ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง! ชี้ อสส.ไม่ได้แกล้ง‘ปู’ปมสั่งฟ้องคดีข้าว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง! ยัน อสส. ไม่ได้กลั่นแกล้ง ‘ยิ่งลักษณ์’ ปมสั่งฟ้องคดีจำนำข้าว ระบุให้หาหลักฐานไปหักล้างในชั้นศาลฎีกาฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.), นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ, นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กรณีกล่าวหาว่ากลั่นแกล้นสั่งฟ้องในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้ว มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง
สำหรับกรณีนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนมูลฟ้องคดีของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยทั้งสี่ฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 ทั้งๆที่การไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ของพยานหลักฐานในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 มีความเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์อย่างกะทันหันในวันเดียวกันก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนโจทก์เพียง 1 ชั่วโมง อย่างมีนัยสำคัญว่ามีสิ่งใดเป็นวาระซ้อนเร้นเกิดจากปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ และในคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้กล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตหรือสมยอมให้บุคคลอื่นทุจริตจึงไม่ได้กล่าวหาโจทก์ในเรื่องดังกล่าว
การที่จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันบรรยายฟ้องในคดีดังกล่าว กล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาโดยอ้างเอกสารตามบัญชีระบุพยาน ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ลำดับ 129 ที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มารวมไว้ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 เป็นการขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ที่ให้ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก และกรณีที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 วรรคหนึ่งบัญญัติให้การพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร และมาตรา 25 วรรคหนึ่งก็ระบุว่าการฟ้องคดีไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
แสดงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ศาลย่อมต้องประทับรับฟ้องได้ทันทีและโจทก์ตกเป็นจำเลยในคดีนั้น เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 1 ซึ่งหากข้อเท็จจริงในคดีนั้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กลั่นแกล้งฟ้องโจทก์เป็นเท็จ โจทก์จึงจะสามารถยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกได้
ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยอาศัยสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กับพวกกลั่นแกล้งฟ้องโจทก์เพื่อให้ต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ฉะนั้นโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจมาฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยประเด็นนี้แล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพร้องด้วยในผล
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2558 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยให้เหตุผลทำนองว่า 1. ตามฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่าไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ก่อนที่นายตระกูล จะส่งฟ้อง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์ อ้างคำสัมภาษณ์ของบุคคล จากรายงานข่าวว่ายังไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายนั้น ก็เป็นข้อมูลจากสื่อมวลชน ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ได้แถลงเมื่อวันที่ 20 ม.ค.58 ว่าคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว จึงแสดงว่า ก่อนที่นายตระกูล จะสั่งฟ้องได้มีการประชุมของคณะทำงานร่วมแล้ว
2. ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์ บรรยายฟ้องว่า นายตระกูล จำเลยที่ 1 มีความเห็นส่งฟ้องโจทก์กะทันหัน ก่อนที่ิ สนช. จะลงมติถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในคดีที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา น.ส ยิ่งลักษณ์ เพียง 1 ชั่วโมงนั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายตระกูล จำเลยที่ 1 ว่าจะไปกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการถอดถอน น.ส ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปที่ประธาน สนช. ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผูกพันกับผลการไต่สวนข้อเท็จจริงในความผิดทางอาญา คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นความเข้าใจของโจทก์เอง ว่าการกระทำของนายตระกูล เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานอัยการ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ มีเจตนากลั่นแกล้งฟ้องโจทก์ให้ต้องรับโทษแต่อย่างใด
3. ที่ฟ้องว่า สำนวนคดีจำนำข้าว เป็นการฟ้องเท็จในสาระสำคัญที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้กล่าวหาและยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ศาลเห็นว่านายตระกูล ในฐานะอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิด ซึ่งบรรยายฟ้องตามการพิจารณาของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการบรรยายฟ้องที่เป็นเท็จในสาระสำคัญแต่อย่างใด
4. สำหรับที่โจทก์ อ้างว่า การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พวกจำเลย ได้ยื่นบัญชีระบุพยานนอกสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนั้น เห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำและจำเลยมีสิทธินำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจรับฟังด้วยว่าจำเลย กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก sanook