กฤษฎีกายัน‘นายกฯ’มีอำนาจทบทวนเสนอนาม ‘พระสังฆราช’ไม่ใช่แค่ไปรษณีย์
กฤษฎีกายัน ‘นายกฯ’ มีอำนาจทบทวนนาม ‘สมเด็จพระสังฆราช’ ได้ หากเห็นว่ายังไม่เหมาะสม-มีคดีค้างอยู่ ชี้ไม่ใช่แค่บุรุษไปรษณีย์ไว้ทูลเกล้าฯอย่างเดียว เผย‘สุวพันธ์’ ไม่ยอมแถลงให้เคลียร์
แหล่งข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์กรณีการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ชอบหรือไม่ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความทั้งหมด 3 ประเด็น โดยประเด็นสำคัญที่สุดและมีการถกเถียงกันคือ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีอำนาจตามมาตรา 7 ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างไรซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะดูความเหมาะสมของนามที่ มส. เสนอเพื่อทูลเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย ดังนั้นหากมีการเสนอนามผู้สมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พบว่ามีปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความ หรืออื่น ๆ นายกรัฐมนตรีสามารถขอให้ทบทวนนามได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างขัดเจน
ทั้งนี้คมชัดลึกออนไลน์ รายงานข่าวอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายสุวพันธ์ ระบุว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน และต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเสนอรายชื่อนั้นจำเป็นต้องริเริ่มจากนายกฯ ดังนั้น การส่งความเห็นมส.มา จึงไม่ขัดกับมาตรา 7 หนังสือฉบับนั้นจึงยังมีผลอยู่
นายสุวพันธุ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายังได้ตีความอีกว่านายกฯไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่สามารถนำมาประกอบการใช้ดุลยพินิจได้ และแนวทางปฏิบัติก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 ระบุด้วยว่าเมื่อรัฐบาลขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องข้อกฎหมายไปให้ปฏิบัติตามนั้น ดังนั้น ตนจะยึดแนวทางตามนี้ โดยจะกราบเรียนให้นายกฯรับทราบเฉพาะเรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวทางปฏิบัติตามมติครม.เพื่อให้นายกฯพิจารณาต่อไป
“วันนี้เราดูเรื่องมาตรา 7 ก่อน ขั้นตอนนี้จบแล้ว ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้ขัดแย้งกับมาตรา 7 ส่วนการดำเนินการต่อไปเรายังไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม หนังสือแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชยังอยู่กับผม ยังมีผลในทางราชการเหมือนเดิม นายกฯมีหน้าที่เสนอนามสมเด็จพระสังฆราช และรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นก่อนที่ผมจะเสนอเรื่องไปต้องดูทุกอย่างให้รอบด้าน ครบถ้วน ตอนนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช จึงต้องขอเวลาดูเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนทำความเห็นถึงนายกฯต่อไป ไม่สามารถระบุเวลาได้ เพราะมีหลายปัจจัย ต้องให้สังคมเข้าใจตรงกันก่อน ผมขอแบกเรื่องนี้ รับภาระ เป็นของตัวเองก่อน และไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ” นายสุวพันธุ์กล่าว
ส่วนแนวหน้าออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีนี้ว่า ไม่ได้ว่าอะไร อำนาจใครก็อำนาจใคร ตนมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วตนทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จบ
เมื่อถามว่า ต้องรอคดีจบก่อนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องแสดง คิดไม่ออกเหรอว่า ต้องรอกระบวนการเรียบร้อยก่อน แล้วไม่กลัวว่าจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันหรืออย่างไร วันนี้มีกี่พวก อย่ามองบ้านเมืองในแง่ดีแง่เดียว มันมีพร้อมทุกเรื่อง