กรณีย้าย ขรก.ซี 7 : ย้ำความเสื่อมถอยของ‘ระบบคุณธรรม’ในระบบราชการ
"...กรณีนี้แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสาเหตุในการโยกย้ายข้าราชการระดับ 7 รายนี้ เป็นผลมาจากการออกมาเปิดโปงเงื่อนงำในโครงการนี้หรือไม่ แต่เกิดขึ้นในห้วงที่ข้าราชการคนดังกล่าวทำหนังสือแจ้งข่าวสารไปยังหลายหน่วยงาน เสมือน‘ดับเครื่องชน’ผู้มีอำนาจหลายคน.."
กรณีนายอรุณ อังศุยานนท์ วิศวกรโยธาชำนาญการ ระดับ 7 สังกัดกลุ่มมาตรฐานระบบราง สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักเลขาธิการนายกฯ เรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกผู้อำนวยการ สนข. มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ฝ่ายพัฒนาระบบการจราจรทางบก กองจัดระบบการจราจรทางบก อันเนื่องมาจากการร้องเรียนกรณีจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 117.6 ล้านบาท ตกเป็นข่าวล่าสุดเมื่อ 30 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวดูเหมือนเป็นเรื่อง‘คุ้นชิน’ในระบบราชการ ถ้ามองอย่างไม่ฉาบฉวย สะท้อนให้เห็นถึงระบบคุณธรรม(หลายคนไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่) ในระบบราชการ ได้ดีพอสมควร
ผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ขอไล่เรียงความเป็นมาให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
14 ต.ค.57 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จากเดิมรายการค่าจ้างศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมาและการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารกับระบบรถไฟความเร็วสูงเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา กรอบวงเงิน 117,683,000 บาท เป็นค่าจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟรางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ขนาดทาง 1 เมตร งบประมาณ 117,683,000 บาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2557 จำนวน 23,536,600 บาท ปี 2558 งบประมาณผูกพันจำนวน 51,068,800 บาท และปี 2559 งบประมาณผูกพันจำนวน 43,077,600 บาท
16 ต.ค.57 สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สนข. เสนอขอความเห็นชอบดำเนินการจ้างที่ปรึกษา ผอ.สนข.เห็นชอบร่าง ทีโออาร์ และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ เมื่อ 17 ต.ค.57 โดยมี รอง ผอ. สนข. เป็นประธานกรรมการ
ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน มีบริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอเข้ารับการคัดเลือก 2 ราย ได้แก่
1.กลุ่มบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และ 2.กลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
คณะกรรมการดำเนินการจัดจ้าง เห็นว่า ข้อเสนอด้านเทคนิคของ กลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ฯ มีคะแนนดีกว่า กลุ่มบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง ฯ และเห็นชอบให้เปิดซองราคาของกลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ฯ ปรากฏว่า กลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ฯ เสนอราคาค่าบริการเป็นเงิน 158,788,535 บาท คณะกรรมการดำเนินการจัดจ้าง ได้เชิญกลุ่มบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ฯ มาต่อรองราคาเหลือ 117.2 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ค่าใช้จ่ายด้าน ‘บุคลากรหลัก 43,377,400 บาท’
2.ค่าใช้จ่ายบุคลากรสนับสนุน 28,015,000 บาท (รวม 2 รายการ 71.3 ล้านบาท)
3.ค่าใช้จ่ายตรง 48,319,000 บาท
4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 8,379,798 บาท
รวมแล้ว ลดลงจากเดิม 41,588,535 บาท
26 ม.ค.2558 สนข. ทำสัญญาจ้าง บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ฯ วงเงิน 117.2 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 เม.ย.59 (14 เดือน) มีนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผอ.สนข. (ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม) ลงนามในฐานะผู้ว่าจ้าง
ประเด็นที่เป็นข้อร้องเรียนก็คือ ในสัญญา กำหนด ‘บุคลากรหลัก’ทำหน้าที่ศึกษาโครงการฯ จำนวน 53 คน แต่เมื่อถึงเวลาทำรายงานผลการศึกษา แทนที่‘บุคลากรหลัก’ เป็นผู้ทำรายงานผลการศึกษา ตามที่กำหนดในสัญญา กลับเป็น‘บุคคลอื่น’ ขณะที่‘บุคลากรหลัก’ผู้มีรายชื่อในสัญญาเพียงแค่มีชื่อแปะๆไว้เท่านั้น
หนำซ้ำบุคคลที่ถูกอ้างว่ามาสวมเป็นที่ศึกษา ไม่ใช่ใครที่ไหน มีชื่อเป็นผู้จัดการโครงการฯอีกโครงการหนึ่งซึ่งโครงการนั้นมีบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอีกเช่นกัน
งานนี้เท่ากับรายเดียวควบ 2 โครงการ โดยตัวละครที่มาเป็นที่ปรึกษามีชื่อทางนิตินัยโครงการหนึ่ง และพฤตินัยอีกโครงการหนึ่ง? (เพราะจะเป็นพร้อมกัน 2 โครงการในเวลาเดียวกันไม่ได้)
ในการบริหารสัญญาจ้างมีผู้เกี่ยวข้อง 53 ประกอบด้วย คณะกรรมการ 3 ชุด 17 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการจัดจ้าง ฯ จำนวน 7 คน คณะกรรมการกำกับงานศึกษา ฯ จำนวน 46 คน และ คณะกรรมการตรวจการจ้างงาน ฯ จำนวน 3 คน (บางคนซ้ำซ้อนกัน) โดย ผอ. สนข.ทั้งอดีต และปัจจุบัน มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดแรกกับชุดที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบันเป็นผู้อนุมัติในการจัดซื้อจัดจ้าง (วงเงินเกิน 100 ล้านบาท)
เรื่องนี้ตกเป็นข่าวครั้งแรกเมื่อ 23 พ.ค.59 ต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานภายนอก (กรณีกรรมการกำกับการจ้างที่เป็นบุคคลภายนอกหน่วยงาน สนข.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาสอบสวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของ สตง.
