คณะรองแม่ทัพพบ"ทีมข่าวอิศรา" แจงสถิติป่วนใต้จ่อลดต่ำกว่าอาชญากรรมทั่วไป
คณะของรองแม่ทัพภาคที่ 4 เชิญ "ทีมข่าวอิศรา" เข้าพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังนำเสนอบทความ "ไฟใต้...ศึกในหนักกว่า!" ที่สะท้อนปัญหาทั้งการบริหารจัดการ การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลที่ยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่น่าพึงพอใจ
คณะพูดคุยทำความเข้าใจ นำโดย พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 และนายทหารที่รับผิดชอบงานสำคัญๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน ทั้งโครงการกำปงตักวา, ศูนย์สันติสุข และสำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่รับผิดชอบจัดทำสถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่
ประเด็นสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยทำความเข้าใจ คือ สถิติเหตุรุนแรงที่บทความของศูนย์ข่าวอิศราอ้างว่าไม่ได้ดีขึ้นจริง แต่สาเหตุที่ตัวเลขลดลงเพราะเปลี่ยนวิธีนับใหม่ และมีการเพิ่มกำลังทหารพรานเข้าคุมพื้นที่จำนวนมาก
ผู้แทนจากสำนักอำนวยการข่าวกรองฯ ชี้แจงว่า สถิติการก่อเหตุและการสูญเสียลดลงเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 55 จนถึงปี 59 ทั้งสถิติในภาพรวม และสถิติห้วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว
โดยปี 55 มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 982 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 648 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 279 เหตุการณ์ และอื่นๆ 55 เหตุการณ์
ปี 56 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 997 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 594 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 369 เหตุการณ์ และอื่นๆ 34 เหตุการณ์
ปี 57 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 941 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 584 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 330 เหตุการณ์ และอื่นๆ 27 เหตุการณ์
ปี 58 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 596 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 265 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 307 เหตุการณ์ และอื่นๆ 24 เหตุการณ์
ปี 59 (นับถึงเดือน ก.ค.) มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 437 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 248 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 189 เหตุการณ์
ทั้งนี้ การนับสถิติก่อเหตุและความสูญเสียของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นการนับตามปีงบประมาณ คือ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.ถึงวันที่ 30 ก.ย.ปีถัดไป ไม่ได้นับตามปีปฏิทินปกติ
ฉะนั้นในปี 59 แม้ขณะนี้จะอยู่ในเดือน ก.ค. มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว 248 เหตุการณ์ ใกล้เคียงกับปี 58 ที่มีเหตุความมั่นคง 265 เหตุการณ์ แต่เจ้าหน้าที่จากสำนักอำนวยการข่าวกรองฯก็เชื่อมั่นว่า ตัวเลขเหตุความมั่นคงของปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะทิศทางลดต่ำลงทุกปี และปีงบประมาณ 59 ก็เหลืออีกเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น (ถึงวันที่ 30 ก.ย.)
ส่วนสถิติการก่อเหตุห้วงเดือนรอมฎอน ก็มีแนวโน้มลดลงทุกปีเช่นเดียวกัน
โดยปี 55 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 121 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 72 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 39 เหตุการณ์ และไม่ทราบสาเหตุ 10 เหตุการณ์
ปี 56 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 274 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 222 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 47 เหตุการณ์ และไม่ทราบสาเหตุ 5 เหตุการณ์
ปี 57 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 68 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 40 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 25 เหตุการณ์ และไม่ทราบสาเหตุ 3 เหตุการณ์
ปี 58 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 104 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 67 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 36 เหตุการณ์ และไม่ทราบสาเหตุ 1 เหตุการณ์
ปี 59 มีเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 63 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 39 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป 22 เหตุการณ์ และไม่ทราบสาเหตุ 2 เหตุการณ์
เจ้าหน้าที่จากสำนักอำนวยการข่าวกรองฯ ระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในห้วงเดือนรอมฎอนมีแนวโน้มลดลงเหมือนสถานการณ์ภาพรวมในแต่ละปี ยกเว้นปี 56 ที่มีสถิติการก่อเหตุสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นปีที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่นำโดยแกนนำบีอาร์เอ็น
เจ้าหน้าที่คนเดียวกันยังอธิบายด้วยว่า การบันทึกสถิติการก่อเหตุของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร มีวิธีบันทึกแตกต่างจากหน่วยอื่น เช่น กรณีการแขวนป้ายผ้า หากมีการแขวนพร้อมกันหลายพื้นที่ หลายจังหวัด แต่เกิดเหตุในห้วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายทหารจะบันทึกเป็น 1 เหตุการณ์เท่านั้น เนื่องจากป้ายผ้าไม่ได้ส่งผลกระทบในด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่การนับของหน่วยอื่นจะนับ 1 จุดเป็น 1 เหตุการณ์ ฉะนั้นจำนวนอาจจะไม่เท่ากัน และการหยิบยกตัวเลขจำนวนการก่อเหตุไปอ้างถึง จึงอาจสื่อความหมายไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ได้
นอกจากนั้น การนำเสนอสถิติขององค์กรที่อ้างว่าเป็นองค์กรวิชาการบางแห่งในพื้นที่ ก็ไม่มีความแม่นยำ และไม่มีการแยกแยะเหตุความมั่นคงออกจากอาชญากรรมทั่วไป ทำให้ตัวเลขสูงเกินจริง
ด้วยเหตุนี้ การหยิบยกจำนวนการเกิดเหตุในพื้นที่ไปนำเสนอ จึงต้องมีความเข้าใจถึงการนับจำนวนสถิติการเกิดเหตุของแต่ละหน่วย แต่ละองค์กรด้วย เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพขวัญและกำลังใจ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ นักลงทุน นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ จนอาจเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าทางการปลุกระดมของฝ่ายสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง
ขณะที่รองแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้บรรยายถึงสถานการณ์จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมูลเหตุของปัญหาความขัดแย้ง และแนวทางแก้ไข โดยระบุตอนหนึ่งว่า "ตัวแสดง" ของปัญหานี้มีแค่ 3 ตัวแสดงเท่านั้น คือ ตัวแสดงที่เป็นรัฐ, ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ หรือ กลุ่มที่มีแนวทางสุดโต่ง และประชาชน โดยกลุ่มสุดโต่งใช้การเผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์ จนทำให้มีประชาชนเป็นแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เพื่อสั่นคลอนความเป็นรัฐ และความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐ
ฉะนั้นหากสื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างฉาบฉวยและไม่รู้เท่าทัน ก็จะส่งผลเป็นการสั่นคลอนอำนาจรัฐ ตรงตามความต้องการหรือเจตนาของฝ่ายที่มีแนวคิดสุดโต่ง
สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ โดยเฉพาะการหยุดความรุนแรงและความสูญเสียลงให้ได้ ซึ่งจากสถิติภาพรวมที่ผ่านมาก็พบว่าความรุนแรงและความสูญเสียลดลง ทั้งนี้ก็เพื่อสถาปนาหรือยืนยันความมั่นคงของอำนาจรัฐ และดึงประชาชนให้หันมาสนับสนุน เพื่อให้สมการกลับมาเป็น 2:1 และเอาชนะกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้ในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ
1 บรรยากาศการพบปะพูดคุย (บันทึกภาพโดยเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า)
2 และ 3 ภาพรวมสถิติการก่อเหตุทั้งห้วงเวลาปกติและห้วงเดือนรอมฎอน เปรียบเทียบปี 55-59
อ่านประกอบ :
1 กอ.รมน.ซัดบทความอิศราใช้จินตนาการ ยกโพลล์โต้ร้อยละ 71 ปลื้มคสช.ดับไฟใต้