4 ก.ค.ลุ้นบอร์ด สปสช.รับรองชื่อเลขาฯ ใหม่ -นพ.ประทีปแถลงโต้หลังถูกกล่าวหา
4 ก.ค.ลุ้นบอร์ด สปสช.รับรองชื่อเลขาฯ คนใหม่ -หมอประทีปแถลงโต้ เชิดชู หลังถูกกล่าวหา ฟ้องอาญาแล้ว ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 29 ส.ค.นี้
วันที่ 3 กรกฎาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสปสช. เปิดแถลงข่าว ปฏิเสธข้อกล่าวหา ที่ พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวหา และแถลงประเด็น การฟ้องศาล พญ.เชิดชู และพวก
นพ.ประทีป กล่าวว่า 1. พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวหา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ หลายกรรมหลายวาระ ดังนี้
1.1 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 1 กรกฏาคม 2559 ถึงประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ เรื่อง กรณีทุจริตใน สปสช. กล่าวหา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ โดยอ้างว่า ได้ติดตามความคืบหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และได้รับทราบว่า ผลการตรวจสอบพบว่ามีมูลและได้ส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการต่อไปแล้ว
ข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. กลุ่ม พญ.เชิดชูได้ทำเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการหลักประกันฯ และเลขาธิการ สปสช.(นพ.วินัย สวัสดิวร)ต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ซึ่งมีประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ(คตร.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โดยมีข้อกล่าวหารวม 5 ประเด็น
2. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานกรรมการ คตร.(ในขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8-10 มิถุนายน 2558 สรุปตอนหนึ่งว่า “ประเด็นการตรวจสอบไม่ได้ระบุตัวบุคคล ตรวจสอบแต่เชิงระบบ ระบุแต่ประเด็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ว่ามีการอนุมัติรายการถูกต้องไหม ถ้าผิดก็ต้องลงโทษ เรียกเงินคืน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่ได้เป็นความผิดเรื่องทุจริต แต่ผิดวัตถุประสงค์ ก็ต้องชี้แจงกันมา”
3. นายประยงค์ ปรียาจิตร เลขาธิการ ป.ป.ท. ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 16-18 มิถุนายน 2558 ว่า “พบมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่ไม่อาจชี้มูลในเรื่องทุจริตได้หรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ท.จะส่งเรื่องไป ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการต่อไป”
4. พล.อ.ชาติอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.(ปัจจุบัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 97.0 เมกะเฮิร์ท และเผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ว่า “กรณีจัดหายา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะหากไม่ดำเนินการและให้สถานบริการจัดหาเองก็จะยากลำบากและซื้อเป็นล๊อตเล็กๆก็จะได้ราคาแพง คตร.ก็มีการพิจารณาอนุมัติให้ สปสช.จัดหายาล็อตใหญ่ๆได้”
5. ป.ป.ช.มีหนังสือเชิญให้ สปสช.ไปให้ถ้อยคำในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ในประเด็นกระบวนการจัดทำสัญญาจัดซื้อน้ำยาล้างไต
6. องค์การเภสัชกรรมได้มีหนังสือในเดือนเมษายน 2559 ชี้แจงว่า องค์การเภสัชกรรมไม่มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมภาคัฐให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการจัดซื้อน้ำยาล้างไต CAPD แต่อย่างใด
7. นายประทีป ได้ฟ้องศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.2496/2559 ความอาญาต่อนางเชิดชู อริยศรีวัฒนา ข้อหาหรือฐานความผิดหมิ่นประมาท พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และศาลนัดไต่สวนในวันที่ 29 สิงหาคม 2559 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1.2 กลุ่มของ พญ.เชิดชูได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และสำเนาเรียนประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องขอให้ดำเนินการหยุดยั้งพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบของ สปสช. ลงใน Facebook เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 กล่าวหา นพ.ประทีปว่า ได้รับผลประโยชน์ จากการจัดซื้อน้ำยา CAPD ปีละ 30 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. สปสช.จัดซื้อน้ำยา CAPD จากองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ไม่เคยซื้อโดยตรงกับบริษัทเอกชน แต่อย่างใด
2. องค์กรเภสัชกรรม มีหนังสือที่ สธ.5100/450 เมื่อเดือนเมษายน 2559 สรุปสาระสำคัญได้ว่า
- ราคาน้ำยาล้างไตที่ขายให้ สปสช.เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาของท้องตลาด
- ไม่มีเงินสวัสดิการและเงินกิจการภาครัฐให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. พล.อ.ชาติอุดม ติตถสิริ ประธาน คตร. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 97.0 เมกะเฮิร์ท และเผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ว่า “ถ้า สปสช.มีประเด็นใดขัดข้องจากการห้ามก็จะเสนอกลับมาที่ คตร.ให้พิจารณากลับมา เช่นกรณีจัดหายา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะหากไม่ดำเนินการและให้สถานบริการจัดหาเองก็จะยากลำบากและซื้อเป็นล๊อตเล็กๆก็จะได้ราคาแพง คตร.ก็มีการพิจารณาอนุมัติให้ในการจัดหายาล็อตใหญ่ๆ และได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว”
2. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้กล่าวหา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ โดยเขียนบทความเผยแพร่ในผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 มิถุนายน 2559 ว่า มีการตกแต่งบัญชีเพื่อให้ สปสช.ได้รับโบนัสและ นพ.ประทีป เป็นผู้บริหาร สปสช.ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านการเงินและบัญชี
ข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. ไม่ได้มีการตกแต่งบัญชีแต่อย่างใด เป็นการโอนเงินค่าบริการทางสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการล่วงหน้าเพื่อแก้ไขสภาพคล่อง และมีการหักล้างทางบัญชีเมื่อหน่วยบริการส่งผลงานเข้ามาให้ สปสช. โดยไม่มีการเรียกเงินคืน
2. นพ.ประทีป ไม่ได้เป็นผู้บริหาร สปสช.ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการเงินการบัญชีแต่อย่างใด
3. ข้อกล่าวหากรณีการฟอกเงิน จำนวน 169 ล้านบาทที่เผยแพร่ใน Facebook ต้าน NGO
ข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. เป็นโครงการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สปสช. และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโดยใช้งบประมาณจาก สสส. และ สวรส. เป็นผู้บริหารงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมสนับสนุนและป้องกันโรคของ สปสช. เป็นเงินกองทุน สสส. 169 ล้านบาท
2. สปสช.ได้มอบหมายให้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินงานในส่วนของ สปสช. ไม่ใช่เป็นผู้ได้รับงบประมาณดังกล่าวจาก สสส. และไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนประจำเพิ่มเติม เพราะถือว่าเป็นงานในหน้าที่รองเลขาธิการที่ได้รับมอบหมาย
ช่วงท้าย นพ.ประทีป กล่าวถึงการคัดเลือกเลขาธิการสปสช.คนใหม่ วันที่ 4 กรกฎาคม ด้วยว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบอร์ดสปสช.ทั้ง 30 ท่าน ซึ่งดำเนินการเชื่อว่า เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่อาจก้าวล่วง แต่ในฐานะผู้ได้รับการสรรหาจะเตรียมเอกสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ หากได้รับการคัดเลือกการทำงาน 4 ปี จะทำอะไรบ้างให้เป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพ