มหาวิทยาลัยของผม: จุฬาลงกรณ์
จุฬาฯทุกวันนี้เป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ตอนผมอยู่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่สถานศึกษาสง่าพระนาม และประสิทธิ์ประสาทวิชาการเพียงอย่างเดียว
คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผมเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่นอนผมอยู่กับธรรมศาสตร์ เริ่มมีตัวตนทางวิชาการในเมืองไทยก็ที่ธรรมศาสตร์รักโดม เจ้าพระยา และท่าพระจันทร์แต่ในอีกแง่หนึ่งผมเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของจุฬา จามจุรี และสามย่าน-ศาลาแดงกับเขาด้วย
เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ในวัยที่รุ่นพี่ที่เห็นกันอยู่ในโรงเรียนแพทย์ที่จุฬาคือ ศ นพ ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นอธิการฯจุฬาฯ ส่วนตัวเองเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของธรรมศาสตร์ คราใดที่เชียร์ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จะเชียร์ได้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไหนได้ประตูดีใจทั้งนั้น แต่จริงๆแล้ว ผมอยากให้เขาเสมอกันทุกปี
ผมจบมัธยมปลายจากอัสสัมชัญ ตามประสานักเรียนเรียนดี สอบได้ที่หนึ่งสายวิทย์ของโรงเรียน ตาก็มองไปที่ศิริราชและรามาธิบดี ทั้งที่ไม่เคยชอบเรียนวิทยาศาสตร์และหมอเลยแม้แต่น้อย แต่ใกล้เวลาสอบเอนทรานส์พระพรหมท่านก็เริ่มเขียนบทชีวิตที่คาดไม่ถึงให้ คัดท้ายให้ผมไปเรียนแพทย์ที่จุฬาแทน
ในปีนั้นจู่ๆ มหิดลเปลี่ยนวิธีการสอบคัดเลือก ไม่มีการสอบคัดเข้าไปเป็นนักเรียนแพทย์แต่ต้น หากแต่เริ่มรับเข้าเรียนวิทยาศาสตร์ ก่อนสองปี แล้ว ภายหลังจึงแยกให้ไปเรียนตามคณะต่างๆ รวมทั้งไปศิริราชหรือรามาก็ได้ เด็กนักเรียนที่เรียนเก่งมากจำนวนหนึ่งจึงพากันเลือกแพทย์จุฬาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะแน่ใจว่าจะได้เรียนหมอแน่ๆ หากสอบได้
ปีที่ผมสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย 2515 จึงเป็นปีแรกที่คะแนนสอบคัดเลือกเข้าเรียนแพทย์ จุฬาจะโผขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และก็จะเป็นเช่นนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นี่เป็นเรื่องของคะแนนสอบเข้าเท่านั้นนะครับ ในเรื่องของโรงพยาบาลและคุณภาพครูอาจารย์ทั้งสามแห่ง แทบไม่ต่างกัน
การเข้าไปเรียนจุฬาฯ ทำให้ผมเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆมากมาย ที่สำคัญเข้าไปอยู่ใน "ขบวนการเดือนตุลา" กับเขาด้วย "ของชอบ" อยู่แล้ว ความที่เป็นนักอ่านตัวยงแต่เยาวัย ถ้าถามใจตัวเองตอนมัธยมต้นว่าอยากเป็นอะไร คำตอบจะเป็น เอกอัครราชทูต ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐบุรุษ มหาบุรุษ คิดแบบเด็กๆ ในวัยสดใส นะครับ แต่แล้วก็ต้องตกอยู่ใน "คลองธรรม"ของครอบครัวและ "จารีต" ทางการศึกษา อยากเรียนเก่งทำไม อย่างนั้นก็ต้องเรียนหมอกับเขาอีกสักคนสิ
