หมอประเวศ : รวมศูนย์อำนาจต้นตอชาติวุ่น
การปาฐกถาพิเศษล่าสุดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ทั้งๆ ที่มีอาการป่วยรุมเร้า ชี้เปรี้ยงการรวมศูนย์อำนาจคือต้นตอปัญหาชาติ ทั้งขัดแย้งทางวัฒนธรรม ทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีชายแดนใต้เป็นตัวอย่างที่ดี แนะชุมชนท้องถิ่นแสดงบทบาท สร้างพลังขับเคลื่อนสู่จุดเปลี่ยน "ใต้สันติสุข"
การปาฐกถาดังกล่าวเกิดขึ้นบนเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน" ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์แรกของปี 2555 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งจัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนของสมัชชาปฏิรูป มีประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างหนาแน่น
คนทอดทิ้งกันเพราะ "อำนาจ-เงิน"
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า แนวคิดไม่ทอดทิ้งกัน ถือเป็นหลักการที่ใหญ่มาก เพราะว่าสังคมทั่วโลกวิกฤติอย่างมาก นั่นเป็นเพราะไปถือหลักการอื่น คือ หลักการเรื่องอำนาจและเงินเป็นสำคัญ ทำให้เกิดการทอดทิ้งกัน เกิดการแบ่งแยก เกิดเหตุความขัดแย้ง ทำลายสังคม ทำลายเศรษฐกิจ การเอาเปรียบกันต่างๆ นานาทั่วโลก เกิดวิกฤตการณ์ไปทั่ว ทั้งวิกฤติธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มาบรรจบ เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกเลยทีเดียว และไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์นั้นด้วย เพราะเราไม่ถือหลักเคารพพระผู้เป็นเจ้าหรือเคารพหลักธรรมชาติที่ว่ามนุษย์และธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน จะทอดทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะทำอะไรต้องคิดถึงทั้งหมด การถืออำนาจและเงินเป็นใหญ่ นอกจากเป็นการไม่เคารพหลักการตัวนี้แล้ว ทำให้เกิดการทอดทิ้งกันด้วย
ฉะนั้นหลักการ "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน" จึงเป็นหลักการที่ใหญ่มาก จากนี้ไปจึงเป็นรูปธรรมของการที่จะทำงานต่อไป ก็คือการ "รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ" ของทุกองค์กรในพื้นที่ ในทุกเรื่องและทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระดับชาติ ถ้าเรามีการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ นอกจากจะเป็นหลักการประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นหลักการที่สร้างจิตสำนึกใหม่ด้วย นั่นคือการใช้หลักธรรม เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช้อำนาจและเงินเป็นใหญ่ และไม่ใช่ใช้อำนาจสั่งการโดยคนอื่นไม่ได้มีส่วนร่วม
"รวมศูนย์อำนาจ" ต้นตอขัดแย้งวัฒนธรรม
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดในประเทศคือ "การรวมศูนย์อำนาจ" และการรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ มี 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ โดยมีคุณค่าร่วมกัน มีความเชื่อ มีขนบธรรมเนียมประเพณี วิธีปฏิบัติต่างๆ นานาร่วมกัน เป็นวิถีชีวิตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและสงบสุข แต่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั้น อยากให้เหมือนๆ กันไปหมด ทั้งด้วยอำนาจของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการใช้พละกำลังตำรวจทหารก็ตาม ก็เกิดความขัดแย้งไปทั่วประเทศ เป็นการขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และอาการต่างๆ นานาที่ออกมาชัดเจนที่สุดก็คือที่ชายแดนใต้ที่เกิดเป็นความรุนแรงขึ้น
