ดร.มานะ ชี้ร่างรธน.เป็นคุณ-เอื้อประโยชน์แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
พลเมืองเสวนา จัดเวที บ่องตง ประชามติ เท ไม่เท วิพากษ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 6 ด้าน คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ การศึกษา และคำถามพ่วงประชามติ
วันที่ 23 กรกฎาคม พลเมืองเสวนา จัดเวที บ่องตง ประชามติ เท ไม่เท ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการวิพากษ์เกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ใน 6 ด้าน ได้แก่ คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ การศึกษา และคำถามพ่วงประชามติ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) กล่าวตอนหนึ่งถึงร่างรัฐธรรมนูญ 279 มาตรา มีไม่น้อยกว่า 53 มาตรา เกี่ยวข้องกับเรื่องปราบโกง บางส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเขียนโดยแบ่งหมวดหมู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบคุณธรรม การเปิดเผยข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศ
การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นภาคการเมือง ดร.มานะ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มีการระบุถึงการคัดกรองคนเข้าสู่ภาคการเมือง การมีส่วนได้เสียมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำงบประมาณ กำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน กำหนดมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระด้วย
ส่วนการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นในภาคประชาชน เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า ในมาตรา 63 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ในหลายๆพื้นที่ เป็นสิทธิและอำนาจของประชาชนในการฟ้องร้อง ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเชื่อมโยงสิทธิการเข้าถึงข้อมูข่าวสาร" ดร.มานะ กล่าว และว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีหลายๆ เรื่องที่ใจไม่ถึง แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ เช่น เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการด้วยระบบคุณธรรม การกำหนดคุณธรรมจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่ามาตรฐานคนทั่วไป พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของส.ส. สมาชิก และผู้ปฏิบัติงาน การแก้บทบาทเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักกาารเมือง เป็นต้น
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคุณ หรือเอื้อประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ ดีที่สุดเท่าที่มีมา โดยมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมหลายๆ อย่าง
"การแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศ เราไม่ได้มองเรื่องแค่รัฐธรรมนูญ แต่มองลึกถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างมากกว่า"
ขณะที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ นายศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า หายากมาก โดยพบว่า อยู่ในมาตรา 258 ปฏิรูปด้านอื่นๆ พูดถึงระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำจัดขยะมูลฝอย จะดีกว่านี้ได้อีก หากมีการกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างชัดเจน
"ที่ไม่โอเคสุด คือ การรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหายไปหลายเรื่อง ในมาตรา 43 (2) และมาตรา 57 (2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรอง คำว่า ชุมชนเฉยๆ ขณะที่เมื่อเทียบรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ จะมีคำว่า ชุมชน ชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม มีการรับรองไว้อยู่"
นายศุภกิจ กล่าวถึงมาตรา 58 กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ถามว่า วัดอย่างไร เรียกว่า มีผลกระทบรุนแรง ขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ประชาชนมีสิทธิได้รับข้อมูลแสดงความคิดเห็น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หายไป โดยเฉพาะกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่หายไปเลย
ด้านน.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ประเด็น สาธารณสุขและสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญเขียนเยอะไป หรือเขียนเกินก็ว่าได้
"สังคมไทยกลัวเรื่องการคอร์รัปชั่น กลัวประเทศไทยจะเป็นประชานิยมมากเกินไป ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อดีตเป็นนโยบายที่หวือหวา แต่ปัจจุบันมีกฎหมายรับรอง มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคยังอยู่ ไม่ล้มแน่นอน นอกจากมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งประชาชนต้องจับตาดูอย่ากระพริบตา"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากเวทีเสวนาจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกิจกรรมจำลองการลงประชามติ ผ่าน Application มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 280 คน ให้ความเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำถามพ่วง กรณีให้ส.ว.สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี