ไม่คุ้มค่า! สตง.ชง ปธ.สภา กทม. ทบทวนสร้างทางจักรยาน-เจ๊ง 28 ล.
สตง. ทำหนังสือถึง ปธ.สภา กทม. ทบทวนโครงการก่อสร้าง-ปรับปรุงเส้นทางจักรยานทั่ว กทม. หลังพบไม่เกิดประโยชน์แท้จริง ไม่คุ้มค้า ประชาชนใช้งานน้อย ทำเสียหายกว่า 28 ล้าน จี้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
แหล่งข่าวจากสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ทำหนังสือถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร (ร้อยตำรวจตรี เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ) ขอให้ทบทวนและปรับปรุงแก้ไขโครงการก่อสร้างพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางจักรยานของ กทม. เนื่องจากพบปัญหาหลายประการ และพบความไม่คุ้มค่าของเงินในการปรับปรุงรวมเป็นเงินกว่า 28 ล้านบาท
สำหรับหนังสือ สตง. ดังกล่าว ระบุว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางจักรยานดังกล่าว พบว่า ปัจจุบัน กทม. ก่อสร้างไปแล้ว 54 เส้นทางในถนนสายหลัก (ไม่รวมถนนสายรองที่ดำเนินการโดยสำนักงานเขต) รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร ขณะที่ในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 ได้ปรับปรุงเส้นทาง 6 เส้น รวมระยะทางประมาณ 49.69 กิโลเมตร ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 54.99 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จแล้ว 5 เส้นทาง เหลือ 1 เส้นทาง
แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์เส้นทางจักรยานที่ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 2 เส้นทาง (17 ถนน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนหลักสายในเมือง เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุฯ พบว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุงรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท
ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด เนื่องจากเส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานหรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อยมาก ประมาณ 5-10 รายต่อวัน (ยกเว้นหน่วยงานที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานโดยการปิดถนน) และอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น
นอกจากนี้พบว่า มีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานบริเวณวงเวียนใหญ่ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการที่กำหนด และมีข้อสังเกตการออกแบบติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงบริเวณเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์อาจเกินความจำเป็น ในขณะที่มีการติดตั้งหลักพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงอยู่ในจุดเดียวกันอยู่แล้ว ทำให้เป็นการไม่ประหยัดเงินงบประมาณรวมมูลค่า 3.41 ล้านบาท
ดังนั้น สตง. เห็นว่าโครงการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางจักรยาน กทม. เจอสภาพปัญหาข้างต้น จะส่งผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนไม่สอดคล้อง ตามวิถีชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้การดำเนินงานของ กทม. ไม่สารถบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ อีกทั้งเป็นการใช้จ่ายเงินโดยไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล และไม่เกิดความคุ้มค่า ซึ่ง สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาดำเนินการทบทวน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานแล้ว งขอให้ กทม. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. โดยเคร่งครัด และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบเส้นทางจักรยานจาก sanook