ประการที่ 2 การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้ส่วนกลไกของรัฐต่างๆ ทำงานโดยใช้อำนาจ ไม่ได้ใช้ความรู้และปัญญา การใช้อำนาจสั่งการไปทั่วในสังคมที่ซับซ้อนและยากในปัจจุบันนั้น นอกจากจะไม่เกิดผลแล้ว กลับทำให้เกิดสิ่งแทรกซ้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูกลไกของรัฐทั้งทางราชการและทางการเมืองจะเห็นว่ามีสมรรถนะน้อยที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะเรียกว่าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ทั้งความยากจน สิ่งแวดล้อม หรือความรุนแรง เพราะกลไกของรัฐที่ใช้อำนาจ แต่ไม่ใช้ความรู้ ไม่ใช้ปัญญา
ต้นเหตุของทุจริต ความรุนแรง และรัฐประหาร
ประการที่ 3 การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้กลไกของรัฐจะมีการทุจริต คอร์รัปชั่นมาก อันนี้เป็นหลักสากล เป็นสัจธรรม เพราะถ้าอำนาจเข้มข้นที่ไหน คอร์รัปชั่นหรือการทุจริตก็จะมากที่นั่น เป็นการบ่อนทำลายประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่ 4 การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดการแย่งอำนาจกันอย่างรุนแรง ต้นเหตุให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองก็เพราะการรวมศูนย์อำนาจ แต่ถ้าอำนาจกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นทั้งหมดโดยทั่วถึง ก็ไม่มีใครอยากมาแย่งอำนาจอะไร ผลประโยชน์ก็หาไม่ได้ คนที่จะเข้ามาทำงานก็ทำเพื่อบ้านเมือง มีความสามารถและมีความสุจริต ไม่ใช่มาเพื่อหาผลประโยชน์กันอย่างทุกวันนี้
ประการที่ 5 การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย เพราะอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ การยึดอำนาจก็ใช้กำลังแค่ไม่กี่คน แต่ถ้าอำนาจกระจายไปหมด ก็จะไม่มีทางยึดอำนาจได้ เพราะไม่รู้จะยึดที่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ประเทศที่เขากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยทั่วถึงจะไม่มีการรัฐประหาร เพราะมันทำไม่ได้ มันยึดไม่ได้
ยกสวิตเซอร์แลนด์ "กระจายอำนาจแก้โกง"
"ดูอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เราอาจคิดว่าเป็นประเทศที่ดีและน่าอยู่ แต่ย้อนหลังไปร้อยกว่าปีเขาเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น โคตรโกง โกงทั้งโคตร เพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่อย่างเราทุกวันนี้ เมื่อเขารู้ตรงนี้ เขาก็ทำการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึง มีประชากร 6 ล้านคน แต่อำนาจนั้นกระจายไปสู่ 26 ท้องถิ่น เป็นแคนตอน (canton) 23 แคนตอน กับอีก 3 ที่เป็นเซมิออโตเมติก หรือกึ่งอัตโนมัติ รวมเป็น 26 แห่ง ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้โดยตรง เข้ามาควบคุมการบริหารท้องถิ่นได้ หลายเรื่องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นประชาธิปไตยโดยตรง คอร์รัปชั่นก็หายไป"
"ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยอยู่ตรงนี้ ตลอดเวลาเกือบ 80 ปีที่เรียกว่าประชาธิปไตย มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจที่ระดับบนเท่านั้น ฉะนั้นสมัชชาสภาประชาสังคม ชื่อก็บอกแล้ว “ประชาสังคม” แปลว่า สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นเรื่องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น" ประธานสมัชชาปฏิรูป กล่าว
ชูจัดการ "นโยบาย-พัฒนาอย่างบูรณาการ"
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ได้ชูประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย คือ ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดมีการจัดการตัวเอง จังหวัดที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงก็เป็นกลุ่มจังหวัดที่ควรจะจัดการตัวเอง ถ้าถามว่าจัดการตัวเอง จัดการอะไร คำตอบคือจัดการ 2 อย่าง ได้แก่ 1.การจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ และ 2.การจัดการเชิงนโยบาย
การจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษาและประชาธิปไตยไปด้วยกัน เมื่อชุมชนจัดการตนเอง มีสภาผู้นำชุมชนที่มีผู้นำตามธรรมชาติรวมตัวกัน ซึ่งในชุมชนที่เราเห็นก็มีอยู่ (หมายถึงชายแดนใต้) ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะครู อิหม่าม และผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติสูงกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งและโดยการแต่งตั้ง คือ 1.เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม 2.เป็นคนสุจริต 3.เป็นคนฉลาด มีสติปัญญา เป็นคนรอบรู้ 4.เป็นผู้ที่สื่อสารเก่ง
เมื่อมีคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ การยอมรับของคนทั่วไปก็จะเกิดอัตโนมัติ ซึ่งจะแตกต่างกับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้งที่ขาดในเรื่องความสุจริตหรือการมีสติปัญญา หรือการใช้อำนาจ ใช้เงินทองเพื่อให้ได้ตำแหน่งมา
"ฉะนั้น ผู้นำธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนเป็นผู้นำที่มีคุณภาพสูง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านอาจจะมี 40-50 คน ลองคิดดูเรามี 80,000 หมู่บ้าน (หมายถึงทั่วประเทศ) ถ้าเอา 50 คูณ ก็ประมาณ 4-5 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่มาก ถ้าเรามองข้างบนไปที่นักการเมือง เราเกือบจะมองไม่เห็นเลยว่ามีคนที่สุจริต มีสติปัญญาสูง มีคนที่เห็นแก่ส่วนรวมมาก ขณะที่ชุมชนนั้นมีจำนวนมากเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเราจับตรงนี้ให้ได้ว่าชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนจัดการตัวเอง เราจะมีผู้นำที่มีคุณภาพเรียกว่าสูงสุด" ศ.นพ.ประเวศ ระบุ
ราษฎรอาวุโส กล่าวอีกว่า การจัดการเชิงนโยบายเป็นการดูว่านโยบายไหนบ้างที่จะมาส่งผลกระทบหรือรบกวนความสงบสุขของประชาชน ต้องรบกวนหรือกระทบน้อยที่สุดจึงจะสามารถขับเคลื่อนได้ เพราะว่าการจัดการพัฒนาอย่างมีบูรณาการนั้น นำไปสู่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
แนะขับเคลื่อนต่อเนื่องจนถึง "จุดเปลี่ยน"
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า สำหรับสมัชชาเฉพาะประเด็นที่ชายแดนใต้ จุดใหญ่จะเป็นการสร้างประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น สร้างความร่วมมือกัน เป็นการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำกันอย่างที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งจะสะท้อนกลับไปทำให้การเมืองระดับชาติดีขึ้น ระบบกลไกของรัฐดีขึ้น คอร์รัปชั่นน้อยลง สมรรถนะทางกลไกรัฐจะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่ามีฐานที่แข็งแรง ที่ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นนั้นเหมือนเป็นฐานปิรามิดของสังคม หรือฐานพระเจดีย์ของสังคม ถ้าฐานแข็งแรงแล้ว ก็จะรองรับสังคมทั้งหมดให้มั่นคง
กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น หรือว่ากระบวนการสภาประชาสังคมต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราไม่ใช่ทำครั้งเดียวและมีข้อเสนอไป แต่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไปเลย กระบวนการนี้เมื่อขับเคลื่อนไปจะทำให้เกิดพลังมากขึ้น เป็นการสะสมพลังตัวเองเป็นพลังทางสังคมและพลังทางปัญญา จริงๆแล้วเป็นพลังทางจิตวิญญาณด้วย เมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่เรียกว่า เทิร์นนิ่งพอยท์ (Turning Point) พอถึงจุดเปลี่ยนแล้ว จะไม่หันกลับไปจุดเดิม
และจุดเปลี่ยนนั้นคือเกิดสังคมสันติสุขในชายแดนใต้!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.manager.co.th