เขียนถึงโรงเรียนในวัยเยาว์
"บ้านเมืองวุ่นวายเพราะเด็กอัสสัมศรีราชา สนธิ ลิ้มทองกุล ขัดแย้งกับเด็กมงฟอร์ต ทักษิณ ชินวัตร เด็กอัสสัมลำปาง สะพรั่ง กัลยาณมิตรจึงเข้าไปช่วยยึดอำนาจ สุดท้ายตำแหน่งนายกฯใหม่กลับกลายเป็นของเด็กเซนต์คาเบรียล สุรยุทธ์ จุลานนท์"
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง เขียนถึงโรงเรียนในวัยเยาว์
-----
คนไทยคนหนึ่งนั้นไม่ควรเป็นเพียงคนชาติไทย เขาควรเป็นคนของภาคและของท้องถิ่นด้วย ไม่ควรมีแต่ชาตินิยมควรมีภาคนิยมและถิ่นนิยมด้วย แต่ความรักในถิ่นและภาคต้องอยู่รวมในความรักชาติ และ จะให้ดียิ่งขึ้นต้องเสริมความรักชาติ
ผมเป็นคนภาคเหนือตอนบน--เกิดที่ลำปาง ญาติพี่น้องอยู่เชียงราย อยู่ในวัฒนธรรมล้านนา พูดภาษาไทยล้านนาได้ก่อนภาษาไทยกลาง เรียนในวัยเยาว์จนถึงอายุ15-16 ปีที่จังหวัดลำปางนั่นเอง
จากอนุบาลถึง ป 1 ผมเรียนที่โรงเรียน ลำปางวิทยาและ โรงเรียนอรุโณทัย จำอะไรไม่ค่อยได้ เว้นแต่ตอนที่วิ่งไปทุบและแกะฝาด้านหลังของวิทยุใหญ่ของโรงเรียนลำปางวิทยาเพื่อค้นหาคนที่สงสัยว่าแอบไปซ่อนพูดอยู่ในวิทยุ ครูหัวเราะกันท้ังโรงเรียน
จากชั้น ป 2 นักเรียนทั้งหมด ถูกย้ายไปเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ซึ่งเพิ่งจะมาเปิดได้สองปี เรียนอยู่ที่นี่ถึง 9ปี สะสมวิชาความรู้ทักษะและวิธีคิดที่สำคัญ ที่จะนำไปใช้ต่อที่กรุงเทพฯ
มองย้อนหลังช่างโชคดีและบังเอิญเหลือเกินที่ได้เรียนกับอธิการ บราเดอร์ (ภราดา) และมัสเซอร์ (ครู) ที่ดีเลิศระดับตำนาน และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในดวงใจของศิษย์แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเรียนเก่งหรือไม่ จะเรียบร้อยหรือจะเกเรซุกซน จะไม่เคยถูกเฆี่ยนตีหรือมีแผลฟกช้ำจากไม้เรียวเป็นประจำ
ในชีวิต ท่านผู้อ่านจะเห็น เรียนในโรงเรียนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเก่าแก่ทั้งนั้น ดวงคงไปได้ดีกับอะไรที่เก่า ขรึม ขลัง ที่มีประวัติยาวนาน แต่เมื่อเริ่มเรียนตอนเด็กปรากฏว่า โรงเรียนอัสสัมชัญลำปางนั้น เพิ่งตั้งขึ้นมา สดๆร้อนๆ จากคณะผู้บริหารจากเครืออัสสัมชัญ-เซนต์คาเบรียลในกรุงเทพฯ
โรงเรียนนอัสสัมชัญและเซนต์คาเบรียลนั้นเก่าแก่ เป็นสถาบันที่อยู่มานานเป็นที่รู้จักทั้งประเทศ แต่ โรงเรียนอัสสัมชัญลำปางนั้น ตอนพวกผมย้ายไปอยู่ เพิ่งตั้งได้สองปี เราจึงมีโชควาสนา--คิดย้อนหลังอีกแล้ว -- ได้เห็นโรงเรียนที่เขามีเกียรติประวัติในกรุงเทพฯ เมื่อเขาขยายตัวไปต่างจังหวัด เขาสร้างโรงเรียนใหม่ให้ได้มาตรฐานสูงอย่างโรงเรียนเก่าได้อย่างไร ในเวลาอันสั้นมากๆ
มีอธิการวัยกลางคนค่อนไปทางสูงวัยจากประเทศสเปน ชื่อ บราเดอร์เซราฟิน สิ้นไปแล้วเวลานี้ ภาพที่ผมจำได้เกี่ยวกับท่านในปี 2504 คือ ฝรั่งขาวจั๊วะ ลุยโคลน ฝ่าดง แหวกหญ้า พร้อมกับวิศวกร สถาปนิก นายช่าง และคนงานบัญชาการสร้างเรือนไม้เพิ่มเติม