บรรยากาศคุกรุ่นขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับนักศึกษาประชาชนก่อนเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 ปีสองปีนั้น ทำให้นักเรียนเตรียมแพทย์อย่างผม ไม่ค่อยเข้าเรียน หากตื่นตัวไปกับเหตุการณ์ภายนอกจุฬา และเริ่มสนใจทฤษฎีทางสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง ที่จริงรวมถึงสนใจหลักธรรมของท่านพุทธทาสด้วยครับ
จุฬาฯทุกวันนี้เป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ตอนผมอยู่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่สถานศึกษาสง่าพระนาม และประสิทธิ์ประสาทวิชาการเพียงอย่างเดียว
นักเรียนเตรียมแพทย์จุฬารุ่น 28 ที่มีผมอยู่ด้วยมีนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย คือ วรวิทย์ วรภัทรากุลและยังมีนักเรียนยอดเยี่ยมอันดับที่ 2, 3 , 4 ด้วย นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยนักเรียนชั้นหัวกะทิจาก รร เตรียมอุดมศึกษา รร สวนกุหลาบ ผมมาจาก รร อัสสัมชัญ เรียนกับพวกนี้แล้วรู้สึกตัวเองเป็นคนธรรมดามาก แต่ที่กลัวกว่าพวกนี้คือ มีบางคน สังคมจัดไม่เรียน เกเร ออกจะเสเพล ด้วย นอกห้องเรียน นะครับ แต่เวลาสอบ ควิซ ถาม ตอบ อาจารย์ พ่อคุณเอ๋ย ช่างปราดเปรื่องกันเหลือเกิน กับพวกแรกเรารู้สึกตนเป็นคนธรรมดา แต่กับพวกหลังน่าจะกระเดียดไปทางโง่ด้วยซ้ำ
นักเรียนแพทย์รุ่น 28 นี้ ต่อมาจะเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 ผลงานวิจัยระดับโลกก็มี ศ นพ ธีรวัฒน์ เหมะจุฑาเป็นประธานราชวิทยาลัยสามคน อันมี ศ พญ จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ภรรยาผม แห่งราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ศ นพ ธานินทร์ อินทรกำธรชัย แห่งราชวิทยาลัยอายุรเวช พล ท นพ การุณ เก่งสกุล แห่งราชวิทยาลัยสูติศาสตร์และนรีเวช ไม่เบานะครับ
พล อ ท ศุภโชค นี่ก็เป็นประธานวิทยาลัยศัลยแพทย์ประสาท ยังมีศาสตราจารย์อาจารย์อาวุโสโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ นายแพทย์ใหญ่ สสจ ผู้อำนวยการ รพ รัฐและเอกชนมากมาย เป็นรองปลัดสาธารณสุข แถมเป็น สส ตั้ง สองคน มีผมและ หมอพรพิชญ์ พึ่งธรรมเดช แห่งสามจังหวัดภาคใต้ด้วย
เมื่อกี้พูดด้านเก่งไปแล้ว คราวนี้ต้องพูดด้านความแปลกหรือการอยู่นอกกรอบบ้าง แต่ละคนในรุ่น 28 นี้ เป็นตัวของตัวเองมาก บางคนเป็น ศ แต่เป็นผู้นำด้านแพทย์แผนไทย ซึ่งคณะก็ไม่ได้สอนไป บางคนอยู่กับการรับใช้พระเจ้ารักษาคนทุกข์คนจนตลอดชีวิต ทั้งที่คณะก็ไม่เคยสอนเรื่องพระเจ้า บางคนบวชตั้งแต่จบไม่นานแล้วไม่สึกเลยจนป่านนี้ ทั้งที่คณะไม่ได้เป็นโรงเรียนพระ บางคนขายเรียลเอสเตทเป็นเศรษฐี เอาความรู้ที่คณะไม่มีสอนมาใช้ ผมเองก็จัดอยู่พวกแปลก เป็นคนเดียวที่ไม่เรียนให้จบแพทยศาสตร์บัณฑิต แต่ก็เป็นศิษย์เก่าคณะแพทย์ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย วิชาที่คณะไม่มีสอนก็แล้วกัน
