มหาวิทยาลัยของผม : ธรรมศาสตร์
ทุกวันนี้รู้สึกอยู่ว่าธรรมศาสตร์ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เราไม่ภูมิใจธรรมศาสตร์กันเท่าเดิม เราแตกแยกเป็นสองฝั่ง คือธรรมศาสตร์ "เหลือง"กับธรรมศาสตร์ "แดง" ต่างระแวงกัน เกลียดกัน ชังกัน โจมตีกัน ควรจะทำตรงข้ามกับสิ่งนี้ ควรนำพาสมาชิกทั้งมวลและคนไทยไปสานสามัคคีกันต่างหาก.....
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง มหาวิทยาลัยของผม: ธรรมศาสตร์
-----
ผมอยู่จุฬาฯ เพียงห้าปี แต่อยู่ มธ. มา ราว 26 ปี คงไม่มีใครว่านะครับถ้าขอประกาศตนเป็นชาวธรรมศาสตร์อย่างเต็มหัวใจ
ถ้าไม่เน้นว่าธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่คณะราษฎร์ โดยเฉพาะท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การแล้ว อายุของสถาบันนี้จะเริ่มนับแต่เป็นโรงเรียนกฏหมายของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อายุเกินร้อยปีแล้วนะครับ
ผู้ประศาสน์การเรามีท่านเดียวดำรงตำแหน่ง 15 ปี ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเราก็คือผู้ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ และต่อมายังเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทยผู้รักษาเอกราชให้สยามได้หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามในฐานะนายกรัฐมนตรีต่างหากเป็นอธิการบดีคนแรกของธรรมศาสตร์ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษทางการทูตที่ยิ่งใหญ่ก็ทรงเป็นอธิการบดีที่บัญชาการจากตึกโดม ณ ริมแม่นำ้เจ้าพระยามาแล้ว
ในประเทศที่นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นจอมพลหรือพลเอก ธรรมศาสตร์ผลิตนายกรัฐมนตรีพลเรือนให้ประเทศถึงสี่คน ธานินทร์ กรัยวิเชียร ชวน หลีกภัย สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มากกว่ามหาวิทยาลัยใด
ที่นี่ยังผลิตประธานศาลฎีกา ประมุขของฝ่ายตุลาการแทบร้อยเปอร์เซนต์
อนึ่ง ในรอบหลายสิบปีมานี้ มธ. ผลิตประธานรัฐสภา ประมุขของนิติบัญญัติหลายท่าน ที่จำได้แม่น คือ ชวน หลีกภัย และอุทัย พิมพ์ใจชน
ผมมาธรรมศาสตร์ในภพแรกช่วงปี 2515-2519 ในฐานะนักเคลื่อนไหวหรือผู้นำนิสิตนักศึกษา ธรรมศาสตร์ช่วงนั้นเป็นของคนนอกพอๆ กับคนใน ไม่ว่านักศึกษาที่อื่น กรรมกร ชาวนา คนจน ผู้ประท้วง นักข่าว อยู่เต็มไปหมด ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของคนนอกที่รักธรรมศาสตร์ โดยนำ้ใสใจจริงเพราะที่นี่เขาดี เขาไม่รังเกียจคนข้างนอก
ผมจำเหตุการณ์หนึ่งที่ตึกโดมได้ดี เมื่อพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ และจารุพงษ์ ทองสิน สองผู้นำ อมธ. พาพวกเราขึ้นไปโต้แย้งกับอธิการบดี ดร.ป๋วย ที่ขอร้องให้เราเพลาๆ มือบ้าง เห็นใจธรรมศาสตร์บ้างที่ถูกกระทิงแดงบุกมาไม่นานนี้เอง จำไม่ลืมที่พิเชียรและจารุพงษ์ เอ็ดตะโร ชี้มือชี้ไม้อย่างแข็งกร้าว ผมนึกในใจ ที่จุฬาฯ ผมทำอย่างนี้กับอธิการบดี ศ.เติมศักดิ์ไม่ได้เด็ดขาดครับ แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เขามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ที่จะถกเถียง แย้งโต้กับใคร ใหญ่แค่ไหนไม่พรั่น แม้แต่กับ ดร.ป๋วยซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัย
