8 ปีไฟใต้(2) จับตา3ปมร้อนเขย่าด้ามขวานปี55
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอีกปัญหาหนึ่งของประเทศไทย และแม้รัฐบาล 7 ชุดที่ผ่านมาจะทุ่มงบประมาณกว่า 1.6 แสนล้านบาทลงไปเพื่อจัดการปัญหา แต่ดูเหมือนว่าความคืบหน้าในการชำระสะสางชนวนเหตุแห่งปัญหายังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร
เพราะคนก็ยังตาย ปืนก็ยังหาย การใช้อำนาจรัฐก็ยังถูกร้องเรียนตลอดมา...
หนำซ้ำในปี 2555 นี้ ยังมีประเด็นร้อนที่สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริบทไฟใต้ กระทั่งอาจทำให้สถานการณ์ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1.การชิง "ธงนำ" ในภารกิจดับไฟใต้
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาภาคใต้ได้ถูกตีตราว่าเป็น "ปัญหาความมั่นคง" จึงทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามามี "บทบาทนำ" ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา ซึ่งมีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ออกมาบังคับใช้รองรับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.
โครงสร้างของ กอ.รมน.สยายปีกลงไปในพื้นที่ โดยมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นเจ้าภาพ และมีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้อำนวยการ บังคับบัญชากำลังพลทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองถึง 64,272 นาย (ข้อมูลปีงบประมาณ 2554)
ทว่าโครงสร้างดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ตรา พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ออกมาบังคับใช้ เพื่อยกสถานะของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่า กอ.รมน. โดยที่การบริหารจัดการ "งาน" และ "เงิน" ไม่ต้องขึ้นกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอีกต่อไป
นั่นทำให้งบดับไฟใต้ที่เคยเบิกจ่ายผ่าน กอ.รมน.ถูกเฉือนไปกว่า 1 พันล้านบาท!
เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือน ส.ค.2554 กอ.รมน.จึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการปัญหาภาคใต้ใหม่ โดยอ้างเหตุผลเรื่อง "การบูรณาการ" ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงสร้าง "คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ "กบชต."ซึ่งมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
โครงสร้างใหม่นี้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 และ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพจัดเวิร์คชอป (ประชุมเชิงปฏิบัติการ) เพื่อรับฟังความเห็นของทุกหน่วยเมื่อวันที่ 18-19 ต.ค. ทว่าโครงสร้างใหม่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะมีความพยายามไปย่อส่วน ศอ.บต.ให้เป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก" ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะที่ ศอ.บต.ใหญ่และเลขาธิการ ศอ.บต.ให้นั่งทำงานในส่วนกลาง
นอกจากนั้นการจัดทำโครงสร้างใหม่แม้เป็นมิติด้านความมั่นคง ก็อาจขัดต่อ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ด้วย เพราะกฎหมายกำหนดให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสียก่อน
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ได้ "ยอมลง" ให้กับทหารแบบราบคาบ เพราะการส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลงไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ก็ถูกมองว่าเป็นการเข้าไปคานอำนาจกองทัพอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะนโยบายที่ พ.ต.อ.ทวี ประกาศตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงไปรับตำแหน่ง นั่นคือ "ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร" ย่อมสะท้อนนัยยะได้เป็นอย่างดี
และ พ.ต.อ.ทวี ก็ยืนกรานนั่งทำงานอยู่ในพื้นที่ ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ศอ.บต.ส่วนแยก ทั้งยังเดินหน้าบริหารจัดการงบประมาณของ ศอ.บต.รวมถึงงบตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552-2555 (ยอดรวม 4 ปีงบประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท) ต่อไป
งานสำคัญชิ้นแรกๆ ที่ พ.ต.อ.ทวี ผลักดันได้สำเร็จ และทำให้ฝ่ายทหารมองอย่างขัดใจก็คือ การเปิด "โรงเรียนอิสลามบูรพา" หรือ "ปอเนาะสะปอม" โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดังซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่ถูกสั่งปิดไปนานกว่า 4 ปีเนื่องจากเคยมีการจับกุมมือประกอบระเบิดและยึดวัตถุระเบิดของกลางจากบ้านร้างในเขตโรงเรียนได้เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550
แม้สุดท้ายความผิดที่เกี่ยวพันกับโรงเรียนเกือบทั้งหมด ศาลได้พิพากษายกฟ้อง แต่ "อิสลามบูรพา" ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในสายตาของฝ่ายความมั่นคง กระทั่ง พ.ต.อ.ทวี ลงใต้และ "ฝ่าด่านอรหันต์" จัดการให้โรงเรียนเปิดขึ้นมาได้อีกครั้ง
จังหวะก้าวของ พ.ต.อ.ทวี ในมิติ "คืนความเป็นธรรม" จึงได้รับการขานรับอย่างสูงจากกลุ่มผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ขณะที่ฝ่ายทหารยังคงถูกโจมตีเรื่องการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เนืองๆ
ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในภารกิจดับไฟใต้ผ่านโครงสร้างใหม่ ยังถูกคัดค้านอย่างหนักจาก “ตัวละครใหม่ๆ” ในพื้นที่ที่เกิดจากกฎหมาย ศอ.บต.ด้วย เช่น สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามปัญหาภาคใต้ชุดต่างๆ โดยเฉพาะในวุฒิสภาด
การเผชิญหน้าและชิงการนำระหว่าง กอ.รมน.กับ ศอ.บต.และกลุ่มสนับสนุน รวมทั้ง “ตัวละคร” หรือ “ผู้เล่นใหม่ๆ” จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา
2.กระแสต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อย่างต่อเนื่องถึง 26 ครั้ง ระยะเวลารวมกว่า 6 ปี ทำให้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษฉบับนี้ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางและเพิ่มดีกรีมากขึ้นในช่วงปลายปี 2554
องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรนิสิตนักศึกษาในพื้นที่รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายภาคประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จัดกิจกรรมรณรงค์ถี่ยิบและดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นใช้คำว่า "ขับไล่" หรือ "เตะ" พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯพ้นชายแดนใต้กันเลยทีเดียว
ที่สำคัญยังมีการรณรงค์ส่ง "จดหมายสันติภาพ" หรือโปสการ์ดคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย
ขณะที่การจับกุม คุมขัง และดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึก ก็ถูกร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน และมีการเปิดตัวเลขผลการศึกษาการดำเนินคดีความมั่นคงจำนวน 100 คดีในช่วงปี 2553-2554 ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สรุปว่ามีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องมากถึง 72 คดีจาก 100 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 72 หนำซ้ำคดีที่ศาลยกฟ้องส่วนใหญ่มีการจับกุมผู้ต้องหาโดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ
ประเด็นนี้แม้ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) จะแสดงข้อมูลตัวเลขอีกชุดหนึ่ง (เช่น สถิติคดียกฟ้องอยู่ที่ร้อยละ 45 ลงโทษร้อยละ 54) แต่ก็ไม่ได้ดูดีกว่าตัวเลขจากรายงานของศูนย์ทนายความมุสลิมมากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น คดีความมั่นคงสำคัญๆ ก็ทะยอยยกฟ้องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2554 เช่น คดีลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2551 ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา
หรือคดีฆ่าตัดคอ นายจวน ทองประคำ ชาวบ้าน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2550 ซึ่งมี นายสุกรี อาดำ กับพวกรวม 3 คนเป็นจำเลย ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2554 ให้ยกฟ้องจำเลย 2 คนจาก 3 คน โดยหนึ่งในผู้ที่ศาลพิพากษายกฟ้องคือ นายสุกรี อาดำ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถูกจับกุมด้วยกฎหมายพิเศษ กรณีนายสุกรี อาดำ จึงก่อชนวนความไม่พอใจในกลุ่มนิสิตนักศึกษาและเร่งกระแสต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ไม่น้อย
หรือคดีควบคุมตัวเกินกว่าอำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลปกครองจังหวัดสงขลาก็มีคำพิพากษาช่วงปลายเดือน พ.ย.2554 สั่งให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหายจำนวนกว่า 5 แสนบาทให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 2 คนที่ถูกควบคุมตัวเมื่อต้นปี 2551
หรือแม้แต่คดีซ้อมทรมาน นายยะผา กาเซ็ง หรืออิหม่ามยะผา อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนเสียชีวิตเมื่อเดือน มี.ค.2551 กระทรวงกลาโหมและกองทัพบกก็ยินยอมจ่ายค่าเยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัวของอิหม่ามยะผาเป็นเงิน 5.2 ล้านบาท จากการไกล่เกลี่ยของศาลแพ่ง และยังยอมรับว่าอิหม่ามยะผาไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นต้น
ผลของคดีความมั่นคงต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมา ทำให้ภาพการใช้กฎหมายพิเศษ "ติดลบ" หนักขึ้นไปอีก
ยิ่งเกิดกรณี "4 ผู้ต้องหาชุดนำร่อง" ปฏิเสธเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีอาญา ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยอ้างเหตุว่าถูกซ้อมทรมาน ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงอยู่ในภาวะ "หลังพิงกำแพง"
เพราะกระบวนการตามมาตรา 21 มีเนื้อหาคล้ายการ "นิรโทษกรรม" ให้ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่ง กอ.รมน.หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้แนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจำนวนมากหันกลับมาให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 สมัยที่ใช้แก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ทว่าทุกอย่างกลับต้องพังครืนลง
ฝ่ายความมั่นคงประเมินตรงๆ ว่า งานนี้ตนเองถูกหักหลัง และมีขบวนการยุยงให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไม่ยอมเข้ารับการอบรม โดยฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหนีไม่พ้นกลุ่มทนายความและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่
