ล้วงเหตุผล! กทม. VS สตง.แลกหมัดปมจัดซื้อรถดับเพลิงเล็กคุ้มหรือเสีย?
“…จึงขอให้ กทม. ดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี หากพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขาย ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย และหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้กับ กทม. ด้วย และแจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 30 วัน…”
“หาก กทม. ยังจะใช้งานรถกู้ภัยดังกล่าวอีกอาจใช้งานไม่สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับเงินงบประมาณแผ่นดิน และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชน … ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง จึงขอให้ กทม. ดำเนินการทบทวนการจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็กระยะที่ 1 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชน และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง นอกจากนี้ให้แจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 30 วัน เพื่อประกอบการตรวจสอบว่าด้วย พ.ร.บ.สตง. หากพ้นกำหนดนี้ สตง. จำเป็นต้องแจ้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป”
เป็นส่วนท้ายของหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก (รถดับเพลิง) วงเงินกว่า 158 ล้านบาท ซึ่งตกเฉลี่ยคันละประมาณ 7.9 ล้านบาท ให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) รับทราบ และต้องการให้ทบทวนการดำเนินการดังกล่าว มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558
(อ่านประกอบ : ปัญหาเพียบยังดันทุรังซื้อ! สตง.สั่งเช็คเบิลรถดับเพลิงเล็ก-จี้กทม.ฟันวินัยขรก., เผยผลสอบ สตง.บี้ กทม.ทบทวนซื้อรถดับเพลิง-ไม่เชื่อส่ง ศอตช.เช็คบิล)
ทว่า ทาง กทม. ไม่เลิกล้มความพยายามในการจัดซื้อครั้งนี้ แม้การจัดซื้อหลายครั้งต่อมามีการยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง กระทั่งได้เซ็นสัญญากับเอกชนอย่างเป็นทางการ ?
พร้อมกับทำหนังสือชี้แจง ‘สวน’ ไปยัง สตง. ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กดังกล่าว ซึ่งทาง สตง. ได้พิจารณาอีกครั้ง แต่ก็ยังเชื่อได้ว่าการจัดซื้อดังกล่าวอาจเข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนบางแห่งอยู่ดี
ข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือของ สตง. ที่เสนอเรื่องกลับไปให้ผู้ว่าฯ กทม. ทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวอีกครั้ง สรุปได้ดังนี้
กทม. ชี้แจงสรุปได้ทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กดังกล่าว เพื่อให้ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์รวมความเจริญในทุกด้านและมีตรอกซอยขนาดเล็กซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยชุมชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และรถดับเพลิงขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ จึงจำเป็นต้องจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าปฏิบัติงานแทนได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโดยการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว
สอง การทดสอบการเข้าถึงจุดเกิดเหตุที่ใช้เวลาเกินมาตรฐานนั้น กทม. ได้กำหนดในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุสาธารณภัยกำหนดให้เข้าถึงสถานที่เกิดเหตุ ไม่เกิน 10 นาที แต่ปัจจุบันสภาพการจราจรที่แออัดในแต่ละห้วงเวลาแต่ละสภาพทางร่างกายของสถานที่เกิดเหตุซึ่ง กทม. คาดหวังว่ารถกู้ภัยขนาดเล็กที่คล่องตัวจะทำให้การเดินทางเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุรวดเร็วยิ่งขึ้น