กรณีนี้แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสาเหตุในการโยกย้ายข้าราชการระดับ 7 รายนี้ เป็นผลมาจากการออกมาเปิดโปงเงื่อนงำในโครงการนี้หรือไม่ แต่เกิดขึ้นในห้วงที่ข้าราชการคนดังกล่าวทำหนังสือแจ้งข่าวสารไปยังหลายหน่วยงาน เสมือน‘ดับเครื่องชน’ผู้มีอำนาจหลายคน
กระนั้นขอตั้งข้อสังเกตดังนี้
1. กรณีการจ้างที่ปรึกษานั้นเป็นเรื่องของการบริหารสัญญาจ้าง เกี่ยวพันกับผู้บริหารหลายระดับของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานภายนอก ไฉนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง
2.กรณีข้าราชการระดับ 7 ที่ถูกโยกย้าย ต้องอธิบายเหตุผลว่าเกี่ยวพันกับการออกมาร้องเรียนปัญหาทุจริตในองค์กรหรือไม่
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่ายๆ มีข้าราชการคนหนึ่ง ชื่อ ‘อาคม’ รับราชการสภาพัฒน์ วันหนึ่ง‘อาคม’เห็นว่ามีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานโดยเกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชากับพวกหลายคน ‘อาคม’เห็นว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา หน่วยงานที่ไหนก็มี ‘อาคม’หลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ขอเอาตัวเข้าไปเสี่ยง ‘อาคม’รับราชการเรื่อยมา กระทั่งเติบโตเป็นผู้บริหารสูงสุด
ในทางกลับกัน ‘อาคม’ เห็นว่าปัญหาทุจริตเป็นเรื่องเลวร้าย และรับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้ ‘อาคม’ได้ยินผู้นำพูดบ่อยๆทุกค่ำประจำสัปดาห์ว่า‘ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น’ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและใครต่อใครอีกหลายคน‘พูดผ่านเวที’เสมอว่า‘รังเกียจคนโกง อย่าให้คนโกงมีที่ยืน’
‘อาคม’ตัดสินใจยื่นร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้ตรวจสอบ ขณะร้องเรียน ข้าราชการที่เกี่ยวพันได้รับตำแหน่งสูงขึ้น ขณะที่‘อาคม’ถูกย้ายออกจากหน้าที่เดิม‘เพื่อความเหมาะสม’ โดยไม่รู้ว่าทำผิดอะไร
สะท้อนให้เห็นว่า ‘อาคม’ เป็นคนอย่างไร?
น่าสังเกตว่า ความผิดปกติกรณีการโยกย้ายข้าราชการรายนี้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาเดียวกับการยื่นหนังสือถึงหน่วยงาน(รวมทั้งนายกรัฐมนตรี)ให้ตรวจสอบการว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ จึงเป็นเรื่องของ ‘ความเป็นธรรม’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว (ไม่ใช่พูดแบบตรรกะวิบัติ ‘เป็นข้าราชการ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้’) มิหนำซ้ำ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องบางคนได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้น
พูดง่ายๆก็คือคนที่ลุกขึ้นมาตะโกนว่ามีทุจริตกลับถูกลงโทษ คนที่เกี่ยวพันกลับได้รับการโปรโมท
เห็นได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาหนึ่ง นำสู่อีกปัญหาหนึ่ง โดยสาเหตุแห่งปัญหามาจากเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กร (เหมือนหลายแห่ง) (หลายองค์กร หากคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้าง จะคอร์รัปชั่นอำนาจในการบริหารงานบุคคล?)
กรณีนี้และอีกหลายกรณีสะท้อนให้เห็นถึงกลไกของระบบราชการอ่อนแอ ไม่ได้ปกป้องคนที่ออกมาเป่านกหวีด (the whistleblower) ข้าราชการไม่มีเส้นสาย ตรงไปตรงมา ไม่ได้รับการโปรโมท พวกสอพลอ ใกล้ชิด หน้าห้อง ได้รับการเลื่อนขั้น
เป็นการตอกย้ำ ‘ความเสื่อมถอย’ ของ ‘ระบบคุณธรรม’ใน‘ระบบราชการ’ (bureaucracy) เป็นความเสื่อมถอยของหลัก‘ความพร้อมรับผิด’(Accountability) และ เป็นการตอกย้ำความเสื่อมถอยจากคำพูดสวยหรู ‘รังเกียจคอร์รัปชั่น’ของใครต่อใครอีกครั้งครับ
อ่านประกอบ:
ซี 7 ยื่นร้องนายกฯโดน ย้ายไม่เป็นธรรม ปมปูดจ้างที่ปรึกษารถไฟฯ 117.6 ล.