ภาคประชาสังคมชี้ลงทุนข้ามพรมแดน ละเมิดสิทธิ์ ผลักแรงงานเขมรไหลเข้าไทย
ผอ.โครงการยุติธรรมกัมพูชา ชี้อุตสาหกรรมน้ำตาล ถือเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดเกาะกง และโอดอร์เมียนเจย รัฐบาลให้สัมปทานเอกชน จนเกิดปัญหาแย่งยึดที่ดิน คนยากจนได้รับผลกระทบหนัก เกิดการอพยพเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย ระบุนโยบายอุดหนุนทางภาษีของยุโรป EBA มีส่วนกระตุ้น ให้อุตสาหกรรมประเภทนี้เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น
วันที่ 14 กรกฎาคม โปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญา องค์กรยุติธรรมกัมพูชา และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จัดเวทีเสวนาระดับภูมิภาค (Regional Public Forum) การลงทุนข้ามพรมแดนกับการอพยพแรงงานในอาเซียน ความข้องเกี่ยวของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยกับแรงงานข้ามชาติกัมพูชา ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ โดยศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความชัดแย้งฯ กล่าวเปิดการเสวนา
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประธานมูลนิธิเสถียรโกเศศ นาคะประทีป กล่าวปาฐกถานำ ตอนหนึ่งถึงอุตสาหกรรมน้ำตาล ไม่ว่าจะเริ่มที่ไหน ที่นั่นจะมีการกดขี่แรงงานเสมอ สมัยฮอนแลนด์ไปตีบาหลี ซึ่งเป็นดินแดนสวยงาม จากที่ประชาชนเคยปลูกกล้วย ปลูกอ้อยเพื่อทำขนม บูชาเทพเจ้า บูชาเทวดา แต่พอฝรั่งเข้ามามีการปลูกอ้อยเป็นหมื่นๆ ไร่แทน และมีการมาตั้งโรงงานน้ำตาลทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำเน่าเสีย ขณะที่อังกฤษมีแรงงานทาสก็เพราะอุตสาหกรรมน้ำตาล เช่นเดียวกับสหรัฐฯ มีแรงงานทาสก็เพราะต้องการแรงงานจากแอฟริกามาทำงาน
“บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม ใช้วัตถุดิบน้ำตาลจากบริษัทไทย ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงให้เห็นเกี่ยวข้องกันอย่างไร เช่น การแสดงออกทางสัญลักษณ์ปฏิเสธการบริโภคน้ำตาลในโรงเรียน เกลือเราขาดไม่ได้ แต่น้ำตาลเราขาดได้สบาย การรณรงค์ต้องทำให้เหมือนเด็กในสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยลุกขึ้นปฏิเสธซื้อสินค้าจากประเทศจีนที่มีการกดขี่แรงงาน เป็นต้น”
ด้านนายเอียง วุดที ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมกัมพูชา กล่าวถึงภาพรวมที่ดินในประเทศกัมพูชา แบ่งเป็นที่ดินของเอกชน และที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถให้สัมปทานกับเอกชนเช่าที่ดินได้ ขณะที่คนในชนบทส่วนใหญ่ถือครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อมีกรณีพิพาทแย่งยึดที่ดินทำให้คนกัมพูชา ซึ่งเป็นคนยากจนอยู่ในภาวะยากลำบาก และเกิดการอพยพไปขายแรงงานราคาถูกในที่สุด
“อุตสาหกรรมน้ำตาล ถือเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น (Sugar Boom) ในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะที่จังหวัดเกาะกง และโอดอร์เมียนเจย จนเกิดปัญหาการแย่งยึดที่ดิน ประชาชนได้รับผลกระทบเกิดการอพยพแรงงานเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบกับสหภาพยุโรปได้ให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชา ครอบคลุมสินค้าเกือบทุกชนิด ยกเว้น อาวุธ ที่เรียกว่า โครงการ Everything But Arms: EBA ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมประเภทนี้เข้ามาลงทุนในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก”
