ลุ้นสหรัฐฯเลื่อนไทยจากเทียร์ 3 อยู่เทียร์ 2 ปมค้ามนุษย์
จับตาสหรัฐฯอัพเกรดสถานะไทยอยู่เทียร์ 2 ปมค้ามนุษย์หรือไม่ บิ๊กป้อมเผย ถึงได้เลื่อนแต่ยังไม่หยุดจัดการปัญหา ด้านทนายสิทธิฯ ย้ำ เรื่องแรงงาน โรฮิงญายังต้องจับตาใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ต้องจับตาสหรัฐอเมริกาจะมีการพิจารณาปรับอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจากเดิมอยู่เทียร์ 3 ขึ้นมาอยู่เทียร์ 2หรือไม่
ก่อนหน้านี้ เว็ปไซต์สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันและเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพฯเผยว่ารัฐบาลสหรัฐตัดสินใจถอนประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศกลุ่มเทียร์ 3 อยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ซึ่งยังต้องมีการจับตาและเฝ้าระวัง ในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ โดยทางรอยเตอร์ระบุยังด้วยว่า การปรับขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดีขึ้น ภายหลังจากไทยต้องตกอยู่ในในเทียร์ 3 ตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร
ด้าน พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับอันดับขึ้นครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างจริงจังของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการป้องปรามการค้ามนุษย์ในประเทศ
ด้าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความั่นคงและ รมว.กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การปรับขึ้นอยู่เทียร์ 2 ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวจะหยุดการทำงานในเรื่องการค้ามนุษย์
นายสมชาย หอมละออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าที่ผ่านมาทางหน่วยงานรัฐ มีความพยายามที่จะขันน็อตการทำงานของเจ้าหน้าที่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของไทยในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ เพราะว่าธุรกิจประมงมีอิทธิพลในทางการเมืองและทางการค้ากับรัฐบาลอย่างมาก แต่อย่างไรเรื่องนี้ก็คงต้องจับตามอง จะทำอย่างไรที่จะให้มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนและล้างผลาญ เป็นไปอย่างยั่งยืน
"ไม่ใช่พอได้กลับมาเทียร์ 2 แล้ว หย่อนหยาน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ว่าผู้ประกอบการเอง ต้องตระหนัก และสำนึกตลอดเวลาว่าการไม่ใช่เเรงงานทาส ค้ามนุษย์ และการทำประมงอย่างยั่งยืนเป็นผลประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะส่วนร่วมแต่เป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเองด้วย"
นายสมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แม้ว่าจะมีการดำเนินคดีอยู่บ้าง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าขั้นหนึ่งในปราบปราม แต่แน่นอนว่ากระบวนการค้ามนุษย์ทั้งโรฮิงญาและแรงงานยังมีอยู่ ต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย รวมไปถึงในประเทศต้องตื่นรู้เรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่นิ่งเฉย สังคมไทยกับเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนจึงยังต้องถูกตั้งคำถามใหญ่ ๆ