ภายหลังผมได้เห็นได้ฟังนักศึกษาของธรรมศาสตร์ขึ้นไปเถียง บ่น เบื่อ หรือวิจารณ์อธิการบดี นรนิติ เศรษฐบุตร สุรพล นิติไกรพจน์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ แต่เชื่อเถอะไม่มีใครแสดงออกได้แรงเท่าคนในยุคผมอีกแล้ว หลังจากวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภพที่หนึ่งนี้ก็จบลง ครับ
คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมผลุบออกจากธรรมศาสตร์กลับไปนอนที่หอพักนิสิตแพทย์จุฬาฯ เช้ามืดวันรุ่งขึ้นจึงรู้ว่า มากมายหลายชีพได้ดับแดดิ้นหรือสิ้นอิสรภาพไปแล้วที่ธรรมศาสตร์และบริเวณรอบๆ
ชีวิตผมที่ธรรมศาสตร์นั้นมีหลายภพหลายชาตินะครับ หลังจากจบจากการสอนที่โคลัมเบียในปี 2533 ไม่นาน ภพที่สองที่ท่าพระจันทร์ก็อุบัติขึ้น เมื่อเพื่อนนักเรียนเก่า ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เลือดแท้ร้อยเปอร์เซนต์ของคณะรัฐศาสตร์ชวนให้มาสอบเข้าเป็นอาจารย์ ผมทดลองสอนด้วยเนื้อหาของงานที่กำลังจะเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ในอเมริกาทีเดียว น่าตื่นเต้นครับ มีคนทั้งในและนอกคณะมาฟังเต็มห้องซึ่งจุราวห้าหกสิบคน สองท่านในหมู่คนฟังคือ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรสิริ และ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ผู้ปราดเปรื่องเรืองปัญญา
ผมอยู่ธรรมศาสตร์ภพที่สองนี้จะอยู่กับชีวิตช่วงขาขึ้น ขึ้นอย่างรวดเร็ว ปานพลุ ปานจรวด อยู่ไม่ถึงสิบปี ก็ขึ้นมาเกือบจุดสุดยอดของอาชีพ ทั้งที่เริ่มต้นเป็นแค่อาจารย์ระดับสี่เอง เพราะตำแหน่ง ผศ. จากโคลัมเบียนั้น ระบบราชการไทยไม่แยแส ผมสงบนิ่ง ไม่เถียง กระโดดยาวๆ สามสี่ครั้ง เริ่มจากเป็น ผศ. ระดับ 7 ในสามปี และอีกปีเศษต่อจากนั้นขึ้นเป็นรองอธิการบดีในขณะที่เป็นเพียง ผศ. ซี 7 นั่นแหละ
รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีและทีมงานของท่านให้โอกาสผมมาก แม้ผมจะอยู่กับแม่โดมมาแค่สี่ปีเศษ ท่านก็กล้ามอบงานให้ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับ 9 แต่อาวุโสตัวผมเองแค่ระดับ 7 แม้จะขึ้นเป็น รศ.ในปีต่อมา อาวุโสก็ยังขึ้นไม่ทันตำแหน่งอย่างรวดเร็วเพียงอีกปีหนึ่งถัดมา ผมก็ได้รับเชิญไปสอนที่จอห์นส์ ฮ้อพกินส์ในฐานะศาสตราจารย์เยี่ยมเยือน และกลับมาจากนอกอีกสักปีหนึ่งก็ได้รับคัดเข้าสู่ตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งนับจากเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ราว 8 ปี ก็ได้เป็นคณบดีของรัฐศาสตร์ซึ่งก่อตั้งโดย ศ.ดิเรก ชัยนาม รัฐบุรุษผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการรักษาเอกราชของสยามในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และในวันนี้คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าเป็นคณะรัฐศาสตร์ที่มีศาสตราจารย์มากที่สุดและโดดเด่นที่สุดของประเทศ
เมื่อผมลาออกไปสมัคร ส.ส. ในปลายปี 2543 นั้น เป็น รศ. ระดับ 9 แต่ขอโทษไม่ได้บำนาญนะครับ รับราชการไม่ถึง 10 ปี ได้บำเหน็จ แค่หมื่นกว่าบาทอยู่ธรรมศาสตร์นอกจากผลิตหนังสือ ตำรา งานวิจัยจำนวนมากแล้ว ผมยังไปช่วยก่อตั้งริเริ่มสถาบันพระปกเกล้า ช่วยท่านมารุต บุนนาค และท่านวัน มูหะหมัดนอร์มะทา ในปี 2538 โดยมีคณบดี ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลและอธิการบดี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรสิริ เป็นผู้อนุมัติ ด้วยใจคอแบบธรรมศาสตร์ คือช่วยคนอื่น ช่วยประเทศด้วย
