"คนพื้นที่" ชี้ จนท.ยังสร้างเงื่อนไข แนะรัฐใช้กระแส "อาเซียน" ยกเครื่องปัญหาใต้
เวทีเสวนา "8 ปีไฟใต้: บทเรียนและทางออก" เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2555 ที่ห้องประชุมอรุณสวัสดิ์ เทศบาลนครยะลา จัดโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นองค์กรสนับสนุนนั้น นับเป็นเวทีประชาชนครั้งแรกของปี 2555 และเป็นเวทีใหญ่ที่รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เป้าหมายก็เพื่อร่วมระดมสมองกำหนดทิศทาง "ดับไฟใต้" ที่ยืดเยื้อมานานถึง 8 ปี...
เป็น 8 ปีแห่งความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นเหตุให้ทหารถูกสังหาร 4 นาย และปืนถูกปล้นไปมากมายถึง 413 กระบอก!
เสียงจากเวทีที่ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำครูภาครัฐ ครูปอเนาะ ตำรวจ ทหาร และองค์กรภาคประชาสังคม ชัดเจนว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะ "พายเรือวนในอ่าง" เพราะ 3 ประเด็นที่สรุปได้จากเวทีล้วนเป็นดัชนีชี้วัดว่าปฏิบัติการของภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงยังมิอาจ "ได้ใจประชาชน" ในสงคราม ณ ปลายสุดด้ามขวานที่เชื่อกันว่าเป็น "สงครามแย่งชิงมวลชน" ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนับตั้งแต่สงครามต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา
สามประเด็นที่ว่าก็คือ
1.ภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงถูกมองในแง่ลบจากประชาชนในพื้นที่ ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างเงื่อนไข
2.ประชาชนมองว่ามีผลประโยชน์เกิดขึ้นมากมายและมีการทุจริตประพฤติมิชอบ แสวงประโยชน์จากเม็ดเงินงบประมาณที่ถูกทุ่มเทลงมา
3.ความรุนแรงยังคงอยู่ ยังมีคนเสียชีวิตทุกวันไม่ต่างอะไรกับใบไม้ร่วง
ข้อเสนอจากเวทีเพื่อดับไฟใต้ให้ได้อย่างยั่งยืนซึ่งได้จากการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อขมวดประเด็นให้ชัดเจน มีอยู่ 3 มิติ คือ
1.ภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต ต้องมีความยุติธรรม ความเสมอภาค จัดหลักสูตรการศึกษาและการปกครองให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ การสรรหาผู้นำในระดับท้องถิ่นต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนนำปัญหามาพูดคุยกัน ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งกวาดล้างปัญหาสังคมที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน สถานบริการ การค้าประเวณี และแหล่งอบายมุขต่างๆ
2.การพัฒนาการศึกษา ต้องเตรียมพร้อมเรื่องคนและหลักสูตรการศึกษา โดยรูปแบบการศึกษาในพื้นที่ต้องไม่มองจากข้างบนลงมาข้างล่าง แต่ต้องกำหนดจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ไม่เน้นแค่ใบปริญญา แต่เน้นให้ผู้เรียนสามารถจบออกมาแล้วประกอบอาชีพได้ แต่ต้องสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรับรองวุฒิการศึกษาของปัญญาชนในพื้นที่ด้วย
3.การเตรียมพร้อมสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "เออีซี" ในปี พ.ศ.2558 รัฐต้องเตรียมพร้อมทุกด้านสำหรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ทั้งในแง่การพัฒนาคน ระบบการศึกษา ภาษา และการสร้างจิตสำนึกรักชาติ รับใช้สังคม หวงแหนทรัพยากร เพื่อป้องกันการไหลทะลักของกลุ่มทุนข้ามชาติที่มุ่งเข้ามาหาประโยชน์
ขณะเดียวกันต้องมีการสื่อสารเชิงบวกมากขึ้น อาจให้มีรายการโทรทัศน์สักช่องหนึ่งรายงานความเป็นไปในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องเป็นกลไกสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับท้องถิ่น เพราะประชาชนยังรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนน้อยมาก ภาครัฐควรฉวยจังหวะการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสร้างโจทย์ใหม่ๆ ขึ้นในพื้นที่ แล้วแปรนโยบายให้เกิดผลทางปฏิบัติในแง่ของการพัฒนาด้านต่างๆ ให้ครบทุกมิติ
"หมอประเวศ" ซัด รวมศูนย์อำนาจตัวปัญหา
วันเดียวกัน มีเวทีประชาชนอีกแห่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับสมัชชาปฏิรูป ในหัวข้อ "ชายแดนใต้...เราไม่ทอดทิ้งกัน"
นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวผ่านระบบวีดีโอว่า ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยคือการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยการใช้อำนาจบังคับทั้งในแง่ของกฎหมายและการใช้กำลังของตำรวจ ทหาร โดยคาดหวังว่าจะทำให้ทั้งประเทศเหมือนกันหมด กระบวนการปฏิรูปประเทศใทยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ชุมชนสามารถจัดการตัวเอง ท้องถิ่นจัดการตัวเอง จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่มีภูมิประเทศและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันสามารถจัดการตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยไม่เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจกันที่ระดับบนเท่านั้น แต่จะกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ดูแลตัวเองด้วย
สภาประชาสังคมฯเสนอตัวร่วมตัดสิน "พ.ร.ก.-เยียวยา"
โอกาสนี้ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และตัวแทนองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ 2 ฉบับ เรียกร้องให้รัฐเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างทั่วถึง และทะยอยยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเร็ว โดยมีข้อเสนอดังนี้
- เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในหลักเกณฑ์ของรัฐอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม
- กรณีผู้ที่ไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการเยียวยาซึ่งต้องผ่านการรับรอง 3 ฝ่าย จากทหาร ตำรวจ และปกครอง จะต้องหาข้อสรุปของแต่ละคดีให้ชัดเจน หากเกินเวลา 6 เดือนให้กรณีดังกล่าวได้รับการเยียวยาในทันที หากมีกรณีที่มีข้อสงสัยหรือเป็นคดีสำคัญจะต้องตั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมเป็นคณะกรรมการร่วมติดตามสอบหาข้อเท็จจริง
- ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษในคดีความมั่นคง แต่ไม่ได้เข้าสู่การดำเนินคดีอาญา ให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวด้วย เช่นเดียวกับกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี หรือศาลพิพากษายกฟ้องคดี
- ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเป็นขั้นตอนโดยพิจารณาเป็นรายอำเภอภายใต้ความเห็นชอบของ 3 ฝ่าย คือ ชุมชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และองค์กรภาคประชาสังคม
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมกลุ่มย่อยในการเสวนา "8 ปีไฟใต้ : บทเรียนและทางออก" (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
ขอบคุณ : เนื้อหาจากเวที "ชายแดนใต้...เราไม่ทอดทิ้งกัน" สรุปจากข่าวของ คุณนครินทร์ ชินวรณ์โกมล ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นประจำจังหวัดยะลา