สุดท้ายคงไม่แน่พอถ้าไม่บอกว่า คนที่สอบได้ที่ 1 ตอนจบปี 6 เป็นนิวโรศัลย์ วรุณ เลาหะประสิทธิ์ ในที่สุดเขากลายเป็น pastor (นักบวชฝรั่ง) อยู่ที่อเมริกาจนทุกวันนี้ และแอ่นแอ๊น หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ผู้ตกเป็นข่าวใหญ่ และผ่านชีวิตที่น้อยคนจะประสบ ก็อยู่รุ่นนี้ และ นพ รวี มาศฉมาดล ผู้มีบทบาทแหลมคมมากในการประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 56-57 นั้น ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นผมที่จุฬาครับ
รำลึกย้อนหลัง นิสิตแพทย์รุ่น28ของผมที่จุฬา ควรจะเรียกว่า "พิเศษ" จากที่ทะเลาะเบาะแว้ง ประชันห้ำหั่นความคิดกันอย่างหนัก แม้แต่นายก สจม นั้นในปี 2519-20 ก็มีสองคน ความขัดแย้งแตกหักจะมาตกอยู่ในคณะแพทย์เดียวกันนี้มาก ผมเป็นนายก สจม จากการเลือกตั้ง แต่ก็จะมีเพื่อนนิสิตแพทย์รุ่นเดียวกันอีกคน ที่จะมาจากการแต่งตั้งของมหาวิทยาลัยคือ สุรชาติ ฉัตรคุปต์ เป็นนายก สจม หลังจากผมพ้นจากตำแหน่ง คงไม่เคยมีปีไหนที่คณะเดียวเป็นนายก สจม สองคน และยิ่งกว่านั้น สองคนนี้อยู่รุ่นเดียวกันด้วย
ไม่มีกลุ่มใหญ่ในรุ่น ไม่มีสามัคคีทั้งรุ่น นี่คือเทรดิชันใหม่ มีกลุ่มย่อยๆ เกิดขึ้นมากมาย เราไม่เกลียดกัน แต่ก็ไม่ค่อยชอบหน้ากัน แทบทุกคนทุกกลุ่มยืนในความคิดตน ไม่ยอมให้ใครล้างสมองง่ายๆ ตราบจนเมื่อแก่แล้วจึงได้หัดมารักกันทั้งรุ่น และก็ได้พบด้วยความพิศวงว่าที่จริงเราคิดไม่ต่างกันเท่าไร เราล้วนแปลกๆแทบทุกคน เป็นคุณสมบัติของคนใน "ยุคสมัย 14-6 ตุลาคม" ก็ว่าได้ โชคดีในที่สุดก็หัดอนุโมทนาในความคิดของเพื่อนที่ต่างกับเราได้ หลังๆเราออกจะภูมิใจด้วยว่าออกจะ "พิลึก" กันแทบทุกคนทุกกลุ่ม
ปัจจุบัน หลายคนในไทย เห็นผม เป็นนักปรองดอง "ประธานปรองดอง" ผู้พยายาม เอา "เหลือง" กับ "แดง" มาปรองดองกัน ผมย้อนคิด ความจริง เรื่องปรองดองนี้ผมเอาแง่คิดและบทเรียนจำนวนมาจากความขัดแย้งและสมานฉันท์ในรุ่น 28 ที่ รร แพทย์จุฬา นี้เอง
ที่จุฬานี่ ผมจะเป็นที่จดจำของคนรุ่นพี่รุ่นน้องในฐานะนายกสโมสรนิสิตจุฬาทั้งปวงในปี 2519 ขอเล่าให้ทราบว่า อุปนายกฝ่ายภายนอกของผมปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่รัฐศาสตร์จุฬา สุรชาติ บำรุงสุข และประธานฝ่ายกีฬา ของ สจม ในยุคผม คือพิเชฐ พัฒนโชติ ต่อมาขึ้นเป็นรองประธานวุฒิสภา สมัยวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งนะครับ
อธิการบดีจุฬาที่ปวดหัวกับความตื่นตัวของนิสิตตลอดช่วงผมเป็นหัวหน้าเด็กจุฬา ก็คือ ท่านศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณะมระ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตที่เข้าอกเข้าใจพวกเราที่สุดแม้จะไม่เห็นด้วยเท่าไร คือ รศ ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ และอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตที่ดูแล สจม โดยตรง และต่อว่าสั่งสอนพวกเรามาโดยตลอดคือ อาจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ ตอนนี้เป็น "อาจารย์แม่"ของคนไทย ตอนนั้นท่านเรียกตนเองว่า"พี่"
