บทบาทตุรกีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ช่วงนี้ตุรกีกำลังเป็นที่สนใจ ไม่เฉพาะกับคนไทยแต่คนทั้งโลกกำลังจับตามองเช่นกัน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การพยายามก่อรัฐประหารในตุรกี แม้ว่าเราจะให้ความสนใจเหตุการณ์ดังกล่าว แต่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าไทยกับตุรกีนั้นห่างไกลกัน ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างกันชัดเจนนัก...
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของตุรกีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย คุณอัสมะ ตันหยงดาโอะ นักวิจัยอิสระ งานวิจัยชิ้นนี้มีมุมมองใหม่มานำเสนอ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า แท้จริงแล้ว ไทยกับตุรกีมีความสัมพันธ์กันพอสมควร ทั้งด้านการค้าการลงทุน การเยี่ยมเยือนในระดับผู้นำประเทศ และการสนับสนุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศตุรกีได้เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่กว่า 10 ปีมาแล้ว โดยให้ความช่วยเหลือทางสังคม และสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นหลัก
มัสยิดในพื้นที่โรงเรียนบูรณาการศึกษาวิทยา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี สร้างโดยมูลนิธิการกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ iHH
ทำไมตุรกีถึงเข้ามาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเทศตุรกีช่วงสิบกว่าปีนับตั้งแต่การขึ้นมาบริหารประเทศของนายเออร์โดกัน จากพรรค AK นับว่ามีเสถียรภาพมากขึ้นทั้งทางด้านทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง (แม้จะได้ยินข่าวว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจแย่ลง และเกิดเหตุการณ์การพยายามก่อรัฐประหาร) จึงได้พยายามสร้างบทบาทในเวทีโลกให้มากขึ้น โดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ 360 องศาและนโยบายเชิงรุก ในทางหนึ่ง คือการใช้ Soft Power ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศอื่นๆ ซึ่งพื้นที่ที่ตุรกีเลือกที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือมักเป็นพื้นที่ที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามและเกิดปัญหาความขัดแย้ง เช่น พื้นที่ขัดแย้งในตะวันออกกลาง และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐอาระกันของพม่า (มีชาวมุสลิมโรฮิงญา) และฟิลิปปินส์ใต้ บริเวณเกาะมินดาเนา รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2004
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และการให้การสนับสนุนของประเทศตุรกีต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 1)การสร้างอาคารที่พักให้เด็กกำพร้าและสร้างมัสยิด 2)การให้ความช่วยเหลือเรื่องการทำกรุบาน 3)การให้ถุงยังชีพแก่ผู้ยากจน และการเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน 4)การสนับสนุนทุนการศึกษาในพื้นที่ และการศึกษาต่อที่ประเทศตุรกี 5)การจัดรถรับส่งเด็กกำพร้าเพื่อเดินทางไปโรงเรียน และ 6)การให้ความช่วยเหลืองบสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวด้านวัฒนธรรม
องค์กรของตุรกีที่เข้ามามีบทบาทในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
องค์กรของตุรกีที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือองค์กรพัฒนาเอกชนจากตุรกี และส่วนที่สองคือความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาลตุรกี
องค์กรพัฒนาเอกชนจากตุรกีที่เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายองค์กร ดำเนินงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลานาน มีความต่อเนื่อง และทำงานร่วมกับองค์กรในพื้นที่หลายแห่ง แต่มีบางองค์กรที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือเพียงระยะสั้นๆ และลักษณะการให้ความช่วยเหลือของแต่ละองค์กรต่อพื้นที่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น มูลนิธิ iHH เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2005 ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่พักให้แก่เด็กกำพร้า ค่าครองชีพในแต่ละวันและทุนการศึกษาของเด็กกำพร้า นอกจากนี้ยังให้งบสนับสนุนซื้อวัวสำหรับทำกรุบาน ให้ถุงยังชีพแก่ผู้ยากจน และเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน
