ผลวิจัยเรื่องภาระโรค พบชายไทย สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งตาย-พิการ
ผลศึกษาวิจัยเรื่องภาระโรค พบคนไทยการตายก่อนวัยอันควรถึง 10 ล้านปี ส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ 930,000 ล้านบาท ชี้สาเหตุสำคัญจากโรคไม่ติดต่อ หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ "เหล้า-บุหรี่-โรคอ้วน" ขณะที่การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งการตายและภาวะพิการโดยเฉพาะในเพศชาย ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของประเทศ
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ “เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย” โดยมี ศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานดำเนินรายการ
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยรายงานผลการศึกษาภาระโรคของประชากรไทยในปี 2556 ว่า จากการประเมินภาระโรค ซึ่งเป็นตัววัดการสูญเสียด้านสุขภาพหรือ “ปีสุขภาวะที่สูญเสีย” อันเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพที่เป็นมาตรฐานของประชากร ประกอบด้วยการวัดความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และ ความสูญเสียจากการมีชีวิตอยู่ด้วยความพิการหรือความบกพร่องทางสุขภาพ
จากการศึกษา ความสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ล่าสุดที่สำรวจในปี พ.ศ. 2556 และทำการวิเคราะห์รวบรวมเพื่อแปลผลในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ประชากรไทยมีการสูญเสียปีสุขภาพดีร่วมกัน 15.3 ล้านปี โดยเป็นความสูญเสียด้วยการตายก่อนวัยอันควร 10 ล้านปี และต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการ 5.3 ล้านปี
หากคำนวณเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 930,053 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 7.2% ของจีดีพีประเทศ โดยมีกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาระโรคที่สูงเพิ่มขึ้น เป็นผลจากพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และภาวะน้ำหนักเกินที่เกิดจากการบริโภคไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ
“เมื่อวิเคราะห์อายุเฉลี่ยของคนไทย พบว่าคนไทยมีอายุยืนขึ้นเล็กน้อย เทียบจากปี 2552โดยเพศชายจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ปี (เพิ่มขึ้น 0.9 ปี) และเพศหญิงอยู่ที่ 77 ปี (เพิ่มขึ้น 0.2ปี) อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่มีช่วงเวลาที่สุขภาพไม่สมบูรณ์หรือมีความบกพร่อง/พิการมากกว่าผู้ชาย เฉลี่ยประมาณ 2 ปี โดยอายุเฉลี่ยที่ประชากรมีสุขภาพดีของ เพศชายอยู่ที่ 68 ปี และของเพศหญิงอยู่ที่ 72 ปี” ทพญ.กนิษฐา กล่าว
ทพญ.กนิษฐา กล่าวว่า สำหรับสาเหตุหลักของการสูญเสียจำนวนปีแห่งการมีสุขภาพที่ดีในเพศชาย 3 อันดับแรก คือ 1 อุบัติเหตุทางถนน 2 การดื่มแอลกอฮอล์ และ 3 โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนเพศหญิง 3 อันดับแรก คือ 1 โรคหลอดเลือดสมอง 2 โรคเบาหวาน และ 3โรคซึมเศร้า เห็นได้ว่า อุบัติเหตุทางถนน และการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นสาเหตุหลักของความสูญเสียของประเทศ
ขณะที่แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีความสูญเสียลดลงเทียบจากครั้งก่อนเนื่องจากการแพร่ระบาดลดลงและการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ที่เร็วขึ้น ส่วนโรคเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย
ทพญ.กนิษฐา กล่าวว่า การนำเครื่องมือวัดปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-Adjusted Life Years เรียกย่อ ๆ ว่า DALY) มาใช้ในการวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวม จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล เพราะมีความครอบคลุมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างบกพร่องหรือพิการ และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญของประชากรได้ในหน่วยเดียวกันและยังคาดประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายและความพิการได้อีกด้วย