มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา(2) จอห์นส์ ฮ้อพกินส์
ฮ้อพกินส์รับหลักนิยมใหม่มาจากยุโรปคือเยอรมัน สร้างสถาบันให้เป็น University เน้นการวิจัย ไม่หยุดแค่สอนหรือบรรยาย ยกระดับสอนถึงปริญญาโท โดยเฉพาะเอกเป็นสำคัญ ไม่พอใจแค่ให้การศึกษาพื้นฐานแก่เด็กปริญญาตรี หลักการนี้ในที่สุดสถานศึกษาเก่าแก่ชั้นนำล้วนรับเอามาทำ แต่ฮ้อพกินส์คือผู้บุกเบิก...
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา ตอนที่สอง จอห์นส์ ฮ้อพกินส์
-----
ผมรู้จักฮ้อพกินส์ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาก่อนฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด โคลัมเบีย และอื่นๆ อีก ความที่เป็นนิสิตแพทย์ที่จุฬาฯ (จะเล่าต่อในเรื่องมหาวิทยาลัยของผม: ในไทย) จึงได้อ่านตำราแพทย์ดีๆ ของฝรั่งซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนอยู่ที่ฮ้อพกินส์ โรงเรียนแพทย์ที่นั่นเก่าแก่และเป็นเลิศ ตอนนั้นดูจะดีกว่าฮาร์วาร์ดด้วยซ้ำ
ในยุคที่สมเด็จพระราชบิดาทรงเรียนที่ฮาร์วาร์ดนั้น จอห์นส์ ฮ้อพกินส์ก็มีโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ระดับเดียวกัน
เฉลยลัคน์ ธนะศิริ รุ่นน้องวิทยาศาสตร์และพี่กนก วงษ์ตระหง่าน จากทันตแพทย์ จุฬาฯ ทั้งคู่ เรียนอยู่และเพิ่งจะจบปริญญาเอกที่นั่น ตอนผมเรียนที่ชาร์ลสตัน จึงชวนผมแวะขึ้นไปเยี่ยมดูมหาวิทยาลัยนี้ซึ่งตั้งอยู่ในบัลติมอร์ ผมรีบไปโดยพลัน อยากเห็นครับ จากนั้นไปเป็นเวลาอีก15 ปีจะได้ไปที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสอน
ฮัอพกินส์ตั้งในปี ค.ศ.1860 เศษ ๆ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอีกนะครับ ตั้งแต่เริ่มก็ไม่ใช้หลักการของ College แต่ใช้หลักการของ University แบบเยอรมัน
สถานอุดมศึกษาของอังกฤษ ยุโรปและอเมริกันในตอนแรกนั้น ไม่ใช่ University หากเป็น College เล็กๆ อาจารย์-ศิษย์ใกล้ชิดกัน ย้ำการบรรยายหัองเล็กๆ อาจารย์เตรียมการสอนอย่างดีเยี่ยม นักศึกษาอ่านหนังสือเตรียมตัวเรียนอย่างดี สอนปริญญาตรีเป็นสำคัญ ฮาร์วาร์ด เยล ปรินซตัน โคลัมเบีย ล้วนเป็น College ทั้งสิ้น สถาบันไหนอยู่ในชั้นนำมักจะมีโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนกฏหมายด้วย
ฮ้อพกินส์รับหลักนิยมใหม่มาจากยุโรปคือเยอรมัน สร้างสถาบันให้เป็น University หมายถึงเน้นการวิจัยด้วย ไม่หยุดแค่สอนหรือบรรยาย ยกระดับสอนถึงปริญญาโทและโดยเฉพาะเอกเป็นสำคัญ ไม่พอใจแค่ให้การศึกษาพื้นฐานแก่เด็กปริญญาตรี หลักการนี้ในที่สุดสถานศึกษาเก่าแก่ชั้นนำล้วนรับเอามาทำ แต่ฮ้อพกินส์คือผู้บุกเบิก
เป็นอันว่า ด็อกเตอร์ที่เมดอินอเมริกานั้นในช่วง 1860 เศษถึง 1900 จึงผลิตจากฮ้อพกินส์เกือบหมด
หลัก College และ University นี้ ความจริงไม่แพ้ไม่ชนะกัน พบกันครึ่งทาง มหาวิทยาลัยชั้นเลิศนั้น จะเน้นการสอนตรีด้วยความเอาใจใส่ใกล้ชิดและปริมาณนักศึกษาต้องมีน้อย พร้อมกันนั้นก็จะมีนักศึกษาชั้นปริญญาเอกอยู่ในสาขาคณะวิชาหรือโรงเรียนที่หลากหลาย นักศึกษา ป โท จะไม่ใช่จุดเน้น จะเน้น ป ตรี กับ ป เอก ใครจะเรียนบัณฑิตศึกษาต้องมุ่งทำให้ถึงเอกเท่านั้น
ที่โคลัมเบียตั้งแต่สมัยผมเรียนจนถึงทุกวันนี้ นศ. ป ตรีมีแค่สี่ห้าพันคน แต่นศ. ป เอก มีถึง 12,000 คน กลับหัวกลับหางกับมหาวิทยาลัยบ้านเราซึ่งจะมีนศ. ชั้น ป ตรี หลายหมื่น แต่จะมี ป โท และเอก เป็นร้อยเท่านั้น
ฮ้อพกินส์มีหลายคณะวิชาที่อยู่ระดับชาติหรือระดับโลก นอกจากหมอแล้วดีเลิศแทบทุกคณะวิชา มีอยู่คณะหนึ่งคือ สถาบันการต่างประเทศระดับสูง (School of Advanced International Studies: SAIS) ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ไม่ใช่บัลติมอร์ เพราะต้องการอยู่ใกล้กับรัฐบาลและรัฐสภาอเมริกัน และสถานทูตของทุกประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบนั้น