องค์กร CARE เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานในประเด็นเชิงศาสนามากที่สุด และองค์กร WEFA (Weltweiter Einsatz für Arme) องค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาเป็นระยะเวลาสั้นๆ และมิได้ต่อเนื่อง มักเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการทำกรุบาน เป็นต้น
บรรยากาศการเปิดบวชร่วมกันในเดือนรอมฎอน ปี พ.ศ.2558 โดยจัดที่สถาบันศึกษานูรุลญีนาน เพื่อเด็กกำพร้าและเยาวชนทั่วไป
ด้านหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือภายใต้หน่วยงานของรัฐบาล ประกอบไปด้วย สถานทูตตุรกีประจำประเทศไทย สนับสนุนทุนการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศตุรกี องค์กรดียานัต เป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการศาสนาประเทศตุรกี สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน สร้างมัสยิด การเลี้ยงอาหารละศีลอดในเดือนรอมฎอน การให้ความช่วยเหลือเรื่องการทำกรุบาน และการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่เพื่อศึกษาต่อระดับมัธยมปลายที่ประเทศตุรกี และ องค์กร TIKA ให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการสานต่องานจากองค์กรพัฒนาเอกชนของตุรกีที่ได้ดำเนินอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น การสานต่อโครงการก่อสร้างหอพักเด็กกำพร้าโรงเรียนฟุรกอน อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จากที่ก่อนหน้านั้นผู้รับผิดชอบโครงการ คือ องค์กร iHH
การเตรียมเชือดวัวกรุบานที่ได้รับจากองค์กร iHH
บทบาทการทำงานขององค์กรจากประเทศตุรกีที่สำคัญและเห็นได้ชัดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้าในพื้นที่ หรือการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่บางวาระ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการศึกษาที่ตุรกีจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น ตุรกีได้มอบทุนรัฐบาลให้แก่นักเรียนและนักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาต่อในสายสามัญและศาสนาปีละประมาณ 20 ทุน ตามข้อมูลเมื่อปี 2014 มีนักเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียนที่ตุรกีจำนวน 90 คน และมูลนิธิ iHH ได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิการกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจน เพื่อก่อตั้งโรงเรียนบูรณาการศึกษาวิทยาขึ้นในค.ศ. 2012
นอกจากนี้ องค์กรจากตุรกียังได้สนับสนุนการสร้างอาคารที่พักสำหรับเด็กกำพร้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สถาบันศึกษานูรุลญีนาน ปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 59 คน สถานที่เลี่ยงเด็กกำพร้าเมอสรา ได้รับงบประมาณสำหรับก่อสร้างจำนวน 3.7 ล้านบาท และหอพักเด็กกำพร้าอัซซาอาดะห์ ปัจจุบันมีเด็กกำพร้าที่อยู่ในความดูแลจำนวน 52 คน
ความแตกต่างระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศอาหรับอื่นๆ ในการให้ความช่วยเหลือ
1. รูปแบบความช่วยเหลือ ประเทศอาหรับส่วนใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่มักจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนงานทางด้านศาสนาอิสลาม อาทิ การสร้างอาคารมัสยิดในหมู่บ้าน การสร้างสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เน้นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับศาสนา เป็นต้น ในขณะที่ประเทศตุรกีเข้ามาให้ความสนับสนุนงานทางด้านสังคมเป็นหลัก อาทิ เรื่องเด็กกำพร้า หรือการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่
2. ลักษณะของการดำเนินงานและการติดตามการดำเนินงาน กลุ่มประเทศอาหรับจะมอบเงินสนับสนุนให้กับองค์กรตัวแทนในพื้นที่และเป็นผู้บริหารจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวโดยตรง และติดตามงานเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ ส่วนองค์กรจากประเทศตุรกีเป็นในลักษณะที่องค์กรพื้นที่ที่รับความช่วยเหลือต้องเขียนรายงานความคืบหน้าของโครงการตลอดทุก 3 เดือน อีกทั้งยังมีตัวแทนจากองค์กรจากประเทศตุรกี มาติดตามงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ
3. พื้นที่การให้ความช่วยเหลือ กลุ่มประเทศอาหรับมักจะให้ความช่วยเหลือในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายหรือมีความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับ หรือมักมีสถานที่ตั้งและดำเนินการอยู่ในเขตเมือง ในขณะที่พื้นที่การให้ความช่วยเหลือขององค์กรจากประเทศตุรกีกระจายอยู่ในทั้งสามจังหวัด และกระจายตัวอยู่ในอำเภอและชุมชนเล็กๆ มากกว่า
ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ต่อบทบาทของตุรกีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้วิจัยได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานขององค์กรจากประเทศตุรกีในพื้นที่ พบว่ามีความเห็นที่หลากหลาย โดยความคิดเห็นเชิงบวกนั้น มีความเห็นว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปได้อย่างดี เข้าถึงประชาชน แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาก่อน และมีการทำงานที่เป็นระบบ ติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และมีความต่อเนื่องในการช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในความดูแล ส่วนข้อกังวลนั้น พบว่า มีข้อจำกัดในการประสานงาน เพราะองค์กรจากตุรกีที่เข้ามาจะประสานงานเฉพาะกับกลุ่มที่ตนรู้จักมาก่อนแล้วเท่านั้น ทำให้องค์กรขนาดเล็กในไทยที่ไม่เคยติดต่อประสานงานด้วยไม่ได้รับความช่วยเหลือทั้งๆ ที่มีเด็กกำพร้าในการดูแลกว่า 3,000 คน และยังมีอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้สื่อสาร นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือยังขาดมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งขาดการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานหรือกิจกรรมอย่างทั่วถึง
ตุรกีเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนในสามจังหวัดของไทยมากว่าสิบปี เห็นได้จากสถิติปี 2014 มีนักเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียนที่ตุรกีจำนวน 90 คน รวมทั้งรัฐบาลตุรกีได้ให้ทุนแก่นักเรียนและนักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาต่อในสายสามัญและศาสนาปีละประมาณ 20 ทุน โดยทำงานผ่านองค์กรที่เข้ามาฝังตัวในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่สามจังหวัด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีทัศนคติที่ดีกับตุรกีมากพอสมควร และการที่ตุรกีเข้ามาให้ความช่วยเหลือในไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของรัฐบาลพรรค AK ภายใต้การนำของนายเออร์โดกัน ที่ต้องการเพิ่มบทบาทตุรกีในเวทีโลก โดยดำเนินนโยบาย 360 องศา ให้ความสนใจทุกภูมิภาค ซึ่งวิธีหนึ่งที่ใช้คือการใช้ Soft Power ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการศึกษา ทั้งในประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย(ตุรกีสร้างค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนตุรกี-ซีเรีย) และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐอาระกันของพม่า และฟิลิปปินส์ใต้ บริเวณเกาะมินดาเนา รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ดังนั้น ในขั้นต้นที่สุด คนไทยควรตระหนักถึง Soft power ของตุรกีที่ไม่ใช่เพียงเข้ามาหน้าประตูบ้านเรา แต่ได้เข้ามาฝังและเติบโตอยู่กับคนของเราในสามจังหวัดมานานเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็ไม่ใช่รู้เพื่อกลัวหรือระแวง แต่เราต้องใช้โอกาสที่เขาเข้ามาในไทยนี้ทำประโยชน์ในแก่ประเทศ ขยายความสัมพันธ์ทางด้านอื่นให้มากขึ้น เช่นทางด้านการค้าการลงทุน
นอกจากนี้ ต้องศึกษาเรียนรู้การใช้นโยบายต่างประเทศของตุรกี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ประเทศของเราว่าเราควรดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกบ้างหรือยัง และเขามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้สามารถดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้