มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา
วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของสหรัฐที่มีอยู่เวลานี้ นั้นส่วนใหญ่ที่สุด หรือเกือบทั้งหมด คงพูดได้ ตั้งต้นหลังจากอเมริกาเป็นเอกราชแล้ว แต่ผมเรียนสองแห่งแล้วนะ สถาบันที่อายุเก่าแก่กว่าเอกราชของอเมริกาเสียอีก
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง มหาวิทยาลัยของผม: ในอเมริกา
----
หลายคนจำผมรู้จักผมว่าเป็นนักการเมือง ทั้งที่ จริงๆ ผมทำงานการเมืองไม่กี่ปี จากปี 2544 ถึงปี 2551 เจ็ดปีเอง อาจเป็นเพราะเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคมหาชน คนจึงรู้สึก"อิน"กับผมในฐานะนักการเมืองมาก
เวลาในชีวิตผม ปีนี้ อายุ 62 ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเป็นนักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย นักคิด นักทฤษฎีนะครับ เริ่มเมื่อปี 2532 พลันที่จบปริญญาเอก รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ค (Columbia University) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สอนในระดับปริญญาโทและเอกที่นั่น
จวบถึงปัจจุบัน ผมสอนหนังสือ เขียนหนังสือ มาแล้วเกือบ 30 ปี มีเว้นไปเล่นการเมืองแค่ 7 ปี
มหาวิทยาลัยแห่งแรกในอเมริกาของผมคือวิทยาลัยชาร์ลสตัน (College of Charleston) เป็น college( สอน ป ตรี เป็นหลัก) ของรัฐคาโรไลนาใต้ ไปเรียนรัฐศาสตร์ระดับ ป ตรี หนึ่งเทอมกับหนึ่งฤดูร้อน (Summer) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยที่อเมริกาเป็นอาณานิคมอังกฤษ เก่าน้อยกว่า ฮาร์วาร์ด เยล โคลัมเบีย ไม่เท่าไร มีตึกเก่าอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
มีนายพลและนายทหารฝ่ายใต้หลายคนในสงครามกลางเมืองจบจากที่นี่และชื่อเมืองนี้ปรากฏหลายครั้งในนวนิยายคลาสสิก Gone With the Wind
อยู่ที่ชาร์ลสตันเก้าเดือนก็ยกระดับไปเรียน ป โท รัฐศาสตร์ เน้นนโยบายศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) อันเป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐจอร์เจีย ไม่ได้อยู่ในแอตแลนตา แต่อยู่ในเอเธนส์ (คนอเมริกันจริงๆ เขาออกเสียง ว่า แอ้ท-เทิ่นส์) เก่าพอๆกับชาร์ลสตัน ตั้งมาตั้งแต่ประเทศยังไม่ได้เอกราช
วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของสหรัฐที่มีอยู่เวลานี้ นั้นส่วนใหญ่ที่สุด หรือเกือบทั้งหมด คงพูดได้ ตั้งต้นหลังจากอเมริกาเป็นเอกราชแล้ว แต่ผมเรียนสองแห่งแล้วนะ สถาบันที่อายุเก่าแก่กว่าเอกราชของอเมริกาเสียอีก
มหาวิทยาลัยจอร์เจียตอนผมเรียนก็จัดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยรัฐในภาคใต้ กว้างใหญ่ สวยงาม ตึกรามน่าเกรงขาม ในเมืองที่มีคนน้อยกว่าจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีโรงเรียนแพทย์นะครับ นอกนั้นเกือบครบถ้วนทุกสาขา ผมเรียนที่นั่นอย่างสงบ เงียบ เคร่งขรึม ตั้งใจ ขยัน อ่านหนังสือวันละ8-15 ชั่วโมง สู้กับเพื่อนนักเรียนฝรั่ง ตายเป็นตาย ไม่มีถอย
จบอย่างสวยงามในสองปี พร้อมด้วยวิทยานิพนธ์นโยบายพัฒนาการเกษตรของเกาหลีและไต้หวันเปรียบเทียบกันและระหว่างที่เรียนผมได้รับทุนค่าเล่าเรียนจากมหาวิทยาลัยด้วย
อาจารย์ที่นั่นพอใจในผลการเรียนและวิทยานิพนธ์จึงมอบทุนค่าเล่าเรียนแถมค่ากินอยู่ห้าปีให้ต่อปริญญาเอกที่นั่น ก็เกือบรับครับ แต่บังเอิญภรรยา หมอจิรพร ซึ่งจบแพทย์ที่จุฬาฯและตามไปอยู่ด้วยกัน ได้รับคัดเลือกเข้าฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาที่ College of Physicians and Surgeons ที่ Columbia University ใน Harlem Hospital ผมจึงเปลี่ยนแผน ขยับขึ้นไปเรียนปริญญาเอกที่โคลัมเบียในทางรัฐศาสตร์ โชคดีเขารับครับ แต่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ส่วนหมอจิรพร ฝึกไป ทำงานไป ได้เงินเดือนไป ภรรยาจุนเจือสามี