สาม การทดสอบใช้งานและรถกู้ภัยขนาดเล็กไม่สามารถเข้าตรอกซอยที่กำหนดไว้นั้น กทม. เห็นด้วยกับหลักการดับเพลิงในชุมชนในเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน ให้ประชาชนใช้เครื่องดับเพลิงชนิดยกหิ้วแบบถัง และการเตรียมเครื่องดับเพลิงชนิดหาบหามต่อจากหัวจ่ายน้ำประปา และแหล่งน้ำตามธรรมชาติภายในชุมชน แต่กรณีดังกล่าวมีข้อจำกัดบางชุมชนอาจไม่สามารถติดตั้งหัวจ่ายดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ได้ เนื่องจากท่อน้ำหลักมีขนาดเล็ก กรณีตรอก ซอยคับแคบ จากข้อมูล กทม. มีพื้นที่ตรอก ซอย ประมาณ 5,121 ตรอกและซอย แบ่งเป็นตรอกและซอยที่มีความกว้างตั้งแต่ 1-2 เมตร ประมาณ 100 ตรอกและซอย (ซึ่งมีความยาวประมาณ 50-300 เมตร) คิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และตรอกซยอที่มีความกว้างเกินกว่า 2 เมตร ประมาณ 5,021 ตรอกและซอย
จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่า มีปัจจัยสำคัญในการดำเนินการดับเพลิงและกู้ภัยที่มีสภาพการปฏิบัติงานที่หลากหลายตามสภาพทางกายภาพ แต่ละพื้นที่ ดังนั้น กทม. จึงต้องมีรถกู้ภัยหลายประเภทเพื่อตอบสนองการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุที่แตกต่างกัน และตามสภาพความพร้อมของพื้นที่ในชุมชนนั้น ๆ อนึ่งตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น รถกู้ภัยขนาดเล็กมีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและกู้ภัยหลายชนิดสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายของตามวัตถุประสงค์แล้ว
สี่ ความคุ้มค่าของโครงการนี้ กทม. คาดหวังว่า รถกู้ภัยดังกล่าวจักคุ้มค่าต่อการใช้งานด้านการดับเพลิงและกู้ภัยเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่ง กทม. จักได้ประเมินผลการใช้งานจริงและรายงานให้ทราบต่อไป โดย กทม. ได้ส่งสำเนาสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม TOR (ครั้งที่ 1) ซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้แก้ไขรายละเอียดและแคตตาล็อกแล้ว โดยแก้ไขขนาดและมิติของรถกู้ภัยเล็ก ในส่วนของขนาดความยาวให้มากขึ้น และลดขนาดความสูงให้เตี้ยลง (ดูเอกสารประกอบ)
สตง. ตอบกลับมา 2 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง กรณี กทม. ชี้แจงว่า มีพื้นที่ตรอกและซอยที่มีความกว้างตั้งแต่ 1-2 เมตร ประมาณ 100 ตรอกและซอย คิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมดที่ทำให้รถกู้ภัยขนาดเล็กไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้นั้น ข้อชี้แจงดังกล่าวยังไม่มีพยานเอกสารหลักฐานสนับสนุนมาแสดงตามข้อกล่าวอ้าง เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า หากรถกู้ภัยขนาดเล็กยังไม่อาจใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และไม่สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นหน้าที่ กทม. จะต้องหาตัวผู้รับผิดชดใช้ความเสียหายจากการไม่ได้ใช้งานหรือใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์การจัดหา
สอง กรณีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) เกี่ยวกับการแก้ไขรายละเอียด ขนาด และมิติของรถกู้ภัยขนาดเล็ก แต่ทางบริษัทเอกชนได้ผลิตและแจ้งส่งมอบรถตามขนาดและมิติเดิมก่อนการแก้ไขสัญญา จึงได้ยื่นเรื่องขอให้แก้ไขขนาดตัวรถให้เป็นตามที่บริษัทผลิต ดังนั้นการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม จึงมิใช่เป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตามนัยข้อ 130 แห่ง ข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 จึงขอให้ กทม. ดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี หากพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขาย ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย และหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้กับ กทม. ด้วย และแจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 30 วันด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือข้อมูล-เหตุผลแลกกันแบบ ‘หมัดต่อหมัด’ ระหว่าง กทม. และ สตง. ในเรื่องปัญหาการจัดซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กดังกล่าว
แต่ข้อเท็จจริงชัด ๆ ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สงครามระหว่างระหว่าง กทม. และ สตง. ได้เปิดฉากขึ้นมาอีกรอบแล้ว !