อนุฯ ป.ป.ช.สอบเพิ่ม‘ยงยศ-พวก’คดีเช่าไซโลข้าว‘จีจีเอฟ’เอื้อเอกชนต่างชาติ
7 ปียังไม่เสร็จ! อนุฯ ป.ป.ช. สั่งสอบเพิ่มเติม ‘ยงยศ-พวก’ คดีเช่าไซโลข้าว ‘จีจีเอฟ’ ส่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนต่างชาติ กีดกันไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม คณะอนุฯเดิมพ้นตำแหน่งต้องปรับเปลี่ยนใหม่ยกชุด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติสั่งไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 7 ราย กรณีกล่าวหานายยงยศ ปาละนิติเสนา อดีตรองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และรักษาราชการแทน ผอ.อคส. กับพวกรวม 16 ราย กรณีเช่าไซโลเก็บรักษาข้าวกับบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าข่ายผิดระเบียบและเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายเป็นนอมินีให้กับต่างชาติ ตามการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ช่วงปี 2553
โดยรายชื่อบุคคลทั้ง 7 รายที่ถูกไต่สวนเพิ่มเติม ได้แก่ 1.น.ส.ณัฐฐิรา ลิ่ววรุณพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรอง ผอ.อคส. 2.น.ส.เคียงจันทร์ หาญเพชรสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบริหารโลจิสติกส์ อคส. 3.บริษัท จีจีเอฟฯ 4.นายเจสัน เจ ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท จีจีเอฟฯ 5.น.ส.บัวแก้ว แสนคำ กรรมการบริษัท จีจีเอฟฯ 6.GGF Golden House Sdn.Bhd. (บริษัทแม่ จีจีเอฟ (ไทยแลนด์)) และ 7.คาโต๊ะ โรนัล เฮง ประธานกรรมการ GGF Golden House Sdn. Bhd. โดยทั้งหมดเป็นหนึ่งใน 16 ผู้ถูกกล่าวหาเดิมอยู่แล้ว
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการไต่สวนบุคคลดังกล่าวเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการฯที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งเป็น พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการฯแทน
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะอนุกรรมการฯดำเนินการไต่สวนในกรณีนี้คือ กรณีไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ซึ่งส่อผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2552 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนางพรทิวา นาคาศัย เป็น รมว.พาณิชย์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็น รมช.พาณิชย์ โดยขณะนั้น อคส. โดยนายยงยศ ในฐานะรักษาราชการแทน ผอ.อคส. ดำเนินการเช่าไซโลจากบริษัท จีจีเอฟฯ อย่างไรก็ดีถูกดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบพบว่าอาจผิดระเบียบ และเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชนต่างชาติ กระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
โดยเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้างการสัมภาษณ์ของนายอลงกรณ์ถึงกรณีนี้ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พฤติกรรม หลักฐานข้อมูล และช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกรรมการและโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่จัดส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 10 ก.ค.2552 เชื่อได้ว่าบริษัท จีจีเอฟฯ มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพราะได้แต่งตั้งให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทน
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาเอกสาร และสอบปากคำนางสาวบัวแก้ว แสนคำ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในจี จี เอฟ จำนวน 5,100 หุ้น ประกอบอาชีพอิสระ และพบกับนายเจสัน เจ ลิม ซึ่งเป็นคนอเมริกันและถือหุ้น 4,895 หุ้น ในระหว่างเป็นพนักงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในจ.เชียงใหม่ โดยทั้ง 2 คน มีความสัมพันธ์เป็นคนสนิทกัน ปัจจุบันก็ยังเช่าบ้านอยู่
“พฤติกรรมมีเหตุเชื่อได้ว่าทั้ง 2 คน ไม่มีฐานะที่จะถือหุ้นส่วนใหญ่ในจี จี เอฟ ได้ และไม่น่าจะเป็นผู้บริหาร ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ คือ นายณัฐวัฒน์ เศรษฐเสถียร และนางจิราภรณ์ แซนแคล ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น ก็พบว่าไม่รู้เรื่องกิจการของบริษัทแต่อย่างไร ถือว่าบุคคลเหล่านี้กระทำผิดตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ที่มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปดำเนินการตามกฎหมายแล้ว”นายอลงกรณ์ กล่าว (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000005376)