“มั่นใจ มั่งคั่ง มั่นคง” หัวใจนโยบายภาคการเกษตร ปี'55 ในมุม 'เอ็นนู ซื่อสุวรรณ'
"นโยบายสำคัญที่ควรจะทำ คือ
สร้างความ “มั่นใจ มั่งคั่ง มั่นคง”
ให้กับเกษตรรายย่อยให้ได้"
ปี 2554 เรียกได้ว่าเป็นปีควบ 2 รัฐบาล ทำให้ตลอดทั้งปีมีเกิดเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงมากมายในหลายๆด้าน รวมถึงภาคการเกษตรด้วย
นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรไทย และทุกคนเฝ้าจับตามอง ช่วงเลือกตั้ง คือการปะทะกันระหว่าง นโยบาย“ประกันรายได้” ของรัฐบาล “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ นโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ออกมาประกาศกร้าว ตั้งแต่หาเสียงชู นโยบายจำนำข้าว ตันละ 15,000 บาท แค่เห็นตัวเลขเกษตรกรก็ตาโตเป็นไข่ห่านแล้ว
สำหรับเรื่องนี้ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เปิดมุมมองกับ “ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ” ถึงภาพรวมของนโยบายด้านการเกษตรตลอดปีที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
นโยบายใหญ่ด้านการเกษตรของปี 54 คืออะไร?
นโยบายใหญ่ด้านการเกษตร ต้องยกให้ นโยบายเรื่องของราคา !
นโยบายใหญ่ๆของภาคเกษตรที่มีผลมาก ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือ เรื่องของ “ราคาพืชผล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและพืชไร่ ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลชุดก่อน โดยเปลี่ยนจากแบบจำนำข้าวและพืชไร่ เป็นรูปแบบของการประกันรายได้ ซึ่งราคาของพวกนี้ช่วยเกษตรกรได้มาก และเป็นผลดีต่อรัฐบาล ในแง่ที่รัฐไม่ต้องเป็นภาระมากนัก ในการจัดการผลผลิต และช่วยสร้างความมั่นใจในแง่รายได้ของผู้ปลูกข้าว มัน และข้าวโพดว่าจะมีรายได้เกิดขึ้นอย่างน้อยต่อไร่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ประกันไว้
“ตรงนี้ทำมาได้ประมาณปีเดียว น่าเสียดายที่ได้เปลี่ยนไป เพราะภายใต้การทำอย่างนี้ก็ยังมีข้อดีแต่ก็ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องทำเสริม ยังไม่ได้ทันได้เรียนรู้หรือไม่ได้ปรับปรุง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง”
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นโยบายก็เปลี่ยนเป็นแบบจำนำข้าว ซึ่งมีแง่ดีที่เราสามารถเห็นของและตรวจสอบได้ แต่ทั้งนี้ ข้อเสียของจำนำก็มี นั่นคือ รัฐต้องใช้งบประมาณมหาศาล และรัฐเป็นเจ้าตลาดแทนที่จะให้กลไกตลาดจัดการ ซึ่งโดยทั่วไปข้าราชการจัดการตลาดไม่เก่งอยู่แล้ว การรับของมา แล้วขายออกไปก็จะไม่เก่งและไม่คล่องตัว จะทำอะไรก็ไม่ทันท่วงที อาจทำให้เกิดการเรียกร้อง และเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นได้ง่าย
แต่ทั้งนี้ จำนำก็ใช้ได้ แต่ต้องแก้จุดอ่อนพวกนี้ให้ได้ด้วย ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีภาระเรื่องของงบประมาณที่สูง ซึ่งในอดีตก็ใช้งบเยอะ
“ทางที่ดีที่สุด ทั้ง 2 นโยบายนี้ควรใช้ด้วยกัน ใช้ร่วมกัน โดยใช้กลไกตลาดเดินเป็นส่วนใหญ่ แต่จุดไหนที่กลไกตลาดเดินไม่สมบูรณ์เอาเรื่องจำนำเข้าไปทำ ก็จะซ้อนกันได้ ตอบโจทย์ได้ในทุกด้าน”
นโยบายด้านการเกษตรอื่นที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร?
“นโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร” เป็นนโยบายคนส่วนใหญ่กลัวกันมากว่าจะเหมือนบัตรเครดิตของคนในเมือง แต่เมื่อให้ทาง ธกส. เป็นผู้จัดการ เราให้บัตรเครดิตนั้นใช้ได้เฉพาะที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น ใช้การซื้อปัจจัยในการผลิตต่างๆ
“เรารู้จักเกษตรกร ว่าเกษตรกรไม่ใช่คนแบบนั้น เมื่อปลูกข้าวเกษตรกรได้รับบัตรเครดิต เกี่ยวกับเฉพาะข้าว จะรูดบัตรได้เฉพาะในการซื้อปัจจัยการผลิตเท่านั้น สามารถควบคุมได้”
อีกหนึ่งนโยบายคือ “การพักหนี้เกษตรกรรายย่อย” เรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องน้ำท่วมด้วย เพราะนโยบายออกมาก่อนเกิดเหตุการณ์อุทกภัย เดิมทีพักหนี้ตั้งแต่ก่อนน้ำยังไม่ท่วม 5แสนบาท มาถึงตอนนี้ก็ต้องพักเพิ่มขึ้นไปอีก
“การพักหนี้หมายความว่า รัฐบาลต้องควักดอกเบี้ยจ่ายแทน เดิมมีหนี้ก้อนหนึ่งอยู่แล้วและครั้งนี้ก็มีก้อนใหม่ที่จะใส่เข้าไปอีก และเบิ้ล 3 ปี จะเอาเงินมาจากไหน”
การพักหนี้คือการลดอาการปวดหัวแต่ยังไม่ได้แก้ให้หายปวด เพราะสบายใจเพียงแค่ว่าไม่ต้องใช้หนี้ 3 ปี แต่สุดท้ายปีที่ 4 ก็ยังต้องใช้หนี้ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำเสริมจากการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี คือ ต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าปีที่ 4 ต้องไม่พักอีกด้วยวิธีการ เข้าไปสอนให้เกษตรกรปรับปรุงพัฒนาตนเองในช่วง 3 ปี หาความรู้และลงมือทำเกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการลดต้นทุน เชื่อว่าภายใน 3 ปีจะมีการทดสอบจนชำนาญ ในช่วงแรกอาจทำน้อยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายออกไปเรื่อยๆ
นี่คือนโยบายที่สำคัญมาก ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น คิดให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองให้ได้ ให้ทำอาชีพเดิมแต่ด้วยวิธีการใหม่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มคุณภาพของผู้ผลิต ซึ่งมีวิชาความรู้และตัวอย่างมากมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน
จากเหตุการณ์อุทกภัย นโยบายเร่งด่วนหลังน้ำลดคืออะไร?
สิ่งที่สำคัญ ที่เป็นโยบายเร่งด่วนอันดับ 1 คือ(เน้นเสียง) ประกันภัยพืชผล ไม่ว่าจะน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือพายุ และจำเป็นต้องรีบลงมือทำ เพราะหลังน้ำท่วมนอกจากเกษตรกรแล้ว ชาวสวนยิ่งน่าสงสารหากไม่มีการทำประกัน เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ผลผลิต
“ต้องเน้นการสร้างระบบประกันภัยพืชผล ให้มั่นคงโดยเร็วที่สุด เพราะ ณ วันนี้เพิ่งเริ่มไปได้ไม่นาน และทำเฉพาะเรื่องข้าวเรื่องเดียว เป็นเพียงการทดลองเล็กๆ แล้วแต่ความสมัครใจของชาวบ้าน แต่ถ้าเปลี่ยนให้เป็นโครงการใหญ่ เช่นเดียวกับ 30 บาทรักษาทุกโรค คือ บังคับให้ทุกคนประกัน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ทุกคนต้องหันกลับมาทำเกษตรธรรมชาติ หรือลดต้นทุน และต้องเรียนรู้ว่าต้นทุนการผลิตของตนเองนั้นเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าสมควรประกันหรือไม่”
นโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง ควรหยุดหรือไปต่อ?
ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เกษตรกรรู้สึกโดนใจมากกับนโยบายของรัฐบาลที่ออกมา และเวลานี้ สิ่งที่รัฐสัญญาไว้ต้องรีบกลับมาทำ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังแรก รถคันแรก ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์
“นโยบายที่ออกมาอย่าไปประกาศหยุด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเรื่อง ต้องดำเนินการต่อไปแต่ต้องควบคู่กับการพัฒนา” สิ่งสำคัญคือ ต้อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพสังคมในชนบทขณะนี้ คืออะไร สภาพการเงินของรัฐบาลที่หลงเหลือมีเท่าไหร่ และถ้าจะทำโครงการเพิ่มจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ต่อมาคือ เข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิดด้วย และสุดท้ายต้องไปเข้าให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนา
“ถ้ารัฐบาลนี้มั่นใจว่าได้มาเกินครึ่งและจะทำงานครบ 4 ปี ควรจะทำ และน่าทำที่สุด เพราะไม่ใช่ว่าได้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ถึงครึ่ง ฉะนั้น ตอนนี้เป็นช่วงได้เปรียบที่สุด มีทั้งวิกฤตและความแข็งของคะแนน ต้องรีบลงมือทำ ถ้าไม่รีบทำตอนนี้จะมีปัญหา เพราะขณะเดียวกันประชาชนก็คาดหวังกับนโยบายที่ประกาศออกมา และหากรัฐบาลไม่ทำ ประชาชนอาจจะยิ่งเรียกร้องหนักขึ้น”
ปัญหาที่ผ่านมาของภาคการเกษตร
สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับการเกษตรมาตลอด คือปัจจัยในการผลิต ได้แก่ 1.ดิน 2.น้ำ 3.พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ 4.การจัดการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตรัสเสมอว่า “ทำดินให้ดีแล้วดินจะไปเลี้ยงพืช” แต่บ้านเราดินไม่สม่ำเสมอ บางที่ก็ดินเค็ม บางที่ก็ดินเปรี้ยว ซึ่งมีพื้นที่อย่างนี้อยู่เยอะ ความอุดมสมบูรณ์ไม่เท่ากัน เป็นข้อสำคัญที่ถูกมองข้าม เกษตรกรเองก็มองข้าม ไม่รู้ว่าดินของตนเองเป็นอย่างไร เพราะดินไม่เหมือนกัน ทำให้พืชและวิธีการปลูกก็จะไม่เหมือนกัน ในเรื่องนี้ชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้ทั้งนี้ เรื่องใหญ่ที่เป็นห่วงเรื่อง คือ ดิน เพราะไม่มีใครพูดถึงเลย
ประเทศไทยมีอยู่กรมเดียวคือ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นกรมเล็กๆอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะเดียวกันปัจจัยตัวที่สอง คือน้ำ มีคนทำเป็นจำนวนมาก มีอยู่ 28 กรมที่ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องเหล่านี้ น้อยไปก็ไม่ดี เยอะไปก็มีปัญหา ไม่เช่นนั้นคงไม่เจออุทกภัยถล่มอย่างคราวนี้
เรื่องน้ำถ้าจัดการไม่ดีก็จะมีทั้งแล้ง มีทั้งท่วม บางพื้นที่ต้นปีแล้ง ปลายปีท่วมในพื้นที่เดียวกัน บางที่ก็แล้งตลอด ท่วมตลอด ซึ่งเป็นปัญหา
“ฉะนั้นนโยบายสำคัญคือระบบการจัดการน้ำ ระบบปรับปรุงคุณภาพดิน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนเอาจริงในเรื่องนี้เท่าที่ควร เรื่องดินควรจะมีคนเข้ามาดูแลมากกว่านี้ กรมพัฒนาที่ดินเล็กมาก และมีงบสนับสนุนน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ถูกมองข้าม เจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะเข้าไปทำ แต่งบน้อย คนน้อย การรณรงค์และคนใส่ใจก็น้อย”
นอกจานี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอนุรักษ์มากจนเกินกว่าที่จะมาจัดการด้านบริหาร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดีต่อกระทรวง เป็นกระทรวงที่ทะเลาะกับชาวบ้านมากกว่าที่จะทำงานร่วมกัน
ในความจริงแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ราชการหรือใครจะทำไม่ได้โดยลำพัง แม้จะออกกฎหมายมาก็จะไปนั่งไล่จับใครโดยใช่เหตุ ทะเลาะกันโดยใช่เหตุ แต่ถ้าหากว่าทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องของชุมชน ให้เกิดการตระหนักรู้ความสำคัญ และร่วมมือ ชี้ให้เห็นผลได้และผลเสีย อย่างที่ในหลวงตรัสไว้ว่า การจะปลูกป่า “ต้องปลูกต้นไม้ในใจคนให้ได้ก่อน” ถ้าทำได้คนก็จะดูแลต้นไม้ โดยไม่ต้องไล่จับ
ก้าวต่อไปของภาคเกษตรควรเป็นอย่างไร?
