สจล. นำแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ลงพื้นที่ถามชุมชนจรัญฯ 72
สจล.เผยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ยันเลี่ยงการใช้พื้นที่ในแม่น้ำ ด้านรองผจก.โครงการยันไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แต่ห่วงเรื่องตอม่อที่ปักลงแม่น้ำ
วันที่ 26 ก.ค. 59 โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาการสำรวจวิจัยและออกแบบจัดทำผังแม่บท 57 กม. และออกแบบรายละเอียดระยะนำร่อง 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ลงพื้นที่ชุมชนจรัญสนิทวงศ์ 72 บริเวณวัดอาวุธวิกสิตาราม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 33 ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา ที่อยู่ติดแม่น้ำ
ผศ.นพปฏล สุวัจนานนท์ รองผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุด หลังจากได้เผยแพร่งาน 12 แผนของระยะนำร่องไปแล้ว สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่บนฐานมรดกวัฒนธรรม ให้เป็นมรดกชาติในแนวทางมรดกโลก โดยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และที่ผ่านมาทีมงานและชุมชนได้ร่วมกันสืบค้นอัตลักษณ์ แนวทางพัฒนาพื้นที่และความต้องการของชุมชน ขณะนี้แบบได้ทยอยเสร็จ กำลังลงพื้นที่เพื่อนำแบบไปเสนอและรับฟังความเห็นจากชุมชน
“วันนี้ทีมงานฯ นำแบบมาให้ชุมชนได้เห็นภาพ ถ้าไม่เห็นภาพจะนึกไม่ออก เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ในแม่น้ำ แต่จะใช้พื้นที่ริมแม่น้ำให้ได้มากที่สุด ยึดตามความต้องการของชุมชนเป็นหลักว่าต้องการแบบไหน ถ้าชุมชนไม่ต้องการ เราก็ไม่ทำ ส่วนจะอ้อมให้หรืออ้อมไปเชื่อมกับถนนใหญ่ใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่”
ผศ.นพปฏล กล่าวว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนนั้น ได้แยกย้ายออกไปหลายทีม ตอนนี้เป็นขั้นตอนของการรวบรวม จึงไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขที่แน่ชัด ทั้ง 33 ชุมชนคาดว่าสามารถลงพื้นที่ครบอย่างแน่นอน
“สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน ส่วนการรับฟังความคิดเห็นการลงพื้นที่แต่ละชุมชนนั้นจะมีทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งชุมชนจรัญสนิทวงศ์ 72 ถือเป็นการลงพื้นที่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว"
ด้าน ดร.กมล เรืองเกียรติกมลา รองผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาที่มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าตั้งแต่เริ่มทำโครงการทั้ง 33 ชุมชน ลงพื้นที่ครบหมดแล้ว เรียกว่า เกือบอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
“ในเบื้องต้น พบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่อยากจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนคือการที่นำแบบไปคุยกับชุมชนเรื่อยๆ จนสุดท้ายได้สิ่งที่ชุมชนต้องการ ผมเชื่อว่าแบบสุดท้ายที่ออกมาเป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง” ดร.กมล กล่าว และว่า สำหรับการศึกษามีระยะเวลาตาม TOR 210 วัน ขณะนี้เร่งมือทำงานกันอย่างมาก เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จภายในกรอบเวลา
เมื่อถามถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดร.กมล กล่าวว่า ดำเนินการไปตามแผน โดยศึกษาในแง่ของผลกระทบชุมชนและผลกระทบทางด้านนิเวศด้วย ทุกอย่างสอดรับกับแผนหมด
“ที่กังวล คือการทำทางเดินลงน้ำ ข้อดีคือจะไม่มีผลกระทบต่อการเวนคืนพื้นที่ แต่สิ่งที่ห่วงคือเสาตอม่อที่เราจะปักลงน้ำจะมีผลกระทบต่อระบบริมแม่น้ำหรือไม่ เบื้องต้นที่เราสร้างแบบจำลองออกมาแทบไม่ผลกระทบ โดยขนาดของตอม่อขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน แต่รับรองเลยว่าตอม่อจะไม่ใหญ่มากจนสร้างความไม่สวยงามและการไม่ยอมรับในชุมชน”