อนึ่ง ก่อนจะไปเป็น ส.ส. ไม่ถึงเดือน ผมอยู่เป็นรักษาการผู้อำนวยการคนแรกสุดของหลักสูตรการเมืองการปกครองระดับสูง ปปร. ที่มี ศ.บวรศักดิ์ อุวรรโณ เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าด้วย
ผมยังไปริเริ่มงานสอนในต่างจังหวัดของธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกที่ลำปาง ร่วมกับดร. สายทิพย์ สุคติพันธ์ ไปเปิด ป โทรัฐศาสตร์ ซึ่งขยายตัวต่อๆมา จนกลายเป็นธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ที่จริง หนังสือสองนคราประชาธิปไตยอันลือเลื่องนั้น เกิดจากการพูดคุยซักถามและซึมซับทัศนะต่างๆ จากลูกศิษย์ที่เรียกว่า MPE ที่ลำปางหลายๆ รุ่นนี่เองเป็นสำคัญในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผมเป็นผู้เสนอให้มีตำแหน่งกีรตยาจารย์ให้แก่อาจารย์ผู้เพรียบพร้อมด้วยการสอน การบริหาร การวิจัยและมีชื่อเสียงเกียรติคุณในระดับประเทศ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันวิจัย TURAC ซึ่งเวลานี้นำรายได้มาให้ธรรมศาสตร์ปีละร่วมหกร้อยล้าน
ตอนในหลวงครองราชย์ห้าสิบปี ผมมีส่วนสำคัญในการจัดเสวนานานาชาติเรื่องThe Rise of Asia มีอดีตนายกรัฐมนตรีพอล คีตติ้งแห่งออสเตรเลีย อดีตนายกรัฐมนตรีนากาโซเนะแห่ง ญี่ปุ่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี อู๋เซี่ยเฉวียน ของจีน ร่วมสนทนากับอดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ธรรมศาสตร์ไม่ได้ดีแต่พูดแต่สอนในเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และภราดรภาพ " แม่โดม" ให้ความเอื้อเฟื้อและฟูมฟักให้โอกาสผม ซึ่งเป็นลูกเลี้ยง หาใช่ลูกแท้ เป็นอย่างดี หากผมไปทำงานที่อื่น อาจไม่ได้เป็นรองอธิการบดีและเป็นคณบดีรวดเร็วหรือจะเรียกว่าพรวดพราดก็เห็นจะไม่ผิด
ท่านอนันต์ อนันตกูล ประธานการสรรหาคณบดีรัฐศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าท่านรับรองต่อกรรมการและคนในคณะว่า อ. เอนก นั้นถึงจะจบจากจุฬาฯ ก็รักและภักดีกับธรรมศาสตร์แน่นอน ผมเรียนท่านอนันต์ทีเล่นไปว่า "พี่ครับ ผมไม่ใช่สิงห์ดำนะครับ เป็นงู งูเขียวเท่านั้น" งูเขียวเป็นสัญลักษณ์ของแพทย์จุฬาครับ และอยากเล่าด้วยว่า ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ เพื่อนรุ่นน้อง ก็อนาทรและอยากให้ผมมีโอกาสรับใช้ธรรมศาสตร์ได้เหมือนลูกในไส้ด้วยในยามนั้น ปี 2541-42 ท่านชวนผมไปเรียนหลักสูตร ป ตรีนิติศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นลูกในท้องของแม่โดมกับเขาโดยเร็ว
เมื่อผมลาออกจากธรรมศาสตร์ในปี 2543 นั้น หลายท่านบ่นเสียดาย เพราะเชื่อว่าถ้าอยู่ต่อน่าจะมีโอกาสได้เป็นอธิการบดี และศาสตราจารย์ ถ้าได้เป็นอธิการฯ น่าจะต่อจาก รศ. ดร. นริศ ชัยสูตร แต่ย้อนคิด เมื่อได้เห็น ศ.สุรพล นิติไกรพจน์และ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นอธิการบดีมาร่วมสิบปีนี้ ผมว่าธรรมศาสตร์ที่ผมรักอยู่ในมือผู้บริหารสูงสุดสองคนที่เหนือกว่าอธิการบดีของมหาวิทยาลัยใดๆ ที่ทำงานร่วมสมัยกัน
ทุกวันนี้ ผมมีภพที่สาม ที่ท่าพระจันทร์ คือราวเจ็ดปีมานี้ เริ่มแต่ พ.ศ. 2552 ผมมีงานสำคัญที่ธรรมศาสตร์อีก คือได้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งของธรรมศาสตร์ เป็นประธานอนุสภาด้านแผนและวิชาการ เฝ้าคิด เฝ้าให้ทิศทางแก่ธรรมศาสตร์ และเมื่อปี 2553 ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษทางรัฐศาสตร์อีกด้วย
ถามว่าผมคิดผมห่วงอะไรในธรรมศาสตร์ จะเลือกพูดเรื่องเดียว "สมานสามัคคี"
ทุกวันนี้รู้สึกอยู่ว่าธรรมศาสตร์ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เราไม่ภูมิใจธรรมศาสตร์กันเท่าเดิม เราแตกแยกเป็นสองฝั่ง คือธรรมศาสตร์ "เหลือง"กับธรรมศาสตร์ "แดง" ต่างระแวงกัน เกลียดกัน ชังกัน โจมตีกัน ธรรมศาสตร์ควรจะทำตรงข้ามกับสิ่งนี้ ควรนำพาสมาชิกทั้งมวลและคนไทยไปสานสามัคคีกันต่างหาก
ย้อนคิด ธรรมศาสตร์เต็มไปด้วยความขัดแย้งแต่ต้น มีหลายพวก หลายกลุ่ม มีทั้งเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม ทั้งอาจารย์ ผู้บริหาร และศิษย์ แต่ไหนแต่ไรก็เป็นพหุชน มีพหุคติและพหุอุดมการณ์ เราควรภูมิใจในสิ่งนี้ และขยายมาภูมิใจกับพหุสภาพในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เช่นกัน
ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีแต่สามอธิการบดีอันได้แก่ ปรีดี สัญญา ป๋วย เท่านั้น แม้จะน่าเคารพเพียงใด ยังมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดีด้วย มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยก็เคย มันช่างหนักหนาสาหัสกว่าที่ขัดแย้งเรื่อง "เหลือง-แดง" ทุกวันนี้อีก เอาหล่ะ ถ้ารับท่านที่ผมเอ่ยชื่อไม่ได้ กรมหมื่นนราธิปฯ นั้นเราก็ควรเชิดชูสักการะให้มากขึ้น
ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีแต่เพลงมอญดูดาวอันมีสุ้มเสียงอุดมการณ์คณะราษฎร แต่ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง อันเนื้อหาของสองเพลงนั้นแทบไม่ต่างกัน แต่ไวยากรณ์ศัพท์แสงนั้น ก็ลงตัวได้กับทั้งสองสำนักคิด ประชาธิปไตยหรือราชาธิปไตย
ศาสตราจารย์เรืองนามในตำนานของสำนักธรรมศาสตร์นั้น ไม่ได้มีเพียงกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หากยังมี ศ.ปรีดี พนมยงค์ ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศ.ธีรยุทธ บุญมี และล่าสุด ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็จะเดินเข้าสู่ตำนานนี้อีกคน
เราไม่ควรภูมิใจกับนายกฯ ชวน หลีกภัย เท่านั้น นายกฯ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ นายกฯธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ใช่ศิษย์เก่าของเรา และสุดท้าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ท่านจะไม่ใช่ศิษย์เก่าของเรา แต่ก็เคยสอนที่เรา มีชื่ออยู่ในทะเบียนอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ของเรามาแล้ว
จึงอยากชักชวนให้ชาวธรรมศาสตร์ทั้งปวงหวลกลับมาค่อยๆ ยอมรับในผู้นำจากธรรมศาสตร์ที่ท่านเคยดูแคลน ไม่ชอบ กระทั่งเกลียดชังหรือต่อว่า ย้อนกลับไปจนถึงเมื่อเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยกันเลย
ยอมรับแค่ว่าเขาเหล่านั้นเป็นศิษย์เก่าผู้มีบทบาทต่อบ้านเมืองก็พอ และรับว่าในฐานะผู้นำบ้านเมืองเขาก็มีคนรักคนนิยมของเขาอยู่ เราอาจแตกต่างขัดแย้งกันเมื่ออยู่ภายนอก แต่เมื่อคิดหรือพูดถึงคนที่เราไม่ชอบไม่ศรัทธา ในฐานะชาวธรรมศาสตร์ ภายในเราเอง เราภูมิใจเขาได้ไหม
อ่านประกอบ :
มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา(2) จอห์นส์ ฮ้อพกินส์ส์