หลายมิติ หลากมุมมอง กับประเด็น “ข่มขืน = ประหารชีวิต”
ได้แต่หวังว่าการแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับคดีข่มขืนกระทำชำเราของบ้านเราจะได้มีการดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองพี่น้องประชาชนคนในชาติของเรา....
บทความนี้มิได้มุ่งที่จะจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อสรุปว่าแนวคิดในเรื่องนี้ที่ถูกต้องควรจะเป็นเช่นไรถึงจะเหมาะสมและดีที่สุด หากแต่ต้องการตั้งประเด็นในเรื่องนี้จากมุมมองที่หลากหลาย และสุดท้ายท่านผู้อ่านคงจะไ้ด้รับคำตอบในแนวทางของตัวท่านเอง ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มอ่านบทความนี้ผมต้องขอให้ท่านผู้อ่านเปิดใจให้กว้างที่สุดและวางธงคำตอบสำหรับเรื่องนี้ที่่ท่านเคยมีอยู่ในใจไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มพิจารณาประเด็นต่างๆ ทีละประเด็นตามที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้ดังต่อไปนี้
1. มิติในเรื่องบทกำหนดโทษ
ในประเทศไทย ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หากเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 16 ปี ในมาตรา ๒๗๗ วรรคแรก กำหนดโทษให้รับผิดเท่ากรณีข่มขืนกระทำชำเราผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ในมาตรา ๒๗๗ วรรคสาม กำหนดโทษขั้นต่ำสูงขึ้นคือจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี หากเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราจนทำเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ในมาตรา 277 ทวิ (1) กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่หากเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในมาตรา 277 ทวิ (2) ได้กำหนดโทษไว้สถานเดียวคือ “ประหารชีวิต”
ดังนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดโทษเอาผิดสูงสุดสำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแตกต่างกันเป็น 3 ระดับ คือ จำคุก 20 ปี จำคุกตลอดชีวิต และประหารชีวิต ในประเด็นที่มีการเรียกร้องกันในตอนนี้ก็คือ ต้องการให้มีการแก้ไขการกำหนดโทษของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราให้เป็นว่า การกระทำทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนกระทำชำเราที่เป็นเหตุให้เป็นอันตรายแก่กาย หรือเป็นเหตุให้เป็นอันตรายสาหัส ก็ควรต้องรับโทษ “ประหารชีวิต” ด้วยเช่นเดียวกันกับการข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ประเด็นคำถามจึงเกิดว่า แล้วทำไมกฎหมายต้องกำหนดให้การกระทำที่ผลที่แตกต่างกัน ต้องได้รับโทษที่แตกต่างกัน ประเด็นนี้คงต้องเก็บไว้พิจารณาจากมุมมองทางด้าน ทัณฑวิทยา (Penology) ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อที่ 2.
สำหรับกฎหมายของต่างประเทศได้มีการกำหนดโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราไว้อย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ดังนั้นกฎหมายในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราของประเทศสมาชิกจำนวน 28 ประเทศของ EU จึงกำหนดโทษสูงสุดได้เพียงโทษจำคุกเท่านั้น การกำหนดโทษประหารชีวิตจะไม่เกิดขึ้นแม้ว่าการข่มขืนดังกล่าวจะเป็นเหตุให้เหยื่อผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายก็ตาม
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาแม้จะมีหลายรัฐได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายรัฐที่โทษประหารชีวิตยังคงมีการบังคับใช้อยู่ ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีหลายคดีที่ศาลของสหรัฐอเมริกายังคงบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเราอยู่ ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการประหารชีวิตจำเลยในคดีข่มขืนผู้ใหญ่ ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the US) ก็เคยมีคำพิพากษาไว้ในคดี Coker v. Georgia เมื่อปี ค.ศ. 1977 แต่ต่อมาก็ไม่มีการใช้โทษประหารชีวิตนี้โดยมีการอ้างว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอันเป็นการขัดต่อ Eighth Amendment ที่บัญญัติห้ามการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายและผิดธรรมชาติ (cruel and unusual punishment) แต่ถึงอย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาโทษประหารชีิวิตก็ยังมีการนำมาใช้กับคดีข่มขืนเด็กในสหรัฐอเมริกาอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ในคดี Kennedy v. Louisiana เมื่อปี ค.ศ. 2008 เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องการความเห็นที่แตกต่างของการมีโทษประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกานั้นคงจะัยังมีให้เห็นไปอีกนาน
แล้วในปัจจุบันมีประเทศไหนบ้างในโลกที่บัญญัติให้ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา?
