บอร์ด สปสช.ไม่รับรอง ‘นพ.ประทีป’ เป็นเลขาธิการ ด้วยคะแนน 14 ต่อ 13
มติ บอร์ด สปสช.ลงคะแนนลับ ปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติไม่รับรองให้ นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช.ด้วยคะแนน 14 เสียง ต่อคะแนนรับรอง 13 เสียง และงดออกเสียง 3 ราย
เว็บไซด์เจาลึกระบบสุขภาพ https://www.hfocus.org รายงานว่า วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ประชุมมีวาระการคัดเลือกและสรรหาเลขาธิการ สปสช. ซึ่งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการได้รายงานผลการสรรหาว่า มีผู้ผ่านการสรรหาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2 ราย คือ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช.
ทั้งนี้จากการส่งตีความเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า นพ.วันชัย มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 12 และตามมติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ระบุว่า หากเหลือผู้ผ่านการสรรหา 1 คนที่มีคุณสมบัติไม่ขัดตามกฎหมาย บอร์ด สปสช.จะลงมติว่าจะรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้เป็นเลขาธิการ สปสช.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการลงมติรับรอง นพ.ประทีป แสดงวิสัยทัศน์ต่อบอร์ด สปสช.โดย นพ.ประทีป กล่าวถึงวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การทำงานและการเน้นหนักที่จะต้องดำเนินการของเลขาธิการ สปสช.ในช่วง พ.ศ.2559-2564 ว่า ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง มียุทธศาสตร์การทำงานและงานที่เน้นหนัก 5 ด้าน ดังนี้
1.บุคคลทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน
2.สนับสนุนส่งเสริมการบริหารสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายให้มีคุณภาพมาตรฐานและผู้ให้บริการมีความสุข
3.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อจัดการให้ระบบมีประสิทธิภาพและคุ้มครองสิทธิ
4.บริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมและมีความยั่งยืนทางการเงิน
5.สปสช.เป็นหน่วยงานหลักของระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง โปร่งใส
“สรุปภารกิจของเลขาธิการ สปสช.เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนมากขึ้น ต้องสร้างความสมดุลของผู้มีส่วนได้เสียทางยุทธศาสตร์ ก้าวและเติบโตไปด้วยกัน หรือ Go and Growth Together นั่นคือ ประชาชน ผู้ใช้บริการ เข้าถึงสิทธิประโยชน์ และการบริการที่ได้มาตรฐาน ส่วนวิชาชีพ ผู้ให้บริการ มีทางเลือกในการให้บริการตามมาตรฐาน และได้รับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย ดูแลภาพรวม และควบคุมภาระด้านงบประมาณ” นพ.ประทีป กล่าว
ทั้งนี้ มติบอร์ด สปสช.ให้ลงคะแนนแบบเป็นความลับ ผลการลงคะแนนปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติไม่รับรองให้ นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช.ด้วยคะแนน 14 เสียง ต่อคะแนนรับรอง 13 เสียง และงดออกเสียง 3 ราย คือ นพ.ปิยะสกล ที่ระบุก่อนลงคะแนนว่างดออกเสียง รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ติดภารกิจออกจากที่ประชุมไปก่อนการลงคะแนน และในใบลงคะแนนมีกรรมการ 1 รายที่ไม่กากบาททั้งในช่องรับรองและช่องไม่รับรอง ด้วยเหตุนี้จึงเหลือผู้ลงคะแนนเสียง 27 ราย จากกรรมการทั้งหมด 30 ราย และให้เริ่มกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ใหม่