การแจกใบปลิวโจมตีศูนย์ทนายความมุสลิมในท่วงทำนอง "ว่าความเพื่อผลประโยชน์" จากกลุ่มบุคคลลึกลับในช่วงที่ทนายมุสลิมกำลังร่วมรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างคึกคัก จนกลุ่มทนายต้องออกมาแถลงโต้และประกาศจะฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความตึงเครียดและการเผชิญหน้าขององค์กรภาคประชาสังคมกับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม โดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเป็นเงื่อนไข
วาทกรรม "ทำเพื่อชาติหรือทำเพื่อใคร" กับเม็ดเงินมากมายที่ไหลจากองค์กรต่างประเทศเข้าสู่องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่ จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ของฝ่ายที่กำลังถูกรุกไล่ และจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นอย่างแน่นอน
3.กระแสเรียกร้องเขตปกครองพิเศษ
คำประกาศของแกนนำเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนเวที "ปัตตานีมหานคร : ประชาชนจะได้อะไร?" เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2554 ว่าได้เตรียมล่ารายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอ "ร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในปี 2555 เป็นอีกหนึ่งปมร้อนที่จะส่งผลต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้และทิศทางการเมืองในพื้นที่ค่อนข้างแน่
เพราะกระแส "กระจายอำนาจ" และ "จังหวัดจัดการตนเอง" กำลังมาแรงเหลือเกินในทุกเวทีปฏิรูป ซึ่งแม้พื้นที่อื่นๆ อาจไม่มีปัญหา แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาแน่นอน เนื่องจากถูกคัดค้านอย่างเปิดเผยจากผู้นำทางทหารและพรรคประชาธิปัตย์
การต่อสู้ในระดับ "ยอมไม่ได้" สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เมื่อพรรคเพื่อไทยซึ่งชูนโยบาย "นครปัตตานี" หมายถึงการผลักดันให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษรูปแบบใหม่ที่ให้รวมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าด้วยกันเป็น "นคร" แล้วให้เลือกตั้ง "ผู้ว่าการนคร" โดยตรงจากประชาชนนั้น กลับต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ผู้สมัครของพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว
หลายคนมองว่างานนี้ "มีเบื้องหลัง" จากการประสานมือกันต่อสู้ของกลุ่มที่ "ยอมไม่ได้"
พิมพ์เขียวของ "ปัตตานีมหานคร" ซึ่งเสนอโดยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดกับ "นครปัตตานี" ของพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีสาระในเชิงเป้าหมายไม่ต่างอะไรกัน แถมยังมีเสียงสนับสนุนอย่างหนาแน่นจากภาควิชาการ รวมทั้ง "บางปีก" ในสถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยด้วย
คำถามก็คือ หากกระแสนี้ถูก "จุดติด" แล้วมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาได้จริงๆ รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะหากคิดในเชิงการเมืองแล้ว การจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจส่งผลดีในแง่ของการ "สลายฐานเสียง" ของพรรคประชาธิปัตย์ได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะหาก "ผู้นำท้องถิ่นคนใหม่" เป็นคนที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ใช่คนของพรรคประชาธิปัตย์
นี่คือผลประโยชน์ของ "การเมืองระดับชาติ" ที่ซ้อนทับอยู่ในกระแส “กระจายอำนาจ” และ "การเมืองระดับท้องถิ่น" ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมก่อกระแสขัดแย้งตามมาแน่นอน โดยเฉพาะจากบรรดาผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง อบต.ที่ครองเก้าอี้อยู่ในปัจจุบัน เพราะตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้นจะต้องถูกยุบเลิกไป
"เขตปกครองพิเศษ" ไม่ว่ารูปแบบใด โดยเนื้อแท้ย่อมต้องมีคนเสียประโยชน์จำนวนหนึ่ง และเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย ขณะที่ “การเลือกตั้ง” ซึ่งมีการแข่งขัน ย่อมไม่ได้สร้างความสมานฉันท์เสมอไป
เช่นเดียวกับประเด็น "ความพร้อม" ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงถูกตั้งคำถาม เพราะสถานการณ์ร้ายรายวันยังดำรงอยู่ ปัญหาสังคมยังหมักหมมมากมายในพื้นที่ ทั้งยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน ก่อให้เกิดผู้มีอิทธิพลหลากหลายกลุ่ม และบางกลุ่มบางคนก็ใช้เงินกับปืน "ตีตั๋ว" เข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้วในปัจจุบัน
การกระจายอำนาจในรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่จึงถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า อาจเป็นแค่การถ่ายโอนอำนาจบางส่วนของราชการส่วนกลางไปอยู่ในมือของ "ผู้นำคนใหม่" หรือ "คณะใหม่" ซึ่งในที่สุดแล้วก็มีลักษณะของการรวบอำนาจไม่ต่างกัน เพราะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสแชร์ส่วนแบ่งอำนาจผ่านโครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มที่มีอิทธิพล เงินทุน หรือการเมืองหนุนหลัง ส่วนประชาชนคนรากหญ้ายังคงเป็นแค่ "คนเฝ้ามอง" เหมือนเดิม...
และทั้ง 3 เรื่องคือประเด็นร้อนที่รอเขย่าด้ามขวานในปี 2555 นี้!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลอบวางระเบิดกลายเป็นเหตุร้ายรายวันที่ยังดำรงอยู่ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานตลอด 8 ปีที่ผ่านมา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 4 ม.ค.2555
อ่านประกอบ : 8 ปีไฟใต้ (1) ยอดตายทะลุ 5 พัน ละลายงบประมาณ 1.6 แสนล้าน!
http://bit.ly/zepqEh