นักวิชาการ ยัน จนท.รัฐต้องไม่อ้างความชอบธรรมในการซ้อมทรมาน
เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรอ้างสถานการณ์ใดๆ ในการอุ้มหายหรือทรมาน นักวิชาการด้านกฎหมาย ยันการกระทำดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุด
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล จัดงานเสวนา “กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย” เนื่องในวันช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานสากล
รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ...... เป็นเอาเนื้อความของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย มารวมกันไว้เป็นฉบับเดียว โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้มีอยู่ 4 ส่วน คือ 1.) การลงโทษบุคคลที่กระทำการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย 2.) การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในประเทศไทย 3.) เรื่องคณะกรรมการ ซึ่งจะมีอำนาจในการที่จะทำให้เกิดการยุติการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย และ 4.) การสืบสวนสอบสวนการทรมาน เวลาที่ผู้เสียหายต้องการความเป็นธรมต่างๆ จะมีกลไกสืบสวนสอบสวน
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า หนึ่งในสิ่งใหม่และถือเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกระทำกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทรมานหรืออุ้มหาย เพราะเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมโลก นอกเหนือจากนั้นในมาตรา 9 ยังกำหนดความผิดของผู้บังคับบัญชา
“ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ของกฎหมายไทย เราไม่เคยมีมาก่อน แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมโลก เพราะมันเป็นเรื่อง ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา ตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ หากลูกน้องไปกระทำความผิด ผู้บังคับบัญชา เพิกเฉย ไม่ยอมห้าม ไม่ขัดขวางจะมีความผิดด้วย” รศ.ปกป้องกล่าว และว่า กฎหมายที่ใหม่แบบนี้ ซึ่งไม่คุ้นเคยกับฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของไทย ก็จะเกิดความกังวล ว่าเจ้านายไม่ได้ทำ หรือลูกน้องไม่ได้ทำ ทำไมต้องรับผิดด้วย
รศ.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า การทรมานและบังคับบุคคลสูญหายเป็นความร้ายแรงสูงสุด ที่ไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าสถานการณ์ได้ๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมองว่า มันจำเป็นต้องอุ้ม ต้องทรมาน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง ความสงบ รักษาไว้เพื่อสันติสุข เพื่อป้องกันอาญาชกรรม แต่ผมมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างอย่างนั้นไม่ได้ เหตุผลเพราะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในระดับสากล ไม่ว่าจะสถานการณ์อย่างไร ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อผู้บริสุทธิ์
ด้าน นายสมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การซ้อมทรมานเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ที่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว จะมีการตรวจสอบเอาผิดย้อนหลัง แต่สำหรับประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีอิทธิพล ดังนั้นการสอบสวนไม่สามารถทำได้อย่างเป็นอิสระ คนที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ได้รับความเสียหาย น้อยคนที่จะสามารถร้องเรียน ต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นธรรม ซึ่งในหลายครั้งสามารถดำเนินการได้เพียงช่วงแรกเท่านั้น จากนั้นจะมีผู้เข้ามายื่นข้อเสนอ เช่นการเสนอเงินจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน หากปฏิเสธก็จะถูกข่มขู่ถึงความปลอดภัยต่อชีวิต นั่นจึงทำให้ผู้เสียหายจำนวนมาก ลงเอยด้วยการยอมจำนน ไม่เอาความ ซึ่งเรามักพบเคสแบบนี้เสมอในสังคมไทย
"นอกจากนี้ความซับซ้อนของกฎหมาย การโยนความรับผิดชอบไปยังหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ต้องใช้เวลานานในการสืบสวนและดำเนินการ และสุดท้ายมักจะมีผู้ได้รับการลงโทษเพียงไม่กี่ราย กระบวนการเหล่านี้เองก็เป็นปัญหาในการปกป้อง และป้องกันเหตุการณ์เหล่านั้น” นายสมชาย กล่าว
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ยังมีความกังวลในบางมาตราของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นในหมวด ของคณะกรรมการ ที่เห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็เป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานบ่อยที่สุด นอกจากนี้ในหมวดคณะกรรมการฯไม่ได้กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงไว้ ในขณะที่อนุสัญญาเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องกำหนดสัดส่วน และสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือขั้นตอนในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะจากประสบการณ์ในการร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ที่สุดท้ายหลังผ่าน สนช.กลับพบว่ายกเว้นว่า สามารถละเมิดได้หากทำไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็หวังว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่มี ข้อยกเว้นในการทรมานหรือการปิดบังข้อมูล ด้วยเหตุความมั่นคงของชาติ เพราะไม่อย่างนั้นกฎหมายก็จะไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
“ความเห็นอีกประการ เรื่องการให้สัตยาบันในการอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลสูญหายที่ไทยได้ลงนามเอาไว้ มองว่าประเทศไทยสามารถให้ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญาติ ให้กับสังคม” นางอังคณา กล่าว