ถวายงานด้วยการไปสอนที่ จปร
ฟังอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าคนไทยโชคดีเหลือเกินที่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทันสมัย ทรงรู้ลึกรู้กว้างและทรงรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทรงสนพระทัยในรายละเอียดทางการทูตที่อ่อนไหวและทรงพระปรีชาสามารถทางการทูตเป็นที่สุดหามิได้....
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ถวายงานด้วยการไปสอนที่ จปร
-----
เมื่อวันที่ 14 กค 2559 ริมเขื่อนบางลาง จ ยะลาเกือบใต้สุดของแผ่นดินไทย นั่งอยู่ในบ้านพักการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ยามเย็น ลมอ่อนๆพัดมาไม่หยุด ฟ้าฉ่ำ สายฝนพร่ำพรมลงมาเบาๆ ปลิวใส่ผิวหน้า เย็นสบาย มองไปรอบข้างเห็นแต่ขุนเขา สบายตาชื่นใจ ภูมิทัศน์เช่นนี้สะท้อนถึงความสมบูรณ์งดงามของพงไพรและบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของสถาบันที่รับเอาธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของตนอย่างเหมาะสม
บรรยากาศความรู้สึกเช่นนี้ ผมเคยสัมผัสและซึมซับมาก่อนสองครั้งในเดือนกันยายน 2556 และ พฤษภาคม 2557 ที่ รร นายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร) เชิงเขาชะโงก จ นครนายก
ผมได้รับเชิญจากทางโรงเรียนให้ไปช่วยสอนนักเรียนนายร้อยในหัวข้อท่ีเกี่ยวข้องกับบูรพาภิวัตน์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทูลกระหม่อมอาจารย์ของนักเรียนทั้งปวงจะทรงร่วมรับฟังการบรรยายและปุจฉาวิสัชนาด้วย
แม้หนักใจมากที่จะต้องบรรยายต่อหน้าพระพักตร์เจ้านายชั้นสูงผู้ทรงพระปรีชาญาณเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับจีน แต่เมื่อทรงพระราชทานงานสำคัญเช่นนั้นให้ และด้วยทราบถึงพระเมตตาของพระองค์ท่าน เชื่อมั่นว่าจะทรงแก้ไขในสิ่งที่ผมสอนบกพร่องผิดพลาดจึงตอบรับเชิญโรงเรียนไปด้วยความดีใจว่าจะได้ถวายงานทางวิชาการแม้จะน้อยนิดปานใดแด่พระองค์ท่าน
การสอนในเดือนกันยายนปี2556 นั้น มีนักเรียนราว40คน บรรยายประมาณสองชั่วโมงและเปลี่ยนไปห้องเล็กนั่งซักถามแลกเปลี่ยนต่ออีกหนึ่งชั่วโมงทูลกระหม่อมอาจารย์ทรงประทับฟังและทรงจดบันทึกตลอดเวลา บ่อยครั้งจะพระราชทานหลักวิชาหรือตัวอย่างให้นักเรียนด้วย
ในอาทิตย์แรกของวิชานั้นจะทรงแจกเอกสารประกอบการสอน ในฐานะเจ้าของวิชาทรงชี้ให้นักเรียนได้ทราบถึงแนวคิดเรื่องบูรพาภิวัตน์ โดยในเอกสารนั้น ทรงเล่าถึงนักวิชาการระหว่างประเทศที่เสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และทรงพระกรุณาเล่าว่าในไทยมี ศ ดร เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้และทรงเขียนในเอกสารว่าอาจารย์ผู้นี้จะมาสอนนักเรียนด้วย
ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านสนพระทัยในเรื่องที่ผมเขียนและให้นักเรียนอ่านหนังสือบูรพาภิวัตน์ของผม นักเรียนนายร้อย จปร ของทูลกระหม่อมอาจารย์น่าจะเป็นนักศึกษาไทยกลุ่มแรกๆ ที่ได้ศึกษาเรื่องบูรพาภิวัตน์ เป็นอย่างดี และจะรู้เรื่องสำคัญนี้ก่อนนักศึกษาหรือปัญญาชนที่อื่น ๆ
นักเรียนทุกคนตั้งอกตั้งใจเรียน หลายคนซักถาม ไม่มีใครสัปหงกหรือเผลอหลับ ทั้งที่เช้านั้นก่อนขึ้นเรียนก็ฝึก ทหารกันอย่างหนัก น่าจะเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียไม่น้อย แต่ความที่เป็นเรื่องใหม่ และเรื่องนี้ดูแล้วจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมาก และที่สำคัญที่สุดทูลกระหม่อมอาจารย์ทรงประทับกำกับอยู่ด้วย ทุกคนจึงตั้งใจเรียนสุดชีวิต มีคำถามดี ๆ หลายข้อ กล่าวได้ว่าสอนและเรียนกันได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่มีใครประหม่า
ขอเล่าให้ฟังบางส่วนเท่านั้นว่าในช่วงที่ผมพูดถึงว่าไทยจะใช้บูรพาภิวัตน์อันหมายความว่าบัดนี้โลกมาถึงช่วงสมัยที่ซีกตะวันออกโดยเฉพาะจีน และเอเชียรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีบทบาทมากขึ้นเช่นนี้ ไทยจะปรับนโยบายต่างประเทศได้อย่างไรบ้าง ผมยกตัวอย่างว่าไทยต้องเป็น"ไทยญาติเยอะ" สร้างความสัมพันธ์พิเศษที่แนบแน่นดุจญาติกับคนไทในจีนตอนใต้ คนไตในรัฐฉาน ของพม่า และในแคว้นอัสสัมของอินเดีย คนไทในเวียดนามตอนเหนือ รวมทั้งคนลาวในประเทศลาว
สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงพระสรวลกับคำว่า "ไทยญาติเยอะ" และตรัสเล่าว่าที่จริงพระองค์ท่านก็เคยเสด็จไปเยี่ยมคนไตในรัฐอัสสัม ซึ่งคนที่มารับเสด็จนั้นดีใจมากที่ได้เฝ้าใกล้ชิดและล้วนรู้สึกใกล้ชิดคนไทยและเมืองไทยมาก ตอนหนึ่งพวกเขากราบบังคมทูลแปลได้ความว่า "Princess ท่านไปทำโรงเรียนทำโรงพยาบาลให้หลายประเทศแล้ว ทำไมไม่มาทำให้พวกเราที่นี่ เราเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว" และทรงเล่าพระราชทานต่อว่า "แต่เราก็ต้องเกรงใจและระมัดระวังไม่ไปกระทบประเทศอินเดียเขา"
ในครั้งที่สองการบรรยายก็คล้ายครั้งแรกแต่คนเรียนมากขึ้น เป็นร้อยๆคน คุณภาพการเรียนก็ดีเหมือนเดิม แต่ไม่มีสัมนาต่อแบบครั้งที่แล้ว ทราบว่าในปีนั้นหลังจากจบวิชา พระองค์ท่านก็เสด็จนำนักเรียนไปทัศนศึกษาท่ีประเทศจีนต่อเลย
ในการไปสอนทั้งสองครั้ง จะเสด็จจากกรุงเทพฯแต่เช้ามืด มาประทับเตรียมสอน จนใกล้เวลาเรียนตอนเช้าก็เสด็จออกจากห้องทรงงานด้วยรถพระที่นั่งแล้วทรงงานสอนหรือร่วมสอนจนถึงเที่ยง ทรงพระราชทานอาหารเที่ยงแก่อาจารย์ที่มาถวายงาน โปรดเกล้าฯให้ร่วมโต๊ะเสวยและทรงสนทนาด้วยบนโต๊ะเสวยซึ่งจะมีผู้บัญชาการโรงเรียนร่วมอยู่ด้วยอีกท่านหนึ่ง
