศฯ เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555
กสทช. ได้ออกประกาศเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 และออกประกาศเรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กิจการโทรทัศน์
“รายได้” หมายถึง รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการของผู้รับใบอนุญาต ค่าสมาชิก รายได้จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือ รายได้อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการของผู้รับใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมตามประกาศนี้ ประกอบด้วย
1) ค่าพิจารณาคำขอ คือ ค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเมื่อยื่นคำขอในอัตราแนบท้ายประกาศ
2) ค่าธรรมเรียมใบอนุญาตรายปี คือ ค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเป็นรายปีตามอัตราแนบท้ายประกาศ รวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสองของรายได้ ซึ่งประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ตามอัตราแนบท้ายประกาศ
นอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะกรรมการสามารถลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตได้หากประจักษ์ว่า มีรายการข่าวสารสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามสัดส่วนที่คณะกรรมการกำหนดได้ และคณะกรรมการยังสามารถทบทวนโครงสร้าง อัตรา และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมได้ต่อไป
กิจการโทรคมนาคม
กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง รวมถึงส่งเสริมผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสมอภาคและเป็นธรรม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
รายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคม หมายความว่า รายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมทุกประเภทบริการที่เกิดขึ้นภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง แบบที่สอง หรือแบบที่สาม ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการโทรคมนาคม ให้หมายความรวมถึงรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย
ผู้ยื่นคำขอและผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ ชำระค่าดำเนินการคำขอใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต ตามอัตราและเงื่อนไขแนบท้ายประกาศ
เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กิจการโทรทัศน์ กับกิจการโทรคมนาคม
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ระหว่างกิจการโทรทัศน์ในทุกประเภทรวมถึงโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ในกรณีของเคเบิลท้องถิ่น เมื่อเทียบกับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พบว่า อัตราค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกแบบกำหนดไว้ในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.25 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 1.5 ขึ้นอยู่กับขนาดรายได้จากการประกอบกิจการ โดยคำนวณจากขนาดรายได้ตั้งแต่ 0 ถึง 100 ล้านบาท เป็นอัตราเริ่มต้นของอัตราค่าธรรมเนียมที่ร้อยละ 0.25 ในขณะที่ อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของกิจการโทรทัศน์กำหนดไว้ในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 1.5 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.0 โดยคำนวณจากขนาดรายได้ตั้งแต่ 0 ถึง 5 ล้านบาท เป็นอัตราเริ่มต้นของอัตราค่าธรรมเนียมที่ร้อยละ 1.5
กิจการโทรทัศน์กับกิจการโทรคมนาคม แยกกันไม่ออก
ข้อมูลจากการศึกษา พบว่า ความต้องการรับบริการ Internet ในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นมาก และมีผู้เล่นรายใหญ่ระดับชาติ ที่มีเงินทุนสูง ในกลุ่มโทรคมนาคม ได้เข้ามาสู่ตลาดการแข่งขันเพิ่มขึ้น มีการทำหลอมรวม (Convergence)การให้บริการหลายประเภทเข้าด้วยกัน เช่น การหลอมรวมการให้บริการ Internet ไปพร้อมๆกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือ และการให้บริการรายการโทรทัศน์ ร่วมด้วย ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ต้องเข้าสู่การแข่งขันในรูปแบบการหลอมรวมพร้อมกันไปด้วย กล่าวคือ เป็นการแข่งขันแบบหลอมรวมระหว่างผู้ให้บริการโทรทัศน์ไปพร้อมๆกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมพร้อมกันไปด้วย ทำให้จำเป็นต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ Internet ต่อ กทค. เพิ่มขึ้นอีก 1 ใบอนุญาต และต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีทั้งสองประเภทกิจการ
การก้าวเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันการให้บริการแบบหลอมรวมของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในตลาดเดียวกันกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการโทรทัศน์สูงกว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม
กล่าวโดยสรุปคือ
การเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการใบอนุญาตประกอบกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ในอัตราร้อยละ ๒เป็นอัตราที่สูงเกินไป ควรมีการแก้ไขโดยใช้อัตราเดียวกันกับกิจการโทรคมนาคม คือเริ่มต้นที่ร้อยละ ๐.๒๕ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยนในทางการตลาด ในการทำ Promotion ให้บริการ Internet แถมเคเบิลทีวี หรือ จะให้บริการเคเบิลทีวีแถม Internet เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันดังกล่าว หาก กสท.ยังคงเรียกเก็บในอัตราเดิมที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นต้องประสบกับปัญหาในด้านการแข่งขันกับกิจการโทรคมนาคม
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะขอนำเสนอต่อ กสทช.
