กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
สมัชชาแม่น้ำ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการยับยั้งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้โครงการไม่มีความชัดเจน บิดเบือน ซัด สจล.รับฟังความเห็นเป็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ได้ถามความต้องการของประชาชน
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly-RA) ร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน กว่า 42 องค์กร จัดกิจกรรมล่องเรือเสวนา “นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการยับยั้งและหาทางออกกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงวิชาการให้ความสนใจเข้าร่วมงาน อาทิ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ, นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นายขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม, ดร.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นายมาโนช พุฒตาล ศิลปิน ,นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ตัวแทนเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ณ ท่าเรือสาธร
นายยศพล บุญสม สถาปนิก ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาล เป็นโครงการที่มีความเร่งด่วนอย่างมาก โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ใช้เวลาศึกษา 5 เดือนและจะนำไปสู่การประมูลการก่อสร้างในเดือนตุลาคมนี้ ในเดือนมกราคมปีหน้าถ้าหยุดยั้งโครงการนี้ไม่ทันจะเห็นเสาตอม่อต้นแรกปักลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่
"กระบวนการดำเนินงานของ สจล.ที่ผ่านมาในการตรวจสอบ รับฟังความคิดเห็น ที่ทางเครือข่ายสมัชชาติดตามมาโดยตลอด ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทำไปเพื่ออะไร และยังไม่มีการศึกษาในเรื่องของกระบวนการนโยบายสาธารณะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาควรจะฟื้นฟูได้อย่างไร แม่น้ำเจ้าพระยาควรจะมีทางเลียบจริงหรือไม่ ซึ่งทางเลียบแม่น้ำอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่รัฐบาลและ สจล. ยังไม่ได้ ให้คำตอบอย่างกระจ่างชัด และประเด็นที่มีการบิดเบือนข้อมูลว่า ประชาชนทั้ง 33 ชุมชนริมแม่น้ำเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แท้จริงแล้วในพื้นที่ยังมีการถกเถียงประเด็นนี้กันอยู่"
นายยศพล กล่าวถึงมติ ค.ร.ม. เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557 ระบุให้มีการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่เข้าไปในลำน้ำ จึงนำมาสู่การร่าง TOR ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้ว แต่การลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนเป็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์โครงการเท่านั้น ไม่ได้ถามความต้องการของประชาชนว่าจะเอาหรือไม่ เพราะผลสุดท้ายก็ต้องสร้างอยู่ดี และใน TOR มีการระบุอย่างชัดเจนถึงความกว้างที่ให้รถดับเพลิงและระบบสัญจรสาธารณะเข้าถึงได้ ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นอะไรไม่ได้เลยนอกจากถนนและทางเลียบที่มีความกว้างเข้ามาในลำน้ำ
"โครงการนี้นอกจากจะบิดเบือนข้อมูลและยังบิดเบือนละเมิดสิทธิต่างๆในการรับรู้ข่าวสารของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำรวมไปถึงประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกัน”
ทางด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการต้องไม่ใช่เพียงแค่การแจ้งให้ทราบเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจและรับฟังอย่างแท้จริง และส่งต่อข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น โครงการก็ควรจะเป็นโมฆะ เพราะนี่เป็นต้นทุนของประเทศชาติ ถ้าเราทุกคนร่วมกันแสดงออก มีพลังมากพอที่จะทำให้ภาครัฐรับฟังได้ ดังนั้น ได้โปรดรับฟังเสียงของทั้งสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
ขณะที่ นายมาโนช พุฒตาล ศิลปิน กล่าวว่า สังคมไทยไม่เคยถามชุมชนว่า พร้อมจะรับหรือไม่ การอ้างว่าทำเพื่อประเทศ แต่กลับไม่ถามหัวใจของคนในพื้นที่เลย เพราะสังคมไทยชอบตัดสินแทนคนอื่น คนที่จะมาตัดสินอนาคตแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเช่นผู้กำหนดนโยบายเคยอยู่กับแม่น้ำมาจริงหรือไม่ ซึ่งควรมีการถามพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่านี้ ควรหาความจริงว่าวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเจ้าพระยาคืออะไร
ปิดท้ายที่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่ต้องการทำตามต่างชาติ แต่หารู้ไม่ว่า เป็นการทำลาย ไม่ใช่แค่เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในโครงการ แต่จะทำลายตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง วัดป่าโมกวรวิหาร ,จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรังที่มีชุมชนคนอาศัยอยู่เรือนแพที่จะได้รับผลกระทบ เป็นต้น ปัญหาในการฟื้นฟูแม่น้ำที่เดินตามต่างชาติแต่ไม่เคารพระบบนิเวศดั้งเดิมหรือไม่เคารพแม่น้ำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะต้องกลับไปหา สัมมาทิฏฐิคือคิดให้ถูกต้อง เคารพธรรมชาติ ถึงจะแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำได้ตั้งประเด็นที่เห็นควรในการทักท้วงต่อการดำเนินงานของ สจล. หลายด้านที่อาจนำไปสู่การยุติโครงการ ดังนี้
1. ขาดผังแม่บทของการพัฒนา ประชาชนจึงมองไม่เห็นภาพรวมของการพัฒนาโครงการ
2. สจล. ยืนยันว่าจะทำเสร็จตามกำหนด 7 เดือนทั้งที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกับชุมชนได้
3. สจล. อ้างว่ายังไม่มีแบบรายละเอียด ซึ่งในความจริงนั้นมีบางส่วนและนำไปพูดคุยกับสถานที่ราชการริมแม่น้ำแล้ว แสดงถึงความไม่เปิดเผยตรงไปตรงมาต่อประชาชน
4. มีการยกประเด็นการท้าโครงการมรดกวัฒนธรรมให้เป็นสังคมเข้าใจว่าเป็นโครงการฟื้นฟูชุมชนทั้งที่ยังต้องมีการท้าทางเลียบแม่น้ำตามเอกสารจัดจ้างที่กำหนดให้มีทางที่รองรับน้ำหนักรถพยาบาลและรถดับเพลิงได้
5. การฟื้นฟูชุมชนและมรดกวัฒนธรรมเป็นการตีความเพิ่มเติมเอง มิได้อยู่ในเอกสารจัดจ้าง
6. สจล. ยืนยันจะทำทางเลียบแม่น้ำ โดยทางเดินในชุมชนเป็นทางเลือกในการสัญจร
7. ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปในลักษณะของการนำผลของการตัดสินใจมาประชาสัมพันธ์ต่อชุมชน
8. การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง
9. มีการบิดเบือนข้อมูลว่าชุมชนเห็นด้วยต่อการพัฒนา ซึ่งไม่เป็นความจริง
10. ไม่มีตัวแทนของสมาคมวิชาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมในคณะกรรมการ
11. ทั้งที่ประกาศว่ายังไม่มีรูปแบบรายละเอียดหรือผังแม่บทที่ชัดเจน แต่กลับดำเนินการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน
12. รูปแบบการใช้งบประมาณ 14,006 ล้านบาท ยังขาดความชัดเจน
13. เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายรุกล้ำลำน้ำตามกฎกระทรวงว่าด้วยการปลูกสร้างริมน้ำต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของที่ดิน
14. มติ ครม. ที่กำหนดให้ดำเนินการศึกษาทางเลียบแม่น้ำความกว้าง ขนาด 19.5 เมตรยังคงอยู่