ทรงถามและทรงตอบคำถามบนโต๊ะเสวยอย่างนักปราชญ์และเจ้านายผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์อันยาวนานกับประมุขและผู้นำของดินแดนทั่วโลก เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำคนแรกของจีนที่ทรงรู้จักและสนทนาด้วย ทรงต้อนรับผู้นำสูงสุดของจีนทุกคน
ทรงเล่าให้ฟังว่าหูจิ่นเทาเป็นคนสุภาพถ่อมตัวและมีความจำเป็นเลิศ "จำได้ว่าเมื่อสองปีก่อนเคยรับปากจะทำอะไรให้ ยังจำได้ แต่ตอนนี้เพิ่งจะเริ่มทำให้ได้จริง" และ "ความจำเขาคงจะเป็นเลิศ หรือไม่ ระบบเลขาฯ ของจีนคงดีเยี่ยม"
ทรงเล่าพระราชทานด้วยว่าในหลวงทรงมีพระราชปฏิสันถารอะไรกับเติ้งเสี่ยวผิงซึ่งมาเยือนไทยในปี 2521 และเข้าร่วมอยู่ในงานพระราชพิธีทรงพระผนวชของสมเด็จพระบรมฯ ด้วยในครั้งนั้น
ทรงรับสั่งว่า "มีครั้งหนึ่งในหลวงทรงถามท่านเติ้งเสี่ยวผิงว่าจริงหรือเปล่าที่มีข่าวว่ามีคนเป็นจำนวนมากเสียชีวิตจากรัฐบาลพอลพต" ผมกราบทูลถามพระองค์ท่านว่า"แล้วเติ้งตอบไหมพะยะค่ะ" ท่านทรงเล่าต่อว่า "เขาเงียบไปพักหนึ่ง แล้วกล่าวต่อไปอย่างจริงจังว่าจะติดตามสอบถามเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะไม่ให้มีเรื่องอย่างนี้อีก"
ฟังอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าคนไทยโชคดีเหลือเกินที่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทันสมัย ทรงรู้ลึกรู้กว้างและทรงรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทรงสนพระทัยในรายละเอียดทางการทูตที่อ่อนไหวและทรงพระปรีชาสามารถทางการทูตเป็นที่สุดหามิได้
สมเด็จพระเทพรัตนฯยังทรงถามผมว่าในโลกทุกวันนี้เราควรจะเป็นชาตินิยมกันขนาดไหน ซึ่งประเด็นนี้ทรงขยายความต่อว่าเราควรจะสนใจดูแลช่วยเหลือคนต่างชาติและคนไร้สัญชาติหรือคนไร้รัฐด้วย เพราะเขาก็เป็นคนเหมือนกัน
ผมได้ฟังแล้วก็สรุปในใจว่าทรงมีพระเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ น้ำพระทัยแผ่ไพศาล ไม่มีเขตแดนรั้วกำแพงใดจะมากั้นขวางเอาไว้ได้ ขอจง ทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญ ของชาวไทย และพระราชทานสติปัญญาให้ไทยให้โลก ยาวนานที่สุด ตลอดกาลนาน
ในชีวิตวิชาการที่ผ่านมาสามสิบปีหากถามว่ามีช่วงชีวิตไหนที่ภูมิใจที่สุด คำตอบคือการได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ถวายงานสอนให้นักเรียนของท่าน ได้ร่วมโต๊ะเสวย และ ที่ถือว่าเป็น สูงสุดของชีวิต คือ ได้ฟังท่านเล่าเรื่องต่างๆมากมาย โดยไม่ถือพระองค์เลยแม้แต่น้อย ทรงให้เข้าเฝ้าใกล้ชิดถวายงานถึงสี่ห้าชั่วโมงต่อวัน มีอะไรอีกเล่าที่จะเป็นเกียรติยิ่งกว่านี้