ยังมีบราเดอร์คนไทย คนสำคัญ แต่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก บราเดอร์ฟิลิปส์ ท่านนี้เป็นผู้นำทางวิชาการ ห้องเรียนและเรือนไม้นั้นเอาแค่พอใช้ได้รอตึกหลังแรกได้ แต่วิชาการนั้นรอไม่ได้
ตั้งแต่วันแรกท่านประกาศชัด "ไม่มีสองมาตรฐาน" ถ้าพูดตามภาษาทุกวันน้ี ให้บราเดอร์และมัสเซอร์ของท่านทุกคนใช้มาตรฐานและตำราที่ใช้ใน อัสสัมชัญ และเซนต์คาเบรียลเกือบทั้งหมด ท่านสอนหลายวิชารวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย สะสมผีเสื้อเก่งอยู่ในระดับโลก อ้อ เวลาท่านสอนวิทยาศาสตร์ท่านยังใช้ตำราภาษาอังกฤษด้วยครับ บราเดอร์อีกสองคนที่เหลือย้ายไปย้ายมาบ่อยหน่อย ส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรปหรืออินเดีย คนสำคัญคนหนึ่งต่อมาจะเป็นอธิการคนสำคัญคือบราเดอร์อเล็กซานเดอร์ชาวอินเดียใต้
ยกเว้นเด็กที่เข้าแต่อนุบาล พวกเราไม่มีใครมาตรฐานพร้อมจะเรียนอย่างนั้น ภาษาอังกฤษก็อ่อนแบบเด็กไทย ทีอรุโณทัยเราใช้ตำราไทยหมด หรือเด็กที่ย้ายมาจากโรงเรียนไหนในลำปางก็ถือว่า "อ่อน" ทั้งนั้น และ มัสเซอร์ของเราก็อาศัยศิษย์เก่ามงฟอร์ตหรือเซนต์คาเบรียลได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องอาศัยศิษย์เก่าชั้นหัวกะทิจาก โรงเรียนชายประจำจังหวัด โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ครูที่จัดว่าเก่งช่ำชองและย้ายมาจาก เคนเนท แมคเคนซี ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือเดียวกับ ปรินซรอย และ กรุงเทพคริสเตียน
ภาระที่หนักอึ้งของอธิการและบราเดอร์ฟิลิปส์ คือต้องคัดท้ายครูให้เข้ามาอยู่ในมาตรฐานใหม่แบบอัสสัมชัญเซนต์คาเบรียล และรีบยกระดับเด็กนักเรียนในทุกด้านให้สูงขึ้นอย่างฉับพลันที่สุด
ทั้งหมดนี้ ท่านทำได้สำเร็จในเวลาห้าปีด้วยเหตุผลสองประการ
ประการหนึ่งนักเรียนและผู้ปกครองรักดี ผู้ปกครองร่วมกับโรงเรียนเต็มที่ ครูตีกลับบ้านมาพ่อแม่สั่งสอนต่อบางทีก็ช่วยตีซ้ำ สอง ทุกคนเชื่อในคำขวัญของโรงเรียน Labor Omnia Vincit หรือ Work wins all วิริยะอุสาหะ คือคำตอบ ท่อง ทำซ้ำ ทำการบ้านหนัก เรียนพิเศษเสริม อยู่เย็น กลับบ้านไม่ได้จนกว่าจะท่องศัพท์ภาษาอังกฤษได้จนครบ พ่อแม่ทำได้ก็เพียงมารอข้างห้องให้กำลังใจ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ ป.2 ถึง ป. 4
หลักของโรงเรียนง่ายๆ ตอนเด็กให้เรียน บังคับให้มีระเบียบวินัย ตกเป็นตก ได้เป็นได้ เรียนไม่พอสอนเสริม ขยันอดทนคือนิสัยที่ได้ติดตัวมากันทุกคน แต่น่าคิดที่เราเคารพรักครู เคารพบูชาอธิการ จริงๆแล้วเรากลัวท่านมากๆด้วย นักบวชฝรั่งนี่เขาเป็นยอดนักลงทัณฑ์ ตีเจ็บจริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เหล่านักเรียนรู้สึกตลอดคือเขาดุจริง แต่เขาเก่งมากๆ เขาดีมากๆ
ลึกๆ เราอดสงสารบรรดาบราเดอร์นักบวชเหล่านี้ที่ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาประพฤติพรหมจรรย์ มาเผยแพร่ความรู้ มาสร้างคนไทยรุ่นใหม่ขึ้นมา ท่านเหล่านี้ เสียสละมาอยู่มาทำงานในประเทศที่ไกลพ้นและกินอยู่ลำบากมาก พูดง่ายๆ โรงเรียนไม่ได้มีเพียงวิชาการ หากยังตรลบอบอวลด้วยแรงบันดาลใจอันเห็นได้จากการครองตน ครองงาน ครองใจ ของเหล่าผู้นำของโรงเรียน