รำลึกย้อนหลังทุกท่านเป็นครูที่ดีเด่นเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตาลูกศิษย์ อดทนอดกลั้นและยอมรับในความแปลกแยก ของเด็กจุฬาฯจำนวนไม่น้อย เด็กเก่ง-ดี แต่แปลกแยกในตอนนั้น ทุกวันนี้เวลาผมถูกเด็ก"ถอนหงอก" บ้าง ผมก็นึกว่านั่นเป็นกระบวนเรียนรู้ของเด็กเมื่อก่อนท่านเหล่านั้นทำอย่างไรกับเรา คำตอบง่ายๆ เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก และเชื่อเปี่ยมหัวใจว่าวันหนึ่งเด็กจะเข้าใจเรา เหมือนที่เราเข้าใจครูของเราในที่สุด
อาจารย์หมอท่านหนึ่งที่ประทับอยู่ในใจของผมตลอดมาคือ อาจารย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ วันนี้ท่านย่างแปดสิบ เมื่อผมเรียนหมอนั้นท่านเป็นครูฝ่ายปกครอง ท่านจำชื่อจำหน้าจำเรื่องลูกศิษย์ได้ทุกคน ยืนยัน ร้อยคนท่านจำได้หมด และจำได้ทุกชั้นปีด้วยสิ ท่านเตือนผมเรื่อยเรื่องความคิดบางอย่างที่เกินยุคล้ำยุค และพยายามย้ำว่าเรามีงานหมอเป็นหลัก อย่าไปยุ่งกับการเมือง แต่ตอน กปปส ชุมนุม ผมดูในทีวี เห็นครูเก่าผมขาวโพลน ท่านนี้ขึ้นไปนำสวดมนต์ก่อนเริ่มรายการทุกคืน "อั๊วเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่ได้เกลียดใครทั้งนั้น" ครูครับ คิดถึงวันเก่าคืนก่อนสี่สิบปีมาแล้วที่ผมยืนเด่นบนเวทีประท้วง แล้วครูแอบมองผมจากข้างล่างด้วยความห่วงใย
ทุกวันนี้ยังแอบไปเดิน ไปขับรถเล่น ไปชื่นชมร่มเงาจามจุรี ไปเดินผ่านตึกจักร ในอดีตที่นี่คือสโสมรนิสิตจุฬา ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่กล้าเดินขึ้นไปดูห้องทำงานนายกสโมสรนิสิตที่ตัวเองเคยนั่ง กลัวจะคิดถึงเพื่อน พี่ น้อง จากทุกคณะ ที่ชะตากรรมพามาร่วมงานกัน ณ ที่ "ศักดิ์สิทธิ์" แห่งนี้มากเกินไป
ปีนี้จุฬาฯจะครบร้อยปี เป็นเหตุการณ์สำคัญของอุดมศึกษาไทยด้วย รำลึกถึงการประชุมครั้งท้ายๆก่อนพ้นตำแหน่งนายก สจม ที่มีอธิการบดีเติมศักดิ์เป็นประธาน กำลังเตรียมการจัดฉลอง 60 ปี จุฬาฯ ในเดือนมีนาคม ปี 2520 สี่สิบปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว นี่ก็เป็นเวลาใกล้เคียงกัน มิถุนา กรกฎา นี่เอง เรากำลังเตรียมงานฉลองขวบก้าวที่สำคัญยิ่งอีกคราหนึ่ง 100 ปีจุฬาลงกรณ์
ชีวิตผมคงไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าผมไม่ได้เรียนจุฬาฯ แต่ไปเรียนมหิดลแทน ไม่ได้เป็นนิสิตแพทย์จุฬา ห้าปีในจุฬา เกือบหนึ่งปีที่ตึกจักรพงษ์ สองปีที่คณะวิทยาศาสตร์ สามปีที่โรงเรียนแพทย์เป็นช่วงก่อเกิดความคิดและตัวตนของผมเป็นอย่างยิ่ง
แม้วันนี้ดูจะห่างจากจุฬาฯ แต่ในใจผมนั้นใกล้ชิดสถาบันเสมอ จุฬาฯ อยู่ในดวงใจนิรันดร
อ่านประกอบ :
มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา(2) จอห์นส์ ฮ้อพกินส์