ไล่ทีละมาตรา ถกแถลงเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ องค์กรอิสระหลายแห่ง ติดดาบอย่างเต็มที่ ถ่วงดุลกับอำนาจทางการเมือง และขยายเรื่องทุจริต การใช้อำนาจโดยมิชอบ นำสู่เรื่องจริยธรรม ขณะเดียวกันก็มีอคติกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรรมการสิทธิฯ"
วันที่ 30 มิถุนายน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Inernational IDEA โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) จัดเวที “ถกแถลงเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2” โดยนายไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำเสนอรายงานการศึกษาเปรียบเทียบเรื่อง คณะรัฐมนตรี และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยองค์กรอิสระและประชาชน ณ อาคารซอฟแวร์ปาร์ค สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถนนแจ้งวัฒนะ
นายไพโรจน์ กล่าวถึงหมวดที่ว่าด้วย คณะรัฐมนตรี และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยองค์กรอิสระและประชาชน ถือว่าแปรผันที่สุดเท่าที่มีมาทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง สะท้อนถึงพลังทางสังคมที่แตกต่างกัน
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 159 การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี นายไพโรจน์ กล่าวว่า มีการถกเถียงมาตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน หลักการพื้นที่ฐานที่ว่า ผู้บริหารประเทศควรมาจากฉันทานุมัติของประชาชนโดยการเลือกตั้งโดยตรง เป็นข้อถกเถียงเสมอๆ
"คราวนี้ก็เปลี่ยนอีก ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อขึ้นก่อน ใครจะเป็นนายกฯ ที่สำคัญเวลาโหวตนายกฯ มีเงื่อนไขพิเศษแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก นอกจากเสียงข้างมากแล้ว ผู้ที่มีชื่ออยู๋ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ต้องมีสมาชิกได้รับเลือกเป็นส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของสภาผู้แทนราษฎร มิเช่นนั้นจะเป็นแคนดิเดตไม่ได้"
รธน.ฉบับปราบโกง
ส่วนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 157 นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และปี 2550 ได้เพิ่ม ให้ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินในแต่ละปี
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้วางเงื่อนไขต่างกันออกไป นอกจากต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐแนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย"
นายไพโรจน์ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา การต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งเข้าใจว่า เพื่อต้องการแก้ปัญหานโยบายประชานิยมโดยไม่รู้นำเงินมาจากไหน รัฐบาลชุดหน้าจึงต้องผูกพันเช่นนี้ก่อนรับตำแหน่ง
ที่แตกต่างอีกอันหนึ่ง คือไม่มีระบุไว้ ต้องรายงานรายปี เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 144 วรรคสาม นายไพโรจน์ ชี้ว่า ที่บอกว่าปราบโกงอาจจะอยู่ในส่วนนี้ โดยเฉพาะการเสนอการแปรญัตติ ห้ามกระทำฝ่าฝืนเรื่องนี้ หากมีส.ส. ส.ว.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ผลคือทำให้การเสนอแปรญัตติสิ้นผล แต่ผู้กระทำการพ้นสภาพ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
"ของเดิม หากค้นพบว่า การแปรญัตติมีผลประโยชน์ ก็ให้หยุดการแปรญัตติ คราวนี้ไปไกลกว่านั้น ให้เสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และหากเป็นรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำ ไม่ยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ที่สำคัญ รับผิดชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นี่คือยาแรง"
มาตรฐานทางจริยธรรม
เรื่องจริยธรรม อำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนด ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย
"เรากำลังกำหนดจริยธรรมให้มีผลทางกฎหมาย ชัดเจนขึ้น ไม่ปฏิบัติตาม มีผลการลงโทษ"
นายไพโรจน์ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังถวิลหาจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คราวนี้จึงมีการระบุถึงจริยธรรม "กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนข้อเท็จจริง เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดๆไป"
ผิดจริยธรรม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกแบบให้ไปที่ศาลฎีกา
กรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ให้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งผลของการร่ำรวยผิดปกติ คือ ให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิ์สมัครดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงให้ริบทรัพย์สิน รวมไปถึงการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ก็จะอยู่ในมาตรา 234 มาตรา 235 และมาตรา 236 (จริยธรรม)
องค์ประกอบองค์กรอิสระ
การได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ นายไพโรจน์ กล่าวถึงองค์ประกอบใกล้เคียงของเดิม มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน
"โดยมีการเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิผู้รับหรือเคยรับราชการ โดยลดผู้ทรงคุณวุมิสาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ออก" นายไพโรจน์ ระบุว่า นี่คือการเปลี่ยนองค์ประกอบที่แตกต่างจากเดิม อาจมีผลต่อคำวินิจฉัยในอนาคต
รวมถึง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ได้มีการออกแบบคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใหม่
ขณะที่ ป.ป.ช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุให้สามารถตรวจสอบได้ ตามมาตรา 236 โดยยื่นเรื่องต่อรัฐสภา ซึ่งในรัฐธรรมนูญ2540 และ 2550 ไม่มีกลไกนี้
สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแบบจาก 5 เป็น 7 คน นายไพโรจน์ ตั้งข้อสังเกต อีก 2 คนมาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า อธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่า อธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
"การออกแบบคล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้กำหนดเจาะจงแบบนี้ รวมถึงยังมีการเพิ่มอำนาจ กกต. (4) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือก ส.ส. หรือ ส.ว.ไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เมื่อมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ผู้นั้นกระทำการหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตฯ"
นอกจากนี้ นายไพโรจน์ กล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 247 (4) กำหนดให้กรรมการสิทธิทำหน้าที่ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง โดยไม่ชักช้าในกรณีมีที่รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม
"มาตรานี้ทำให้กรรมการสิทธิเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนรัฐบาล แก้ต่างให้รัฐบาล หาใช่องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งมาตรา 247 วรรท้ายยังกำหนเให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย"
นายไพโรจน์ แสดงความเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องข้ามแดน เช่นโรฮิงญา แรงงงานข้ามชาติ ได้ข้ามความเป็นชาวไทย จึงสงสัยว่า การตรวจสอบบางอย่างทำให้สังคมไทยเกิดความผาสุกหรือไม่ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ องค์กรอิสระได้หน้าที่ ได้อำนาจเพิ่ม หมด แต่กรรมการสิทธิ์นอกจากถูกลดทอนอำนาจแล้ว ยังถูกกำกับการใช้อำนาจ
"องค์กรอิสระหลายแห่ง ติดดาบอย่างเต็มที่ ถ่วงดุลกับอำนาจทางการเมือง และขยายเรื่องทุจริต การใช้อำนาจโดยมิชอบ นำสู่เรื่องจริยธรรม ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีอคติกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรรมการสิทธิฯ แน่นอน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ไพโรจน์' ห่วงร่างรธน.มีชัย ทำสิทธิเสรีภาพคนไทยหายไป