บราเดอร์ฟิลิปส์นี้ท่านเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ แต่ทำงานอยู่เซนต์คาเบรียลตั้งแต่ก่อนย้ายมาบุกเบิกทีลำปาง ท่านเป็นอธิการต่อจากบราเดอร์เซราฟินและต่อมาตอนผมอยู่ชั้น ป.4 ท่านจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงดูแลโรงเรียนเครืออัสสัมชัญเซนต์คาเบรียลมงฟอร์ตเซนต์หลุยส์ทั้งหมดในไทย ท่านเป็นบราเดอร์ไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ ต่อมาท่านยังกลับไปเป็นอธิการเซนต์คาเบรียลอีกหลายครั้ง
ท่านผู้นี้นำเอาสี "น้ำเงินขาว" ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลมาให้อัสสัมชัญลำปางด้วย ตกลงเราเป็นสองโรงเรียนในเครือที่ไม่ใช้สีแดงขาว และเพลงประจำโรงเรียนของเราก็ใช้ทั้งเพลงสดุดีอัสสัมชัญแบบโรงเรียนอัสสัมชัญและเพลง น้ำเงินและขาวคือดาวสวรรค์แบบเซนต์คาเบรียลด้วย วันนี้ท่านชรามากแล้วอายุใกล้จะเก้าสิบแล้ว
ลูกศิษย์ของครูอาจารย์ยุคบุกเบิกนี้หลายต่อหลายคนกลายเป็นนักธุรกิจนักวิชาชีพนักวิชาการและผู้มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาอยู่ในลำปางและจังหวัดใกล้เคียง นายกเทศมนตรีสองคนหลังของนครลำปางนี่ก็ใช่ ส.ส. ของจังหวัดหลายคนก็ใช่ ผู้ว่าราชการก็หลายคน นักสร้างหนังระดับแนวหน้าของประเทศหรือเอเชีย ก็มี ศาสตราจารย์ที่รอบรู้ ศิลปวัฒนธรรมล้านนาก็มี นักประวัติศาสตร์ชั้นครูของไทย คือ รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ก็ใช่ เลขาธิการ ครม. ก็ยังเคยมี คุณสุรชัย ภู่ประเสริฐ ที่เป็นตำรวจทหารจนติดยศพลเอกก็หลายท่าน โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็น พพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ไงครับ
ปีที่ โรงเรียนครบห้าสิบปี เขามอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นให้หลายท่าน ผมก็ได้กับเขาด้วย แต่คนที่เด่นที่สุดคือ พล.อ.สพรั่ง อดีต แม่ทัพภาค3 ผู้นำทหารจากภาคเหนือลงไปยึดอำนาจในกรุงเทพฯ มีคนพูดขำๆในงานมาเข้าหู
"บ้านเมืองวุ่นวายเพราะเด็กอัสสัมศรีราชา สนธิ ลิ้มทองกุล ขัดแย้งกับเด็กมงฟอร์ต ทักษิณ ชินวัตร เด็กอัสสัมลำปาง สะพรั่ง กัลยาณมิตรจึงเข้าไปช่วยยึดอำนาจ สุดท้ายตำแหน่งนายกฯใหม่กลับกลายเป็นของเด็กเซนต์คาเบรียล สุรยุทธ์ จุลานนท์"
ผมเรียนดีมากครับที่อัสสัมชัญลำปางจาก ป.2-ป.7 ไม่ที่หนึ่งก็สอง พอ มศ. 1-3 ไม่เคยได้ที่อะไรอีกเว้นแต่ 1 และยังเป็นที่ 1 ของทั้งชั้น ซึ่งมีสี่ห้อง เป็นหัวหน้าชั้นตั้งแต่ ป.4 ถึง มศ.3 และตอนอยู่ชั้นนี้ยังได้รับเลือกตั้งจากนักเรียนทั้งโรงเรียนให้เป็นประธานนักเรียน นั่นคือปี 2512 นั่นเป็นชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต เป็นประธานนักเรียนจากการเลือกตั้งคนแรกของโรงเรียน ส่วนครั้งที่สองคือปลายปี 2518 ต่อ 2519 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อยากบอกอะไรถึงโรงเรียนในวันนี้ ?
