คุยกับดร.ภาวิช ทองโรจน์ :หลายมหาวิทยาลัยมีปัญหาธรรมาภิบาล
"ขณะนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ปัญหาหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น การดำเนินการจะต้องสอดส่องให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ มหาวิทยาลัยไหนมีปัญหา แต่วิ่งเต้นไม่ถึงก็โดนประกาศออกมา แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไหนที่มีปัญหาแต่มีระบบวิ่งเต้นถึงก็รอดไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียขวัญและกำลังใจได้"
จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจะดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันเกิน 3 แห่งไม่ได้(2) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 2 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกิน 1 แห่ง (3) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 1 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกไดไ้ม่เกิน 2 แห่ง (4) ผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 4 แห่งแล้ว ไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีก
การใช้อํานาจตามมาตรา 44 จัดระเบียบสถาบันอุดมศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ นักวิชาการด้านการศึกษา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า จากสถานการณ์ปัญหาในมหาวิทยาลัยขณะนี้ ถ้ายังไม่มีมาตรการใดที่จะแก้ไขได้ การใช้คำสั่งมาตรา 44 ออกมาดำเนินการ จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็น
คำสั่งดังกล่าว มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. การวางหลักการ ถ้ามหาวิทยาลัยใดมีปัญหา จะต้องให้มีผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการได้ โดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ2. มีการมุ่งไปที่ 2 มหาวิทยาลัยแรกที่โดน คือมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นประเด็นเฉพาะ โดยทั้งสองประเด็นที่ว่ามานี้ จากสถานการณ์แล้ว มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
สำหรับมาตรการที่ออกมานี้ ถือเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ดร.ภาวิช ชี้ว่า เกิดขึ้นมานานแล้ว หลังจากรัฐบาลชุดนี้หมดวาระไปแล้ว ก็คงมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นมาอีก คำถามคือ หลังจากที่ออกมาตรา 44 ในครั้งนี้แล้วจะสร้างมาตรการที่เป็นลักษณะถาวรได้อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องคิดต่อ
"ขณะนี้ฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะถูกต้องตามหลักการ แต่ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาฯ จะต้องออกแบบมาให้ดีและครอบคลุมมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาอีกได้ในอนาคต”
ดร. ภาวิช ยืนยันว่า เรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นสิบปี "สมัยที่ผมเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาในช่วงนั้นมีหลักการอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ 1.รูปแบบในการบริหาร ทั้งที่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นส่วนราชการ เหมือนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.กลาง เพราะถ้าออก พ.ร.บ. กลางมาแล้ว มหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นต้องไปออก พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกเพื่อที่จะออกนอกระบบ โดยใน พ.ร.บ. กลางจะระบุให้ สภามหาวิทยาลัยเลือกใช้ระบบบริหารแบบไหนก็ได้ส่วนเรื่องของการออกนอกระบบ ก็ไม่มีความจำเป็น 2. ภายใต้ระบบการบริหารจะต้องให้หลักการเรื่องความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยไว้ด้วย ซึ่งการนิยามของคำว่า “ความเป็นอิสระ” ที่ว่านี้ คือการให้ความเป็นอิสระทางวิชาการ โดยต้องมีการกำหนดขอบเขต แต่ในขณะเดียวกันต้องให้อิสระกับทางมหาวิทยาลัยไว้ด้วย หลักการนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับกัน 3.ภายใต้ความเป็นอิสระ จะต้องมีระบบถ่วงดุลและมีหลักประกันในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการอย่างถูกต้องและมีธรรมาภิบาล ที่เป็นความรับผิดชอบหลักต่อสังคม 4. ระบบการเงินในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ถูกแยกเป็นสองระบบ ประกอบด้วย ระบบงบประมาณแผ่นดินและระบบงบประมาณเงินรายได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องโหว่บางอย่างขึ้นมา ดังนั้น การดำเนินการคือจะต้องให้ระบบการเงินทั้งสองนี้มีความสอดคล้องและตรวจสอบได้ง่าย ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจะต้องมีงบประมาณการเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินการด้วย
“สำหรับร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษา ที่กล่าวถึง 4 หลักการที่ว่านี้ ผ่านมา 10 กว่าปี ปัจจุบันนี้ได้กลายพันธุ์ไปเยอะแล้ว แต่ถ้าจะตั้งหลักใหม่ให้ดีคือ ในขณะนี้มีปัญหาเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย และปัญหาที่เกิดขึ้นนี้นำมาซึ่งมาตรา 44 เป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วย แต่ในระยะยาวจะทำอย่างไร ถ้าหากกลไกในการร่าง พ.ร.บ. กระทรวงศึกษาสร้างความหวังให้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบมาให้ดี “
ดร. ภาวิช บอกว่า ขณะนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ปัญหาหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น การดำเนินการจะต้องสอดส่องให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ มหาวิทยาลัยไหนมีปัญหา แต่วิ่งเต้นไม่ถึงก็โดนประกาศออกมา แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไหนที่มีปัญหาแต่มีระบบวิ่งเต้นถึงก็รอดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียขวัญและกำลังใจได้
ส่วนประเด็นเรื่องที่มีคำสั่ง ม.44 เนื้อหากำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัยดำรงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันได้ไม่เกิน 3 แห่ง และกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาได้ไม่เกิน 4 แห่ง นั้น นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ คสช. หยิบยกขึ้นมา แต่เป็น มติของคณะกรรมการการอุดมศึกษามาได้ 3 ปีแล้ว โดยมีสถานการณ์ในอดีต ที่มีนายกสภาบางคนดำรงตำแหน่งกว่า 10 แห่ง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง บางคนเป็นอยู่ 4-6 แห่ง
"มติของคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศออกไปแล้ว แต่ปัญหาคือ คณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่เป็นการออกคำสั่ง ดังนั้น ประกาศที่ออกมาจึงเป็นลักษณะการขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลที่ดี แต่ที่ผ่านมา มีบางกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความสนใจ"
สำหรับที่มาของประกาศคำสั่ง คสช. ในครั้งนี้ เขาชื่อว่า มาจากทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสนอขึ้นไปเพราะเห็นว่า มีปัญหา แต่คำสั่งที่มีการกำหนดนายกสภาได้ไม่เกิน 3 แห่ง และเป็นกรรมการสภาได้ไม่เกิน 4 แห่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่