เป็นอันว่าสองสามีภรรยาซึ่งยังไม่มีลูกในวัยสามสิบ ไปเรียนที่โคลัมเบียด้วยกัน ในมหานครที่เวลานั้นใหญ่โต และรุ่งเรืองสนุกสนาน เต็มไปด้วยแสงสีเสียง ใหม่ๆ เดินไปไหนตาจ้องขึ้นบนดูแต่ตึกระฟ้า ไม่กระพริบตา จนแทบจะพลาดตกท่ออยู่บ่อยๆ ไปไหนใช้รถไฟใต้ดิน มีทางหลวงรอบเมือง เลียบเมืองเลี่ยงเมือง ไขว้กันไปไขว้กันมา สูงจนต้องแหงนดูด้วยความพิศวงเช่นกัน อาคารหรือตึกของนิวยอร์คอยู่บนถนนที่ตัดเป็นบล้อกๆ เป็นระเบียบมาก พูดสั้นๆ เวลานั้นนิวยอร์คเจริญตาเจริญใจกว่ากรุงเทพฯ อย่างเทียบกันไม่ติด ว่างั้นเถอะ จากกรุงเทพฯเข้าไปอยู่นิวยอร์ค คงเป็นคล้าย"คนบ้านนอกเข้ากรุง" ปานนั้น แต่แปลกครับ เดี๋ยวนี้ไปนิวยอร์คกลับรู้สึก ว่า "งั้นๆ แหละ" หรือ "ไม่เท่าไร" บูรพาภิวัตน์ทำงานครับ
ผมอยู่ชาร์ลสตัน เจอคนเป็นแสน พอมาอยู่เอเธนส์เหลือคนเป็นหมื่น แต่พอมานิวยอร์คอยู่กับคนร่วมยี่สิบล้าน หากนับปริมณฑลด้วย
มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นี่ก็เก่าอีกแล้ว เก่ากว่าชาร์ลสตันและจอร์เจียเสียอีก เก่าที่สุดในรัฐนิวยอร์คและมหานครนิวยอร์ค เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน อยู่ใน ไอวี หลีก Ivy League อันเป็นสมาคมมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่ของสหรัฐ ได้แก่ ฮาร์วาร์ด เยล ปรินซตัน เพนซิลเวเนียโคลัมเบีย คอร์เนล บราวน์ ดาร์ทมัท ในนี้ห้ามหาวิทยาลัยแรกตั้งมาแต่ยุคอาณานิคม
การศึกษาในสหรัฐในยุคแรกเริ่มมีแต่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นสำคัญส่วนใหญ่เป็นของศาสนาและมูลนิธิครับ มหาวิทยาลัยสำคัญของประเทศเวลานี้ ก็ไม่ได้เป็นของรัฐเท่าไร
Columbia เป็นสำนักศึกษาของบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐคนสำคัญ คือ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน รัฐมนตรีคลังคนแรกของประเทศ เป็น มหาวิทยาลัยที่สี่ประธานาธิบดีเกี่ยวข้องด้วย คือ ทีโอดอร์ โรสเวลท์ และ แฟรงกลิน โรสเวลท์ กับ โอบามา เรียนที่นี่
ส่วนอีกประธานาธิบดีหนึ่งคือ ไอเซนเฮาว์ ท่านเคยเป็นอธิการบดีที่นี่ เปลี่ยนจากการเป็นจอมทัพผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็น President ของ Columbia University จากนั้นไปเป็น President of the United States of America
ผมเรียนที่รัฐศาสตร์ที่โคลัมเบียห้าปีก็สำเร็จการศึกษา จากปีสองถึงปีห้าได้ทุนค่าเล่าเรียนจากมหาวิทยาลัยครับ จบเป็นคนแรกของชั้นที่มีราวสี่สิบคนอย่างไม่เชื่อตัวเอง เพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลากัน 7-12 ปีจึงจะจบ แรงกดดันส่วนหนึ่งคือเรากำลังจะมีลูก ทีแรกคิดว่าคนแรก ต่อมาจึงเห็นในอัลตราซาวนด์ว่า คู่ แรก แฝดหญิงชาย (เขตรัฐกับเขมรัฐ) ครับ เวลาไม่มีให้ไถลหรือเพอร์เฟคชันนิสต์อีกแล้ว ต้องตะลุยหนัก นอนวันละสี่ห้าชั่วโมง ลูกโตในท้อง ส่วนพ่อก็เร่งเขียนไปเรื่อยๆ พอลูกแฝดคลอดออกมาได้สองเดือนผมก็เขียนดุษฎีนิพนธ์จบพอดี
ดุษฎีนิพนธ์ผมกลายเป็นหนังสืออย่างรวดเร็ว Westview Press พิมพ์เผยแพร่ทั่วโลก เป็นงาน landmark เกี่ยวกับ Thai Studies หรือการเมืองไทยที่มีคนใช้สอนใช้อ่านใช้วิจัยต่อยอดอีกมากมาย เป็นเหตุให้ผมได้รับเชิญให้สอนอยู่ทีนั้นสั้นๆ ผมจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอกจากโคลัมเบียน่าจะเป็นคนแรกของเมืองไทย สุรชาติ บำรุงสุขในเวลาต่อมาจะเป็นคนที่สองที่ได้รับ PhD in Political Science จากที่นั่น
รัฐศาสตร์ของโคลัมเบียนั้นเวลานี้จัดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกาและของโลก การสอนรัฐศาสตร์สมัยใหม่ในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษก็เริ่มทีโคลัมเบียก่อนที่อื่นใด ผมไม่เพียงแต่จบจากที่นั่นเป็นคนแรก แต่ยังสอนที่นั่นเป็นคนแรกด้วย
จากนั้น จนถึงปี 2540-41 ผมจะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาอีกแห่งคือจอห์นส์ ฮ้อพกินส์ เอาไว้เล่าต่อติดตามครั้งต่อไป