วงสัมมนาต้านคอร์รัปชั่นยันไทยเปิดเผยข้อมูลมากกว่าเกาหลีใต้
ผอ.สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ลั่น ไทยเปิดข้อมูลมากกว่าเกาหลีใต้! โดยเฉพาะเรื่องก่อสร้าง แค่ทำในรูปแบบอื่น ด้านกรมบัญชีกลางเผยเปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างมานานแล้ว อยู่ระหว่างต่อยอด เหลือแค่การบริหารสัญญาที่ยังไม่เอาเข้าระบบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้จัดงานสัมมนา “การเปิดเผยข้อมูลภาคการก่อสร้างประสบการณ์ต้านคอร์รัปชั่นจากเกาหลีใต้สู่ประเทศไทย” ที่ รร.อมารี วอเตอร์เกต (ประตูน้ำ) เปิดงานโดย นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ,มร.ลุค สตีเวนส์ รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ
โดยการสัมนาดังกล่าวมี รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นายไกรก้อง ไวทยากร สถาบัน Change Fusion และ น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่วมสัมมนา
นางไอรดา รอง ผอ.สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กล้าพูดได้ว่า วันนี้ประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลมากกว่าประเทศเกาหลีใต้ แต่ดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้าง โดยสามารถเข้าหาข้อมูลได้ที่ www.data.go.th ซึ่งเป็นชุดข้อมูล (Data set) ทั้งหมด 730 ชุดข้อมูลจาก 80 หน่วยงาน ที่นักพัฒนาสามารถนำไปข้อมูลเหล่านี้พัฒนาต่อยอดได้ โดยมีจุดประสงค์ประชาชนต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การพัฒนา Application เป็นต้น
“ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของภาครัฐผ่านทางเว็บไซต์ govspending.data.go.th เป็นระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ หรือภาษีไปไหน? (The Government Thai Spending) ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนได้เห็นถึงภาพรวมของโครงการต่าง ๆ วันนี้ เราพยายามผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด และเราจะสามารถรู้ได้ว่าโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่บนพื้นที่ไหนของประเทศ" นางไอรดา กล่าว
ขณะที่ น.ส.ชุณหจิต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า 5 ปีก่อนหน้านี้ คำถามยอดฮิตคือ เรามีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างแล้วหรือยัง แต่ในความเป็นจริง เราเริ่มเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว โดยเรื่องจริงจังเนื่องจากการ E-Auction ที่ตั้งแต่ปี 2553 และข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ พอระยะที่ 2 เราเชื่อมกับระบบจ่ายเงินทุกเรื่องในการจัดซื้อ และระยะที่ 3 ใช้ระบบ E-bidding ได้ข้อมูลรหัสสินค้าในการจัดซื้อเพิ่ม และในอนาคตกำลังทำงานเรื่องระบบความแม่นยำ
“เชื่อมั่นว่าในปีนี้ และปีถัด ๆ ไปจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิ่งที่เราขาด คือ เรื่องบริหารสัญญาที่ยังไม่นำเข้าระบบ เราข้ามตรงนี้ไป เรื่องก็เป็นอีกโปรเจ็คที่กรมบัญชีกลางจะนำไปพัฒนาต่อไป” น.ส.ชุณหจิต ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกล่าวในพิธีเปิดเสร็จสิ้น นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เดินทางกลับทันที ไม่ใด้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่อย่างใด