หัวใจของนโยบายคือสร้างความมั่นคงในรายได้
สิ่งที่พยายามจะพูดคือ ต้องสร้างความมั่นใจในอาชีพก่อน หากคนมีความมั่นใจว่าทำอย่างนี้แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะลงมือทำ สังเกตได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำการเกษตรเพราะเห็นพ่อแม่ลำบาก แม้พ่อแม่มีที่ไรที่นาอยากให้ลูกกลับมาก็ไม่กลับ เพราะเห็นว่าพ่อแม่ลำบากจึงรู้สึกว่าไม่อยากทำ และในอนาคตเราก็จะมีปัญหา เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่มาเชื่อมต่อ
ฉะนั้น สิ่งที่นโยบายสำคัญที่ควรจะทำ คือ สร้างความ “มั่นใจ มั่งคั่ง มั่นคง” ให้กับเกษตรรายย่อยให้ได้ โดยต้องมีคนเข้าไปช่วยประเมินให้ใหม่ ให้เกษตรกรรับรู้ใหม่ ตระหนักใหม่ว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นมีมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าเป็นดินที่ดี น้ำที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ สินค้าหลักที่บ้านเราควรทำคือ สินค้าอาหาร ถ้าเราทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารให้กับครัวโลกได้ ควรผลิตให้ตัวเองก่อน กินเอง ใช้เอง ถ้าเหลือแล้วจึงนำไปขาย เป็นเช่นนี้จะขายในราคาถูกก็ได้ ก็เพราะอิ่มแล้ว ให้ฟรีก็ยังได้
ถ้าเราประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ต้นทุนก็จะถูก แต่ถ้าเราประกอบอาชีพที่ขัดต่อสิ่งแวดล้อม ต้องดัดแปลงสิ่งแวดล้อม จะมีต้นทุนมหาศาลและเสี่ยงภัยด้วย
เหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่เรามีข้อดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์
“เปลี่ยนใหม่ให้ภาคเกษตร แทนที่จะเน้นที่การผลิตอย่างเดียว ให้มีการแปรรูปและสร้างการตลาดไปในตัว ส่งเสริมให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ถ้าทำเช่นนี้ คนจะแห่กันมากิน และซื้อของบ้านเรา หลักสำคัญ คือ อย่าทำเยอะ ให้ทำน้อยๆ ให้มีคนมาแย่งซื้อ โดยใช้หลักเดียวกับ limited Edition เช่น เราบอกไปว่าข้าวสังข์หยดมีเฉพาะที่จ.พัทลุงเท่านั้น ที่อื่นไม่มีแล้ว คนก็จะไปแย่งกันซื้อ รับรองว่าให้ราคาดี เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งต่อไปจะส่งผลไปยังด้านต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยวด้วย”
สำคัญคือ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจ เรื่องพืชผักปลอดสารพิษ เกษตรแบบธรรมชาติ ว่าจะให้ราคาดี เหมือนราคาประกันข้าว ข้าวโพด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายในการประกันให้กับคนที่ทำเกษตรธรรมชาติ หรือเกษตรอินทรีย์เหล่านี้ ถ้าทำให้ราคาขึ้นอีกหน่อยโดยรัฐบาลเข้ามาช่วย รวมถึงสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ได้ก็จะดี และให้ผู้บริโภคเป็นผู้ร้อง ขอผักปลอดสารพิษ จะทำให้เราชนะทั้งโลก เพราะที่อื่นผลิตอย่างอื่นไม่ได้ใช้ทุกวัน แต่อาหารกินวันละ 3 มื้อ
สุดท้าย คือ อยากให้ภาคเกษตรหรือนโยบายที่จะเดินต่อไปข้างหน้า หันมาสนใจสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเรา และตอบสนองทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เปลี่ยนจากสนใจในอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากเกินไป ให้เป็น อุตสาหกรรมเกษตร แทนที่จะให้ BOI กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งไม่ใช่ฐานของเรา มาหนุนอุตสาหกรรมเกษตรแทน ถ้าใครหันมาทำอุตสาหกรรมเกษตรเราจะลดและให้การส่งเสริมสูงมาก และถ้าสามารถไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรใกล้แหล่งผลิตมากเท่าไหร่ยิ่งให้เพิ่มอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ชาวบ้านจะไม่ต้องขนของไกล และจะเกิดผู้ประกอบการอีกชุดหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นลูกหลานของชาวนา หรือบางชุมชนก็รวมตัวและรัฐบาลสนับสนุนเรื่องทำโรงแปรรูปอาหารขั้นต้น ก็จะช่วยสร้างกระบวนการให้กับชุมชน