ตอนเรียนแพทย์ ผมเคยฝันจะโฉบบินไปเรียนต่อที่ฮ้อพกินส์ แต่กลับไม่มีโอกาสและวาสนา (จะเล่าในวันต่อๆ ไป) และที่สุดผมกลับมาเรียนจบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ที่โคลัมเบีย ชีวิตใครมีทางไปของตนเองนะครับ อะไรที่ฝันไม่ได้จริง อะไรที่ได้จริงไม่เคยฝัน
พอกลับจากเรียนและสอนที่โคลัมเบียมาอยู่ธรรมศาสตร์ (อีกมหาวิทยาลัยในไทยของผม) สักเจ็ดปี ในต้นปี 2541 ผมก็ได้รับเชิญจากสถาบันการต่างประเทศชั้นสูงของฮัอพกินส์ให้ไปสอนระดับเอกและโทที่นั่นเทอมหนึ่งในวิชาเศรษฐกิจการเมืองไทย ในตำแหน่ง Distinguished Visiting Professor of Thai Studies ศาสตราจารย์รับเชิญคนแรกจากเมืองไทย ตอนนั้นทั้งโลกอยากรู้ว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เกิดได้อย่างไร และลามไปทั้งเอเชียได้อย่างไร
ทำไมสถาบันการทูตของฮ้อพกินส์เชิญผม ส่วนหนึ่งอาจเพราะตอนนั้นผมมีหนังสือและบทความเศรษฐศาสตร์การเมือง ตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ ที่เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์วิชาการระดับโลก ได้แก่ Oxford University Press, Cambridge University Press, Cornell University Press และ Longman Press อยู่แล้ว
จริงๆ แล้วงานวิชาการของผมตีพิมพ์และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกก่อนที่จะเขียนและเผยแพร่ในภาษาไทยนะครับ แต่ตอนจะไปสอนที่ฮ้อพกินส์นั้นคนไทยก็เริ่มกล่าวขวัญถึง "สองนคราประชาธิปไตย" ของผมกันบ้างแล้ว
ผมดีใจมากที่ได้ไปจอห์นส์ ฮ้อพกินส์ ในที่สุด ยิ่งกว่าได้ไปเรียน คือไปสอนเสียเลย ไปสอนเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ภาษาเรา นึกขอบคุณครูอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษให้ ตั้งแต่เตรียมประถมถึงมัธยมต้นที่อรุโณทัยและอัสสัมชัญลำปาง และโดยเฉพาะชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญในกรุงเทพฯ (จะเล่าในเรื่องโรงเรียนของผมต่อไปครับ)
ผมพาหมอจิรพรและลูกน้อยสี่คนไปอยู่ด้วยที่วอชิงตัน เป็นการกลับไปสอนในอเมริกาเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกสอนในฐานะ Assistant Professor ครั้งที่สองในฐานะ Distinguished Professor ตอนอายุ 43 ปีเท่านั้น
ชีวิตผมเด่นอยู่อย่าง มีทั้งช่วงช้าและช่วงเร็วสลับกันอยู่ตลอด ตอนเริ่มรับราชการหลังจบปริญญาเอก อายุปาเข้าไป 36-37 แล้ว เป็นอาจารย์ซีสี่เอง จัดว่าช้ามากๆ แต่ภายในเจ็ดปีก็ได้รับเชิญไปเป็น Visiting Professor ในโรงเรียนการทูตและการต่างประเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐหรือของโลกเมื่ออายุเพียง 43 หนุ่มมาก ดูไม่แก่กว่านักศึกษาฝรั่งวัยยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบปลายๆ เท่าไร
ตำแหน่ง Distinguished Visiting Professor of Thai Studiesนี้ ต่อมา ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร อีกสองนักวิชาการนามกระเดื่องของไทยจะได้รับเชิญให้ไปสอนทำนองที่ผมไปบุกเบิกหรือเบิกโรงเอาไว้ครับ
สถาบันการต่างประเทศของฮ้อพกินส์นี้อยู่ในระดับไหนของสหรัฐและของโลกดูง่ายๆ ครับ คณบดีของสถาบันเวลานั้นคือ พอล โวล์ฟเฟอวิช อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอินโดนีเซีย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีและต่อมาหลังจากพ้นจากคณบดีจะไปเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ผู้วางแผนบุกอิรักหลังกรณี 9/11 และต่อมาคณบดีคนนี้ยังจะทะยานขึ้นเป็นถึงประธานธนาคารโลกเสียด้วยซ้ำ