ในฐานะที่ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นกลุ่มกิจการหนึ่งที่บทบัญญัติของกฎหมายให้การรับรอง และมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการ มีผู้สนใจและตั้งใจลงทุนประกอบธุรกิจโดยสุจริตเข้าร่วมประกอบการมานานกว่า 30 ปี มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์พัฒนามาก่อนจะเกิดระบบดิจิตอลในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงขอเสนอแนะเชิงนโยบายโดยขอเสนอให้ กสทช. ดำเนินนโยบายหรือยกเลิกประกาศที่ไม่เป็นธรรม ที่ส่งผลเป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น และเพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันการล่มสลายหรือล้มละลายของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น จึงขอเสนอแนะเชิงนโยบายให้กสทช.ดำเนินการแก้ไขหรือป้องกันดังต่อไปนี้
1. ให้ กสทช. ยกเลิกประกาศฯ Must Carry และ หลักเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ช่องรายการ และ หลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งช่องรายการ 1-36 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อให้ช่องรายการต่างๆ มีการแข่งขันบนโครงข่ายโทรทัศน์อื่นๆ ได้โดยเสรีและเป็นธรรม
2. ให้ กสทช. จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการโทรทัศน์แบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบกิจการรายเล็กซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการที่มีคุณภาพได้ หรือ หลัก Wholesale Must Offer
3. ให้ กสทช. พิจารณาเรียกเก็บเงินค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ตั้งแต่ 0 ถึง 100 ล้านบาท ในอัตราเริ่มต้นของอัตราค่าธรรมเนียมที่ร้อยละ 0.25 เช่นเดียวกับกิจการโทรคมนาคม
4. ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการใช้สาย Fiber Optic เพื่อเชื่อมโครงข่ายระบบโครงข่ายของเคเบิลทีวีท้องถิ่นระหว่าง จังหวัดกับจังหวัด ระหว่างจังหวัดไปสู่อำเภอ ไปสู่ตำบล และไปสู่หมู่บ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตรายการข่าวเพื่อชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ OTOP ในแต่ละท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
5. ให้ กสทช. สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการให้บริการของเคเบิลทีวีท้องถิ่นจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital โดยจัดสรรงบประมาณค่ากล่องรับสัญญาณมูลค่า 690 บาทให้กับประชาชนที่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นทุกรายที่ต้องการเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล ภายในกรอบระยะเวลาช่วงหนึ่งที่เหมาะสม
6. ให้ กสทช.กำกับดูแล และมีมาตรการเพื่อป้องกันการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ ในลักษณะเป็นการทุ่มตลาด หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพื่อกีดกันมิให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นสามารถแข่งขันได้ หรือต้องออกจากตลาดในที่สุด
ในกรณีที่ กสทช.ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอแนะนี้จะส่งผลให้การประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยระหว่างผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ระดับชาติ กับผู้ประกอบกิจการรายเล็กระดับท้องถิ่น สามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมอันจะนำมาซึ่งประโยชน์กับประชาชนในระดับท้องถิ่นในการมีสื่อโทรทัศน์ในท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนกระบอกเสียงของแต่ละท้องถิ่น และมีช่องทางในการโฆษณาสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากให้มีความยั่งยืนในระดับชาติได้ต่อไป