ปัจจุบันก็มีประเทศ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สหรัฐอาหรับอิมิเรทส์ อิหร่าน อัฟกานิสถาน ซาอุดิอาราเบีย จีน และเกาหลีเหนือ เป็นต้น ที่กำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา
2. มิติทางด้านทัณฑวิทยา (Penology)
ในทางทฤษฎี การกำหนดโทษนั้นจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทำผิด ผลที่ได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด หากจะเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น กรณีการทะเลาะกันของนักเรียน ถ้ามีการชกกันแต่ไม่มีบาดแผล ชกกันจนเลือดกลบปาก ชกกันจนทำให้ตาบอด หรือชกกันจนทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตาย ในการกระทำที่ก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันนี้ในทางทฤษฎีก็กำหนดว่าการกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวก็ควรที่จะต้องมีการกำหนดลำดับของความรุนแรงของโทษที่มีระดับที่ลดลั่นกันไปตามความรุนแรงของผลที่ได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำ ตามหลักในเรื่องทฤษฎีว่าด้วยสัดส่วนในการกำหนดโทษ (Principle of Proportionality)
กรณีนี้ในทางทฤษฎียังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากกำหนดให้การกระทำที่ก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันนั้นต้องได้รับโทษเท่าๆ กัน กลับจะส่งผลให้ผู้กระทำเลือกที่จะกระทำผิดให้เกิดผลที่รุนแรงมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องรับโทษที่หนักสุดอยู่แล้ว ดังนั้นหากมองประเด็นนี้จากมุมมองทางด้านทัณฑวิทยา การกำหนดโทษประหารชีวิตกับการกระทำผิดในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราในทุกกรณีนั้นกลับจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้กระทำที่อาจต้องการข่มขืมแต่ไม่มีเจตนาฆ่า เลือกตัดสินใจที่จะใช้วิธีข่มขืนและฆ่าเหยื่อทิ้งเพราะจะได้ไม่มีพยานหลักฐานเพื่อจะสาวมาถึงตัวผู้กระทำผิดให้ต้องรับโทษประหารชีวิตได้ ดังนั้นในทางทฤษฎีการกำหนดโทษให้สูงขึ้นจนเกินความจำเป็นจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
3. มิติทางด้านอาชญวิทยา (Criminology)
จริงๆ แล้วในทางทฤษฎีที่เกี่ยวกับการลงโทษจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้หลักๆ อยู่ 4 ทฤฎีด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1. ทฤษฎีแก้แค้นทดแทน (Retributive Theory) 2. ทฤษฎอรรถประโยชน์ (Utilitarian Theory) 3. ทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Rehabilitative Theory) และ 4. ทฤษฎีคุ้มครองสังคม (Social Protection Theory) แต่ในส่วนนี้ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายแต่เฉพาะเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่ิอสนับสนุนการกำหนดโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนกระทำชำเราในทุกกรณีเท่านั้น นั้นก็คือ ทฤษฎีแก้แค้ทดแทน ว่าแท้ที่จริงแล้วการที่จะเข้าองค์ประกอบว่าจะที่จะลงโทษเพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการแก้แค้นทดแทนได้นั้น ในทางทฤษฎีแล้วต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ใดบ้าง