ผมสอนอยู่ที่นั่น มีวาสนาที่จดจำได้ชั่วชีวิต ในต้นๆ ปี 2541 นั้น วันหนึ่งอีตาคณบดีที่เล่ามานี้ ตามผมไปรับเสด็จเจ้านายระดับสูงที่จะทรงมาเสวยพระกระยาหารร่วมกับคณะผู้บริหารและศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของสถาบัน เจ้านายพระองค์นั้น คือสมเด็จพระเทพรัตนฯ หลังจาก "วิกฤตเงินบาท" ท่านเสด็จไปทรงงานกับนักวิชาการระดับโลกหลายแห่ง เพื่อจะหาหนทางแก้วิกฤตหรือปัญหาต่างๆ และท่านก็เลือกเสด็จมาที่จอห์นส์ ฮอพกินส์ด้วย
ผมถวายคำนับและเข้านั่งประจำที่ อยู่ไม่ไกลแต่ก็ไม่ใกล้พระองค์ท่าน รับฟังการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ท่านทรงถามตอบได้อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า charming อยู่เสมอ เรียกเสียงฮือฮาและหัวเราะจากฝรั่งหัวสีเกรย์รอบโต๊ะเสวย ผมร่วมวงสนทนา ร่วมยิ้ม ร่วมหัวเราะ ร่วมเรียนรู้ พร้อมกับรับฟังเสียงสรรเสริญพระปรีชาญานของ this very intelligent and charming princess อดภูมิใจแทนคนไทยเราที่ฝรั่งชั้นนำของโลกนับถือศรัทธา Princess ของเราและพยายามถวายงาน
เมื่อเสร็จจากพระกระยาหาร สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาดำเนินมาใกล้ๆ ผมและรับสั่งเชิงถามว่า "เราเรียนจุฬาฯ รุ่นเดียวกันนี่ ตอนนั้นเป็นนายก สจม. ไม่ใชหรือ" กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเข้าจุฬาฯ ก่อนใต้ฝ่าละอองพระบาทปีหนึ่ง พุทธเจ้าข้า" ทรงแย้มพระสรวลและทรงถามต่อ "เอ๋ ตอนนั้นเรียนหมอนี่ ทำไมตอนนี้มาสอนการต่างประเทศที่นี่" ผมกราบทูลไปว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเปลี่ยนมาเรียนทางรัฐศาสตร์" ทรงรับสั่งต่อ "ดีแล้ว มาสอนที่นี หาความรู้เพิ่มเติม แล้วรีบกลับไปช่วยบ้านเรา"
ผมไม่เคยฝันสักนิดว่าพระองค์ท่านจะทรงจำได้ว่ามีนิสิตแพทย์จุฬาคนหนึ่งเคยเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยชื่อนาย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ทรงสนพระทัยใน บุคคล และเหตุการณ์ในจุฬาฯ และในบ้านเมืองในขณะนั้นอย่างยิ่ง ท่านทรงจำว่าผมอยู่ปี 4 เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน ความจริงผมเรียนแพทย์ จึงอยู่ถึงปีห้าแล้วเป็นนายกสโมสรในปีนั้น ปี 2519 และทรงจำชื่อกับตำแหน่งของผมได้แม้เวลาจะล่วงเลยไปแล้ว 21-22 ปี สำหรับผมแล้วเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และตั้งใจว่าเมื่อใดมีโอกาสจะถวายงานพระองค์ท่านด้วยชีวิตจิตใจหาที่สุดมิได้ ซึ่งผมจะมีโอกาสวาสนาต่อมา (จะเล่าในมหาวิทยาลัยของผมในไทยครับ โปรดรอคอย) ผมได้บรรยายให้นักเรียนนายร้อยในวิชาของพระองค์ท่าน ต่อเบื้องพระพักตร์ สองครั้ง สองปีติดต่อกัน ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หนึ่งถึงสองปีก่อนที่ "ทูลกระหม่อมอาจารย์" จะทรงเกษียณอายุราชการ
ความทรงจำผมที่ฮ้อพกินส์จึงมีทั้งการสอนและการเลี้ยงลูกสี่คนรอบวอชิงตันและยิ่งกว่านั้นคือการที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนฯ อย่างใกล้ชิดดังที่เล่าก็เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ที่นั่นเอง
นอกจากนั้น ผมยังเอาเวลาส่วนหนึ่งที่นั่นมาเขียน "อ่านและสอนที่จอห์นส์ ฮ้อพกินส์: ประชาสังคมในมุมมองตะวันตก" วางตลาดในปี 2541- 42 และตีพิมพ์จำหน่ายมาถึงทุกวันนี้ ไม่เคยขาดตลาด โปรดหาซื้ออ่านได้ การพิมพ์ครั้งล่าสุดนี้ใช่ชื่อว่า "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน: อ่านและสอนที่จอห์นส์ ฮอปกินส์"