ทำคนกลัวไม่กล้าตัดสินใจ! ร้องผู้ตรวจฯฟัน‘นายกฯ-บิ๊กป้อม’ปมจ้อสื่อเรื่องประชามติ
“…การร้องเรียนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะทำให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้ยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
----
การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 ได้ปรากฏว่ามีการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หลายครั้ง โดยคำให้สัมภาษณ์นั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เช่น
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลกรณีการรณรงค์รับหรือไม่รับประชามติว่า “วันนี้ได้สั่งการไปแล้วว่าต้องไม่มี ไม่ต้องทำ . . . .” และเมื่อถูกถามว่าที่นักวิชาการออกมารณรงค์แสดงความเห็นเชิงวิชาการนั้นทำได้หรือไม่ ได้ตอบว่า “พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. …. ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก็โดนหมด เพราะเขาห้ามพูดรณรงค์ไม่ใช่หรือ กฎหมายเขาเขียนให้นักวิชาการรณรงค์ได้ แต่ประชาชนรณรงค์ไม่ได้เช่นนั้นหรือไม่ แต่กฎหมายเขียนว่าห้ามรณรงค์รับหรือไม่รับ แค่นี้ทำไม่ได้หรืออย่างไร ไม่เข้าใจภาษาไทยหรือจึงต้องแปลไทยเป็นไทย” เมื่อถูกถามว่าใส่เสื้อโหวตโน หรือโหวตเยส ก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ ได้ตอบว่าว่า “ใช่แล้ว รณรงค์ให้รับหรือไม่รับก็ไม่ได้ทั้งนั้น . . . .” (ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/110296)
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ได้ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ออกมาระบุเพิ่มเติมเรื่องข้อปฏิบัติตาม 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ในการแสดงความเห็นประชามติ ว่า “เมื่อกฎหมายออกมาก็รับฟัง และเห็นว่าไม่ได้ขัดแย้งอะไร แต่สิ่งที่ตนห้ามนั้น คือการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ . . . .” (ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/125219)
คำให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นนั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การรณรงค์ดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะพึงกระทำได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ได้เป็นการให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือหลอกลวง บังขับขู่เข็ญ คุกคาม หรือดำเนินการผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 การกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงน่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
2. รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หลายครั้ง โดยคำให้สัมภาษณ์นั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เช่น
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า “. . . . ไม่ได้ห้ามการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ออกสู่สาธารณะ . . . .” (ที่มา: http://www.tnamcot.com/content/453926)
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ได้ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “. . . . ส่วนกลุ่มที่โพสต์เฟซบุ๊กว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ . . . .” (ที่มา: http://www.naewna.com/politic/214274)
คำให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นนั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นสิทธิที่ประชาชนจะพึงกระทำได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ได้มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 การกระทำดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีจึงน่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะออกความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
3. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อโดยใช้บทเพลงหลายเพลงที่มีเนื้อหาบางตอนที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญ หรือบางตอนที่เชิญให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นเนื้อหาเฉพาะที่เป็นการทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น
เพลงแหล่เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ขับร้องโดยนายชินกร ไกรลาศ ซึ่งมีเนื้อหาบางตอนที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญ และบางตอนที่เชิญให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
“ . . . .ร่างใหม่ใช้ปราบคนโกง ร่างใหม่ใช้ปราบคนโกง เพื่อจรรโลงประเทศไทย . . . . .
ถึงวันประชามติ เราริเริ่มร่วมกันดีไหม ต้อนรับฉบับปราบโกง เพื่อความมั่นคงของไทย
เป็นร่างเลือกตั้งคนดี เป็นร่างเลือกตั้งคนดี พวกคนไม่ดีจะสูญพันธุ์ไป . . . . . . . . . . .” (ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=6Lc5XAaqz6A)
เพลงฉ่อยเชิญลงประชามติ ขับร้องโดยนายชินกร ไกรลาศ ซึ่งมีเนื้อหาบางตอนที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
“. . . . เราหวงแหนแผ่นดินเกรงจะสิ้นชาติ ขอทำความสะอาดปัดกวาดใหม่
สะอาดสวยด้วยรัฐธรรมนูญ กำจัดปฏิกูลขี้โกงไป
สร้างประชาธิปไตยที่ใสสะอาด จะมีอำนาจกันขนาดไหน
ร่างไว้ใช้ปราบพวกทุจริต จับตอนถอนพิษให้พ้นภัย
ฉบับปราบโกงจรรโลงชาติ เพื่อชาวบ้านร้านตลาดพึ่งได้ . . . . . . . . . . . . . . . ” (ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=YY-F9Thv3ug)
การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงน่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามวรรคแรกของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยอาจทำให้ประชาชนอาจหลงเชื่อถึงสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญที่กล่าวอ้าง หรืออาจหลงเชื่อรับร่างรัฐธรรมนูญตามคำเชิญชวนในบทเพลงดังกล่าว
4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดย
4.1 ปล่อยให้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์หลายครั้งโดยไม่ท้วงติง ทั้งที่คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด และเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ออกความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือออกความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
4.2 ปล่อยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อโดยใช้บทเพลงหลายเพลงที่มีเนื้อหาบางตอนที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของร่างรัฐธรรมนูญ หรือบางตอนที่เชิญให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นเนื้อหาเฉพาะที่เป็นการทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่เป็นไปตามวรรคแรกของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
นอกจากนี้กรรมการการเลือกตั้ง (นายสมชัย ศรีสุทธิยากร) ซึ่งเป็นผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ได้กล่าวใน “รายการ 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ตอน 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง เกี่ยวกับกรณีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสรุปได้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคราวนี้ไม่ต้องทำการการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอีก เมื่อร่างเสร็จสามารถประกาศใช้ได้เลย (ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=2kFAfJYTxgE&feature=youtu.be)
คำกล่าวดังกล่าวนั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 และที่ 2 โดยที่ผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้งอีก 2 คนที่ร่วมให้ข้อมูลในรายการดังกล่าวซึ่งมีประธานกรรมการการเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย กลับนิ่งเฉยไม่พูดท้วงติงเพื่อแก้ไขคำกล่าวดังกล่าว การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงน่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดและมีผลต่อการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้
การร้องเรียนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะทำให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 และเนื่องจากการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงขอความกรุณาได้โปรดพิจารณาเรื่องร้องเรียนนี้เป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ผลการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่ได้ทันต่อเหตุการณ์และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด”
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม