“มีชัย” ย้ำชัดไม่ล้มนโยบาย 30 บาท ครั้งแรกนำมาบรรจุไว้ใน รธน.
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยันเป็นครั้งแรกที่ได้บรรจุเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ใช้เงินคุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์ ย้ำชัด ไม่ได้มีการล้มเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างที่มีคนปล่อยข่าว
วันนี้(7 กรกฎาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดยก่อนการประชุมฯ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง“รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูประบบสุขภาพ”
นายมีชัย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระสำคัญโดยสรุป 2 เรื่องคือ โครงสร้างของประเทศ การบริหารบ้านเมือง และการแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาของประเทศต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่แนวทางการแก้ปัญหาจะเหมือนกัน โดยปัญหาของประเทศที่ได้รวบรวมจากความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข 6 ด้าน คือ 1.สิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.ความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิตของประชาชน 3.ความไม่ตรงไปตรงมาทางการเมือง 4.การทุจริตประพฤติมิชอบ 5.ระบบการศึกษาที่เป็นต้นตอของความ เหลื่อมล้ำ และ6.การบังคับใช้กฎหมาย
สำหรับด้านสาธารณสุข นายมีชัย กล่าวยอมรับว่า มีความก้าวหน้า ไปไกล เร็วกว่าสาขาอื่นๆ มีแนวคิดที่ได้รับการยอมรับนับถือ แม้จะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ วิธีคิดของคนสาธารณสุขก็ก้าวหน้าไปแล้ว การเขียนไว้จึงเขียนไว้ว่าของใหม่ควรมีอะไร เสมอภาคยังไง ขจัดความเหลื่อมล้ำยังไง โดยได้กำหนดไว้ในหลายมาตรา ที่ได้เพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การดูแลประชาชนครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย ให้มีความรู้ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ครบวงจร ให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปขยับขยายกิจกรรม เพื่องบประมาณดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีหมอประจำตัว ด้วยการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัว ควบคู่ไปกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขดีขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง
ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีคนปล่อยข่าวว่า จะมีการยกเลิกนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่จริง มาตรา 258 (ช ข้อ 4) ยังรองรับกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่พยายามให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ต่อประชาชนโดยตรง และทำให้ระบบนี้ต้องยั่งยืนต่อไป
"ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังไม่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูง ใช้เงินคุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น"
ที่มา:http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=84490