ในทางทฤษฎีแล้วการลงโทษที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นทดแทนได้นั้นต้องเป็นกระบวนการที่มีการดำเนินการที่รวดเร็ว (Celerity) มีความเด็ดขาดและแน่นอน (Certainty) มีความเหมาะสมกับความรุนแรงที่ได้รับจากการกระทำผิด (Proportional Severity) และต้องเป็นการกระทำต่อหน้าสาธารณะชน (Publicity) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตของไทยในปัจจุบันแทบจะไม่เข้าองค์ประกอบใดเลยใน 4 องค์ประกอบของทฤษฎีแก้แค้นทดแทนนี้ เพราะกระบวนการกว่าที่จะมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตนั้นต้องมีการต่อสู้กันถึง 3 ศาล แล้วเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษประหารชีวิตก็จะยังมีขั้นตอนในการขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษอีก นอกจากนี้การบังคับโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ใช้บังคับกับทุกกรณี โดยศาลจะพิจารณาจากมูลเหตุแห่งการกระทำผิดเป็นหลัก ประกอบกับหากมีการรับสารภาพแล้วกฎหมายไทยกำหนดให้ลดโทษกึ่งหนึ่งคงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ทำให้การบังคับใช้โทษประหารชีวิตนั้นไม่มีความแน่นอนตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ในส่วนของความเหมาะสมของโทษต่อความรุนแรงเป็นประเด็นที่ได้กล่าวไปแล้วเพราะเป็นมุมมองเดียวกันกับทางด้านของทัณฑวิทยาว่าต้องกำหนดให้อัตราโทษมีความลดลั่นกันไปตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด และปัจจุบันการลงโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้มีการดำเนินการต่อหน้าสาธารณชนดั่งที่เคยเป็นมาในอดีตอีกต่อไป แต่หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ยังมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอยู่นั้น หลายประเทศยังมีกระบวนการที่เอื้อต่อการนำแนวคิดตามที่ทฤษฎีนี้มาใช้ได้ เช่น ประเทศ เกาหลีใต้ และ ซาอุดิอาราเบีย เป็นต้น
4. มิติทางด้านเหยื่อวิทยา (Victimology)
หลักการแนวคิดของเหยื่อวิทยามีมุมมองว่า “เหยื่อ” ต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการยุติธรรม มิใช่เป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเป็นได้เพียงแค่ “ประจักษ์พยาน” ในคดีเท่านั้น และปล่อยให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้ง ตำรวจ ทนายความ อัยการ และผู้พิพากษา เป็นผู้เล่น “บทนำ” ของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นศาสตร์นี้จึงมุ่งที่จะศึกษาว่า “เหยื่อ” ควรมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในประเด็นนี้ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันสำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่เหยื่อเป็นผู้ใหญ่ เำหยื่อก็ยังคงเป็นเพียงตัวประกอบและปล่อยให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement practitioners) ยังคงสวมบทบาทตัวละครหลักของกระบวนการอยู่ ในกระบวนเช่นนี้
จากมุมมองทางด้านเหยื่อวิทยาจึงมองว่า เหยื่อซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีก็ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก (Mainstream Criminal Justice System) อยู่ดี มีผลงานวิจัยของหลายประเทศยืนยันว่า ความพึงพอใจของเหยื่อต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำผิด ขึ้นอยู่กับการที่เหยื่อได้มีส่วนร่วมในกระบวนการ มากกว่าประเด็นเรื่องข้อหานั้นมีการกำหนดโทษไว้รุนแรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นหากมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในส่วนนี้โดยให้เหยื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญ และมีส่วนร่วมในคดีมากขึ้นเพื่อให้ได้รับการเยียวยาทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ ซึ่งแนวคิดนี้ได้มีการนำมาใช้แล้วกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นของเยาวชน
ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มครอบครัว โดยได้เชิญทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของทั้งฝ่ายผู้กระทำผิดและฝ่ายผู้เสียหายเข้าร่วมในกระบวนการในชั้นศาล ในระหว่างกระบวนการจะได้มีการพูดถึงสาเหตุของการกระทำผิด ความรู้สึกของผู้เสียหายและครอบครัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการสารภาพผิด มีการขอขมา ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สร้างการเยียวยาทางด้านจิตใจให้กับเหยื่อหรือผู้เสียหายและครอบครัว ได้มากกว่ากระบวนการที่มีการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดโดยผู้เสียหายแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยนอกจากเป็นผู้ทำหน้าที่ยืนยันตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น จากการศึกษาแล้วพบว่า “เหยื่อ” ต้องการได้รับการเยียวยาในลักษณะนี้มากกว่าการถูกเรียกมาเป็นพยานแล้วลงโทษจำเลย ดังนั้นไม่ว่าความผิดดังกล่าวจะมีการกำหนดโทษไว้สูงถึงขั้นประหารชีวิตหรือไม่เพียงใดคงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เหยื่อรู้สึกถึงการเยียวยาที่ได้รับจากกฎหมายมากไปกว่าการเพิ่มบทบาทของเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม
5. มุมมองจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันของไทย
การดำเนินกคดีเกี่ยวกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานั้นมีให้เห็นอยู่ดาษดื่นในบ้านเมืองของเรา ดังนั้นทั้งทนายความ ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ต่างก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว (ยกเว้นกรณีพวกนอกแถว) จึงเกิดคำถามว่าแล้วทำไมปัญหานี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบ้านเรา โดยเฉพาะเรื่องผู้กระำทำผิดที่ย้อนกลับมากระทำความผิดซ้ำ (Reoffender) ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าต่อให้มีการเปลี่ยนโทษในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราปกติ กับการข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส โดยบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกันกับการข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น
เมื่อมีคดีขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วต่อให้ศาลมีความพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต ปริมาณคดีที่มีการลงโทษตามคำพิพาษาให้ประหารชีวิตมีอยู่ไม่ถึง 10 % หรือหากเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิตแต่เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วจำเลยรับสารภาพก็จะมีการลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต หากเราศึกษาจากสถิติที่ผ่านๆ มาจะเห็นได้ว่ามีคดีจำนวนมากที่แม้ศาลจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตแล้ว แต่หากนับระยะเวลาที่นักโทษเหล่านั้นรับโทษในเรือนจำจะเห็นได้ว่าหลายต่อหลายคดีได้รับโทษน้อยกว่าที่ลงโทษไว้ตามคำพิพากษาค่อนข้างมาก ดังนั้นหากพิจารณาจากจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่ากฎหมายและกระบวนการในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยแทบจะไม่เป็นประโยชน์เลยเมื่อส่งจำเลยเข้าสู่กระบวนการของการรับโทษ
จากประเด็นดังกล่าวกระบวนการในการลดโทษของไทยหลังจากศาลมีคำพิพากษาเป็นประเด็นหนึ่งที่เราควรต้องกลับมาให้ความสนใจหรือไม่? เพราะส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหลายต่อหลายคดีก็เป็นผู้กระทำผิดซ้ำ และมักจะกลับมาก่อเหตุหลังจากเพิ่งพ้นโทษไม่นาน ปัญหาที่ตามมาก็คือในระหว่างที่ได้รับโทษในเรือนจำนั้นมีกระบวนการในการจำแนกประเภทนักโทษเพื่อเข้าสู่โปรแกรมในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม (Rehabilitation) ของผู้กระทำผิดโดยใช้หลักเำกณฑ์ใด?
