สธ.เผย 5 กลุ่มโรคเฝ้าระวังปี 55- วิจัยสมุนไพร 4 ภาคคุณค่าเพียบ
สธ.เผยผลวิจัยพืชผักสมุนไพร 4ภาค ป้องกันสารพัดโรค หนุนเป็นอาหารคนไทยปี 55 ด้าน กรมควบคุมโรคเตือนกลุ่มโรคเฝ้าระวังปีนี้ ไข้หวัดใหญ่ ฉี่หนู หูดับ อาหารเป็นพิษ ไข้เลือดออก
วันที่ 3 ม.ค.54 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคที่อาจเกิดขึ้นปี 2555 มี 5 กลุ่มเฝ้าระวังและรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตัวเอง 1.โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2.โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น เลปโตสไปโรซิส(ฉี่หนู) และไข้หวัดนก 3.โรคหูดับ 4.โรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ และ 5.โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ทั้งแบบธรรมดาและแบบรุนแรง โรคมาลาเรีย ทั้งนี้ประชาชนควรติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่าอุบัติการณ์ไข้หวัดปี 2554 พบผู้ป่วย 50,000 ราย จากเดิมที่เคยมี 100,000 ราย เสียชีวิต 7 ราย อัตราป่วยลดลงกว่าครึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่ที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายที่มักพบในกลุ่มแรงงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตราบที่ไทยยังเป็นประเทศเปิด ก็ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีอากาศหนาวจัด และเกิดการระบาดมากที่สุด
สำหรับโรคระบบทางเดินอาหารที่พบในไทย ส่วนมากเป็นอาหารเป็นพิษ ปี 2554 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 85,712ราย เสียชีวิต 3 ราย พบป่วยมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบน้อยที่สุดในภาคใต้ ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพราะประชาชนมีความเสี่ยงจากการรับเชื้อโรคทั้งจากอาหารปรุงไม่สะอาดและภาชนะสกปรก
ด้าน นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้มีพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถเป็นยาและเป็นอาหารได้ เช่น สะเดา ผักแพว กะเพรา จึงมีนโยบายให้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย วิจัยหาคุณค่าผักพื้นบ้านที่คนไทยทั้ง 4 ภาคนิยมกินทั่วไป เพื่อเผยแพร่ส่งเสริมให้นำมาเป็นอาหารบำรุงสุขภาพเพิ่มภูมิต้านทานโรคในปี 2555 และจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่งเสริมประชาชนใช้บริโภค ให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.นำมาปรุงเป็นอาหารผู้ป่วยเป็นตัวอย่างให้ประชาชน เ
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง และป่าเขา ในการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 กรมอนามัยเก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน 45 ชนิด 4 ภาค ภาคกลาง 12 ชนิด ภาคเหนือ 6 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ชนิด และภาคใต้ 22 ชนิด โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่ 1.พลังงาน 2.โปรตีน 3.ไขมัน 4.คาร์โบไฮเดรต 5.เบต้าแคโรทีน 6.วิตามินซี 7.ใยอาหาร 8.ธาตุเหล็ก และ 9.แคลเซียม
ผลการศึกษาเปรียบเทียบน้ำหนักทุก 100 กรัมเท่ากัน ผักพื้นบ้านไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงไม่ทำให้อ้วน ผักที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.หมาน้อย 423 มิลลิกรัม 2.ผักแพว 390 มิลลิกรัม 3.ยอดสะเดา 384 มิลลิกรัม 4.กะเพราขาว 221 มิลลิกรัม 5.ใบขี้เหล็ก 156 มิลลิกรัม 6.ใบเหลียง 151 มิลลิกรัม 7. ยอดมะยม 147 มิลลิกรัม 8.ผักแส้ว 142 มิลลิกรัม 9.ดอกผักฮ้วน 113 มิลลิกรัม และ 10.ผักแมะ 112 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยการทำงานระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ หลอดเลือด ช่วยการแข็งตัวของเลือด ควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด
ผักที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ใบกะเพราแดง 15 มิลลิกรัม 2. ผักเม็ก 12 มิลลิกรัม 3.ใบขี้เหล็ก 6 มิลลิกรัม 4.ใบสะเดา 5 มิลลิกรัม และ 5.ผักแพว 3 มิลลิกรัม ซึ่งธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกาย บทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ สมรรถภาพในการทำงาน สร้างภูมิต้านทานโรค เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย
ผักที่มีใยอาหารสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดมันปู 16.7 กรัม 2.ยอดหมุย 14.2 กรัม 3. ยอดสะเดา 12.2 กรัม 4.เนียงรอก 11.2 กรัม 5.ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม 6.ผักแพว 9.7กรัม 7.ยอดมะยม 9.4 กรัม 8.ใบเหลียง 8.8 กรัม 9.หมากหมก 7.7 กรัม และ 10.ผักเม่า 7.1 กรัม ซึ่งใยอาหารในผัก ทำให้ร่างกายขับถ่ายเร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน ใยอาหารบางชนิดยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค หัวใจและหลอดเลือด
สำหรับผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดลำปะสี 15,157 ไมโครกรัม 2.ผักแมะ 9,102 ไมโครกรัม 3.ยอดกะทกรก 8,498 ไมโครกรัม 4.ใบกะเพราแดง 7,875 ไมโครกรัม 5.ยี่หร่า มี 7,408 ไมโครกรัม 6.หมาน้อย มี 6,577 ไมโครกรัม 7.ผักเจียงดา 5,905 ไมโครกรัม 8.ยอดมันปู 5,646 ไมโครกรัม 9.ยอดหมุย 5,390 ไมโครกรัม และ 10.ผักหวาน 4,823 ไมโครกรัม
ผักที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1. ดอกขี้เหล็ก 484 มิลลิกรัม 2.ดอกผักฮ้วน 472 มิลลิกรัม 3.ยอดผักฮ้วน 351 มิลลิกรัม 4.ฝักมะรุม 262 มิลลิกรัม 5.ยอดสะเดา 194 มิลลิกรัม 6.ผักเจียงดา 153 มิลลิกรัม 7.ดอกสะเดา 123 มิลลิกรัม 8.ผักแพว 115 มิลลิกรัม 9.ผักหวาน 107 มิลลิกรัม และ 10.ยอดกะทกรก 86 มิลลิกรัม โดยทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลง .
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20111008/4120292/รวมมิตร...พืชผักสมุนไพรไทย.html
----------------------------------------------------------