บอร์ดภาคปชช.-ชมรมแพทย์ชนบท ค้านการลงมติเลือกเลขาฯ สปสช.
เหลือเพียง นพ.ประทีป เพียงชื่อเดียวที่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองของบอร์ด โดยกรรมการสรรหาได้ให้คะแนนไว้สูงถึง 91 จาก 100 คะแนน ซึ่งตาม มาตรา 31 แห่งพระราชบัญัญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ได้ตราไว้แล้วว่าจะทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องรีบเจรจาเงินเดือนและแต่งตั้ง
วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ขอให้ รมต.กระทรวงสาธารณสุขแสดงความรับผิดชอบต่อกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.ที่ไม่ถูกต้อง
ความไม่ชอบมาพากลกรณีการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.ที่ส่งกลิ่นมาตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา ได้มีความชัดเจนที่สุดในวันที่ 4 กรกฏาคม 2559 ซึ่งมีการประชุมบอร์ด สปสช.และมีมติที่เป็นที่กังขาและข้อด่างพร้อยอย่างยิ่งของ รมต.นพ.ปิยะสกลในการทำหน้าที่ประธานที่นำอคติส่วนตนมาตั้งแทนผลประโยชน์ขององค์กร สปสช.และบ้านเมือง
เป็นที่ทราบกันดีว่า รมต.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทรนั้น ไม่ต้องการให้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เป็นเลขาธิการ สปสช. แต่ต้องการให้คนจากกระทรวงสาธารณสุขที่ตนเองคุมได้เป็นเลขาธิการ แต่เมื่อมีการสะดุดขาตนเอง
จากการที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ยืนยันตีความคุณสมบัติผู้สมัครตามการตีความเดิมก่อนหน้านี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ที่ได้ลงนามสัญญากับ สปสช.นั้นนับเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้คนที่ รมต.หมายมั่นมีคุณสมบัติต้องห้าม จึงเหลือเพียง นพ.ประทีป เพียงชื่อเดียวที่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองของบอร์ด โดยกรรมการสรรหาได้ให้คะแนนไว้สูงถึง 91 จาก 100 คะแนน ซึ่งตาม มาตรา 31 แห่งพระราชบัญัญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ได้ตราไว้แล้วว่าจะทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องรีบเจรจาเงินเดือนและแต่งตั้ง ซึ่งหากรมต.นพ.ปิยะสกลจะไม่นำอคติส่วนตนมาเป็นธงนำ ดำเนินการตามกรอบแห่งกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างก็จะราบรื่น เดินหน้าสร้างสรรค์ระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป
แต่คืนหมาหอนนั้นมีจริง วันเสาร์อาทิตย์ก่อนวันประชุมบอร์ดที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559 มีการโทรศัพท์ล็อบบี้คณะกรรมการบอร์ด สปสช.สายราชการและผู้ทรงคุณวุฒิสายแพทย์พาณิชย์อย่างโจ่งครึ่ม เพื่อสกัดไม่รับรอง นพ.ประทีป และ รมต.มั่นใจว่าในการโหวตตนจะกำชัยชนะ จึงประกาศสร้างภาพว่า ตนเป็นกลางว่าตนจะงดออกเสียง แต่เมื่อลงมติกลับผิดคาด คะแนนเสียงเท่ากัน 13 ต่อ 13 และมีบัตรเสีย 1 ใบ ที่ขีดถูกในช่องไม่รับรอง โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายกากบาท รมต.จึงขอมติให้รับรองบัตรเสียให้เป็นบัตรดีแล้วนับเป็นบัตรไม่รับรอง ส่งผลให้ไม่รับรอง 14 เสียงต่อการรับรอง 13 เสียง
ชมรมแพทย์ชนบทเชื่อว่า บัตรเสียใบนั้น ผู้ลงคะแนนคือบอร์ดสายราชการ ที่ถูกล็อบบี้แอบอ้างอย่างหนักให้ลงคะแนนไม่รับรอง แม้มีแรงกดดันที่ต้องทำตามใบสั่ง แต่สำนึกถูกผิดยังมี จึงจำใจลงว่าไม่รับรองตามที่รับปากไว้ แต่เจตนาทำให้เป็นบัตรเสียด้วยการกาถูกแทนการกากบาท เพื่อไม่ให้ผิดต่อจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการที่ดี มีที่ไหนกรรมการที่ล้วนคนเรียนมาสูง รับตำแหน่งใหญ่โตจะไม่เข้าใจคำสั่งที่ให้กากบาทในช่องที่ตนเลือก นี่คือความจริงที่รัฐมนตรีถือโอกาสบิดเบือน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผิดทำนองคลองธรรม เป็นการกระทำการไม่สุจริต ทั้ง 2 กรรม 2 วาระติดๆกัน ดั่งการขืนใจกฎหมายซ้ำ 2 คราวในวาระเดียว
จากความล้มเหลวในการจัดกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. โดยไม่ดำเนินการตามที่กรอบกฎหมายกำหนด รวมถึงการใช้กระบวนการทำบัตรเสียให้เป็นบัตรดีที่ผิดกฎหมายหรือผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสม ส่อความไม่สุจริต หลายวันผ่านไปดูเหมือนรัฐมนตรีจะไม่ได้มีความสำนึกต่อความผิดพลาดใดๆ เมื่อผิดพลาดไปแล้ว ย่อมไม่มีอะไรที่ดีกว่าการแสดงสปิริตและประกาศแสดงความรับผิดชอบอย่างกล้าหาญ ชมรมแพทย์ชนบทจึงจำต้องออกมาเรียกร้อง “ขอให้รัฐมนตรีแสดงสปิริตแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวอย่างลูกผู้ชาย” อย่าคิดว่าเงียบหรือนิ่งให้เรื่องจบ เพราะท่านกำลังทำลายระบหลักประกันสุขภาพอันเป็นความหวังสำคัญของคนไทย