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงสิทธิการถือครองที่ดินของเอกชนในประเทศกัมพูชาจะถือครองได้ไม่เกิน 1 หมื่นเฮกตาร์หรือประมาณ 5 พันไร่ แต่รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานกับเอกชนเป็นแสนไร่ โดยผ่านนอนินี
" การพัฒนาเศรษฐกิจกับการไร้เสถียรภาพทางการเมือง เห็นชัดในกัมพูชา และประเทศไทยนั้น ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่สมดุล จะเกิดความไม่เสถียรภาพทางการเมือง ไทยพบปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย เช่นเดียวกับคนกัมพูชา ถูกแย่งยึดที่ดิน ไม่มีที่ดินทำกิน ภาคเกษตรถูกทำลาย จึงอยู่ไม่ได้"
ขณะที่นางสาวเรโกะ ฮาริมา ผู้ประสานงานภูมิภาคเครือข่ายแรงงานแม่น้ำโขง (Mekong Migrant Network) กล่าวถึงผลการศึกษาการย้ายถิ่นอพยพของแรงงานกัมพูชาจำนวนมาก มีปัญหาที่ประเทศต้นทาง ไม่มีที่ดิน สูญเสียที่ดิน ถูกแย่งยึดที่ดิน จนทำให้เกิดการย้ายถิ่น
“เราได้เห็นว่า ปัญหาการแย่งยึดที่ดินมีผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของคนกัมพูชา ซึ่งถือว่า เป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลกัมพูชาคิดว่า หากพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้น สนับสนุนอุตสาหกรรมให้มาลงทุนในประเทศจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่การศึกษาพบว่า แม้มีการพัฒนาเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ประชาชนยังไม่มีที่ดินทำกินก็ไร้ประโยชน์ คนกัมพูชาก็ยังต้องจำใจอพยพเข้ามาทำงานที่ลำบากในประเทศไทย ทั้งแรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประมง ฉะนั้น เรื่องการอพยพย้ายถิ่น จึงไม่สามารถแยกออกจากปัญหาต่าๆงหลายๆ ปัญหามารวมกันได้”
ประสานงานภูมิภาคเครือข่ายแรงงานแม่น้ำโขง กล่าวด้วยว่า แรงงานอพยพย้ายถิ่นทางเศรษฐกิจจำนวนมากจากประเทศกัมพูชา มีเหตุผลจากการละเมิดสิทธิมนุษย์ ปัญหาการแย่งที่ดิน ซึ่งประเทศต้นทางต้องช่วยแก้ปัญหา เราได้มีคำแนะนำให้กัมพูชาแก้ไขด้านการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกไม่ต้องย้ายถิ่น รวมถึงการเสริมสร้างพลังทางสังคม ชุมชน และเพิ่มบทบาทรัฐบาลกัมพูชาในการเจรจาต่อรองกับประเทสไทย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสถานภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทั้งสิทธิแรงงาน การจ้างงาน รวมถึงอาเซียนควรหารือกันคุ้มครองแรงงานข้ามชาตีร่วมกันอย่างเป็นระบบด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทียังมีชาวบ้านจากจังหวัดโอดอร์เมียนเจย และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาหลายคน ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการสูญเสียที่ดินของตนเอง จากที่รัฐบาลกัมพูชาให้เอกชนเช่าที่ดินทำโรงงานอุตสาหกรรม มีการไล่ชาวบ้านออกจากที่ดิน เผาบ้าน จับติดคุก หลายคนขาดรายได้ ต้องอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย ในสภาพครอบครัวแตกแยก ชุมชนแตกสลาย
พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชานำที่ดินคืนให้ชาวบ้านเพื่อทำการเกษตรเหมือนเดิม ขณะที่ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่ไปลงทุนแม้ได้ถอนตัวออกจากพื้นที่แล้ว ก็ควรมีการจ่ายชดเชยเยียวยาชาวบ้านด้วย