อยากจะบอกว่าอธิการ บราเดอร์ มัสเซอร์ ทำได้อย่างไร อัสสัมชัญลำปางตอนผมเรียนนั้นสอนและอบรมได้ดีเลิศไม่แพ้โรงเรียนใดในประเทศ มัสเซอร์ที่สอนวิทยาศาสตร์ชื่อ วิศิษฐ์ สมพงษ์ สอนสนุกและลึกมาก เด่นระดับประเทศ เสียชีวิตไปแล้ว มัสเซอร์ที่สอนภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ เชษฐ์ คติวัฒน์ นี่ก็เสียไปแล้ว ท่านสอนเก่ง เร้าใจ ระดับประเทศอีกผมเชื่อ เมื่อผมเขียนบูรพาภิวัตน์ ภาพที่ท่านผู้นี้สอนอย่างเหน็ดเหนื่อยแต่เพลิดเพลินยิ่งอยู่ในหัวผมตลอดเวลา ครูครับ ผมเอาอะไร จากครูเยอะเลย มัสเซอร์ที่สอนคณิตศาสตร์พีชคณิตเรขาคณิตใช้ทั้งตำราไทยและอังกฤษสอนดีมากโดยเฉพาะมัสเซอร์จันทร์แดงและมัสเซอร์สุรัตน์ ประทานโทษนามสกุลยังนึกไม่ออก สอนยังไงไม่ทราบแม้แต่ผมซึ่งไม่ชอบวิชาเหล่านี้เลย ได้ท้อป ของชั้น เป็นประจำ
ที่สุด ตอนที่เขียนหนังสือและบทความหรือไปสอนต่างประเทศด้วยภาษาอังกฤษคราใด จะจำไม่ลืมเลยว่าผมได้ครูดีที่สุด ระดับประเทศอีก ที่นั่น มัสเซอร์บุรี บราเดอร์สมพงษ์ บราเดอร์ประโยชน์ มาสวน อธิการอิลเดฟองโซ สุดจะพรรณนาในความสามารถลูกศิษย์ตัวเล็กคนหนึ่งของท่านในวันนั้น ทุกวันนี้ยังใช้ภาษาอังกฤษที่ท่านสอน รูปประโยค ศัพท์ สำนวน ได้จากครูที่อัสสัมชัญลำปางไม่น้อย
สุดท้ายขอเอ่ยถึงมัสเซอร์อีกสองคน ไพบูลย์ พันแสง ท่านอายุกว่าเจ็ดสิบแล้ว แต่ยังเป็นสายใยรัดตรึงผมกับโรงเรียน ท่านเป็นครูลูกเสือผมครับ บ่มเพาะบุคคลิกลูกเสือและความเป็นผู้นำให้กับผมและเพื่อนแต่เยาวัย อีก ท่านหนึ่ง มัสเซอร์ศุภกิจ นิมมานนรเทพ กว่าเจ็ดสิบเช่นกัน เคยเป็นรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ท่านไม่ได้สอนผมที่โรงเรียน แต่เมตตาสอนผมเสมอเมื่อมาพบกันทีธรรมศาสตร์และยังเหมือนมัสเซอร์ตลอดไป Once a teacher, always a teacher. ในวัย62 นี้ เหงา และคิดถึงครูเก่าเสมอ ยามนี้ไปไหนมีแต่คนเรียกอาจารย์แต่บอกจริงๆ อยากเจอครูเก่าและกราบท่านบ้าง
แม้ทุกวันนี้ภาพของผมจะเป็นคนส่วนกลาง คนกรุงเทพฯ บางคนกรุณายกย่องเป็นนักคิดนักวิชาการของชาติหรือนานาชาติ แต่ผมเริ่มที่ลำปาง คิดนึกรู้สึกแบบคนภาคเหนือ ล้านนา เป็นปฐม ภูมิใจเสมอที่เกิดลำปาง โตในเมืองลำปาง และจะระลึกตลอดกาลว่าโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง เป็นเหมือนแม่คนแรกในทางสติปัญญา Sempler fidelis, always loyal to the school !