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นางสุนทรี เซ่งกิ่ง และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการ สปสช. ภาคองค์กรเอกชน ออกมาคัดค้านการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
จากการให้สัมภาษณ์ของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลศัตยาธร รัฐมนตรี สธ.ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช.ที่วิพากษ์วิจารณ์กรรมการ สปสช.บางส่วนที่ไม่ยอมรับการคัดเลือกเลขาธิการสปสช. เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น มีความไม่ถูกต้องหลายประการ
การประชุมของสปสช.เพื่อคัดเลือกเลขาธิการนั้น มีบัตรลงคะแนน 1 ใบ ทำสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกแทนเครื่องหมายกากบาท ทำให้มีการตีความว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรเสียหรือไม่ และเป็นเหตุให้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
1. การดำเนินการลงคะแนนใช้ระบบการลงคะแนนลับ ขณะที่ลงคะแนน มีการฉาย LCD ให้ใช้เครื่องหมายกากบาท (X) บนจอตลอดเวลาและเขียนชัดเจนในบัตรลงคะแนน สะท้อนว่าคนที่ใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ไม่สอดคล้องกับกติกา จะเป็นบัตรที่ดีได้อย่างไร นักกฎหมาย สปสช. ที่จัดการลงคะแนนก็บอกกับพวกเราชัดเจนว่า เป็นบัตรเสีย แต่ไม่กล้าพูดในที่ประชุม
2. เมื่อมีการถกประเด็นนี้ ประธานได้ถามหาเจ้าของบัตร ไม่มีผู้ใดยอมแสดงตัว จนกระทั่งประธานสั่งให้มีการลงมติรับรองเจตนารมณ์ของบัตรดังกล่าว ที่ประชุมใช้เวลาถกประเด็นนี้นานเกือบ 1 ชั่วโมงจึงมีกรรมการท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าผมพูดว่า ผมเป็นเจ้าของบัตร ที่ประชุมจะเชื่อหรือไม่ว่า ผมไม่รับรอง” ซึ่งภายหลังการประชุมกลับมีกรรมการอีกคนอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของบัตร
3. คำถามคือ การลงมติยืนยันเจตนารมณ์ของบุคคลอื่น ในการใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก”ทำได้หรือไม่ เพราะกรรมการที่ไปรับรองว่าบัตรนั้นเป็นบัตรดี เท่ากับเป็นการรับรองการตัดสินใจของบุคคลอื่น ซึ่งทำไม่ได้
4. ที่ประชุมยังใช้เสียงข้างมากด้วยการโหวต ไม่ให้บันทึกเสียงข้างน้อยในสรุปมติที่ประชุม แต่ให้ไปใส่ไว้ในรายงานการประชุมเท่านั้น
5. ในประเด็นที่มีข้ออ้างว่า หากที่ประชุมคัดเลือกผู้สมัครแล้วได้คะแนน 14:13 จะไม่สามารถทำงานได้เพราะเสียงต่างกันเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น ในอดีตการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. สมัย นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ สมัยที่ 2 ก็ได้รับเลือกภายใต้คะแนนที่ประธานต้องชี้ขาด ยังสามารถบริหารสำนักงานได้เป็นอย่างดี
6. กรรมการหลายคนพยายามเสนอให้ประธานลงคะแนนตัดสินใจ หรือให้ดำเนินการลงคะแนนลับอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาบัตรเสีย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ประธานเพียงแต่บอกว่า เสียงข้างมาก(ซึ่งรวมบัตรเจ้าปัญหาดังกล่าว)ไม่รับรองแล้ว ประธานไม่จำเป็นต้องลงคะแนนชี้ขาด
การคัดเลือกเลขาธิการในครั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง รอบคอบ เพราะหากไม่ถูกต้องย่อมเกิดความเสียหาย ไม่เป็นธรรม และกีดกันผู้สมัคร ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการสรรหารอบใหม่ได้ เนื่องจากอายุเกิน 60 ปีแล้ว
ภาคประชาชนไม่ได้ตีรวน แต่การดำเนินการคัดเลือกในครั้งที่ผ่านมา อาจมีปัญหาในทางกฎหมาย และทำให้ผู้ได้รับการสรรหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการคัดเลือกและเสียหายต่อโอกาสในการรับตำแหน่ง สร้างผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของคนที่ทำงานพัฒนาระบบหลักประกันมามากกว่า 10 ปี
จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการด่วนเพื่อยุติปัญหาความไม่ถูกต้องในการรับรองบัตรเสีย เราในฐานะกรรมการพร้อมรับมติเสียงข้างมากที่ถูกต้อง
การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการปกป้องตัวบุคคล แต่ต้องการให้กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการเป็นไปอย่างถูกต้อง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สุขภาพมาตรฐานเดียว