เนื่องจากในหลายประเทศเกณฑ์ในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำผิดจะแยกเฉพาะบนพื้นฐานของข้อหาที่ได้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแต่ละคดีมีเหตุและปัจจัยในการกระทำผิดที่แตกต่างกัน แต่หากประเทศไทยมีกระบวนการในการคัดแยกในกรณีดังกล่าวที่เหมาะสมอยู่แ้ล้ว อะไรถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ยังมีผู้กระทำความผิดซ้ำในปริมาณสูงอยู่เช่นนี้? เพราะฉะนั้นมุมมองในส่วนนี้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายจึงน่าจะเป็นเรื่องของปัญหาการบังคับใช้โทษหลังจากมีคำพิำพากษาและกระบวนการในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดมากกว่าการที่จะให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายให้การข่มขืนกระทำชำเราทุกกรณีมีโทษประหารชีวิตทั้งหมด
6. มุมมองจากความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ โทษของข้อหาที่มีการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น กฎหมายของประเทศผู้ร้องขอกำหนดโทษสูงสุดไว้ถึงขั้น “ประหารชีวิต” ดังนั้นหากผู้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรากระผิดในประเทศไทยแล้วหนีออกไปยังประเทศอื่น (ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตหรือไม่ก็ตาม) หากรัฐบาลไทยต้องการที่จะร้องขอให้มีการส่งผู้กระทำผิดที่หลบหนีไปนั้นกลับมายังประเทศไทย โทษประหารชีิวิตดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้กระทำความผิดจะอาศัยเป็นเหตุที่จะยกขึ้นมาอ้างเพื่อร้องขอให้ประเทศที่รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนปฏิเสธที่จะส่งผู้กระทำผิดดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย และถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการตัวผู้กระทำความผิดคนดังกล่าวจริงๆ ในทางปฏิบัติที่เป็นหลักสากลในการดำเนินการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา จะมีข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่า
รัฐบาลของประเทศที่มีการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องมีการดำเนินการจัดทำเอกสารที่ให้การยืนยัน (assurance) ว่า “โทษประหารชีวิตจะไม่ถูกบังคับใช้กับผู้ที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน”เมื่อส่งตัวกลับไปยังประเทศผู้ร้องฯ แล้ว ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เห็นว่า ต่อให้มีการเพิ่มโทษให้การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในทุกกรณีมีโทษประหารชีวิต ก็ไม่สามารถที่จะบังคับใช้โทษประหารชีวิตดังกล่าวได้อยู่ดี การแก้ไขดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับผู้กระทำความผิดที่หนีไปอยู่ต่างประเทศซึ่งจะสามารถยกการบัญญัติโทษในลักษณะดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธการเดินทางกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำไป
จากหลากมิติหลายมุมมองที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูแล้วกันครับว่า
กฎหมายไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันในเรื่องการข่มขืนกระทำชำเรามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่เพียงไร?
อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของการดำเนินการเกี่ยวกับคดีข่มขืนกระทำชำเราในบ้านเรา?
เราควรปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีข่มขืนกระทำชำเราในส่วนใด?
ท้ายที่สุดนี้ งานเขียนฉบับนี้มิใช่งานเขียนทางวิชาการ หากแต่เป็นเพียงประเด็นทางวิชาการที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นจากข้อมูลที่ได้มีการค้นคว้าส่วนตัวประกอบกับมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเอง ส่วนท่านผู้อ่านจะนำไปคิดต่อในประเด็นนี้อย่างไรก็สุดแล้วแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เขียนหวังเพียงต้องการให้ทุกปัญหาของบ้านเมืองเราโดยเฉพาะในประเด็นทางกฎหมายทุกเรื่อง ควรถูกพิจารณาจากหลากมิติหลายมุมมองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้น ขอขอบพระคุณทุกท่านที่สนใจติดตามอ่านมาจนถึงตรงนี้ ได้แต่หวังว่าการแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับคดีข่มขืนกระทำชำเราของบ้านเราจะได้มีการดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองพี่น้องประชาชนคนในชาติของเรา
มาร์ค เจริญวงศ์
เด็กติดเกาะในแดนไกล