ไขปมระเบิดพลีชีพ...เมื่อจิตวิญญาณปะทะแสนยานุภาพทางเทคโนโลยี
ระยะนี้ข่าวการก่อการร้ายตามเมืองสำคัญต่างๆ ของโลกเกิดขึ้นถี่จนแทบจะกลายเป็นข่าวรายวันหรือรายสัปดาห์ไปแล้ว
ล่าสุดก็คือเหตุกราดยิงและระเบิดพลีชีพที่สนามบินนานาชาติในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 36 คน บาดเจ็บกว่าร้อย
“ระเบิดพลีชีพ” หรือที่สื่อตะวันตกใช้คำว่า suicide bomb แล้วแปลตามตัวว่า “ระเบิดฆ่าตัวตาย” ที่กระทำโดยกลุ่มที่ถูกขนานนามว่า “ผู้ก่อการร้าย” นั้น นับเป็นการโจมตีที่หน่วยงานความมั่นคงทั่วโลกยอมรับตรงกันว่า “ป้องกันยากที่สุด”
เพราะการใช้ตัวเองเป็นพาหนะนำพาและเคลื่อนย้ายระเบิด หนำซ้ำยังพร้อม “ตาย” หรือ “พลีชีพ” ไปกับระเบิดด้วย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีทันสมัยขนาดไหนก็ตาม
หลายคนเชื่อว่ามันคือการใช้ “จิตวิญญาณ” ต่อกรกับแสนยานุภาพทางการสงครามของชาติมหาอำนาจ
การจะป้องกันระเบิดพลีชีพให้ได้ผล ต้องเริ่มจากการย้อนไปทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ที่หาญกล้าใช้ตัวเองเป็นพาหนะให้กับวัตถุระเบิดนั้น เขามีความเชื่ออย่างไร และทำไปเพื่ออะไร
ดร.อณัส อมาตยกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
ภาษาลดทอนคุณค่า
ดร.อณัส เริ่มต้นตรงคำศัพท์ที่สื่อใช้เรียกขานการโจมตีแบบระเบิดพลีชีพ โดยมองว่าการเลือกใช้คำว่า “ระเบิดฆ่าตัวตาย” ของสื่อตะวันตก เป็นความจงใจเพื่อผลทางจิตวิทยาในการลดทอนคุณค่าของผู้ที่เลือกเส้นทางระเบิดพลีชีพ
“ผมคิดว่าเป็นปัญหาข้อจำกัดของภาษาที่ใช้ในสื่อ คำว่า suicide bomb แล้วไปแปลว่าระเบิดฆ่าตัวตาย ไม่ได้ใช้คำว่า sacrifice bomb หรือระเบิดเพื่อการพลีชีพ ในบริบทของสื่อมวลชนทั่วไปร้อยกว่าประเทศ จะให้ทุกคนเข้าใจบริบทที่แท้จริงทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้”
“ผมเข้าใจว่าเทรนด์ใหม่ให้ใช้คำว่าระเบิดฆ่าตัวตายเสีย จะได้เป็นจิตวิทยาโจมตีผู้ที่ทยอยไปปฏิบัติการระเบิดพลีชีพว่าการกระทำแบบนี้คือการฆ่าตัวตาย ซึ่งขัดแย้งกับหลักการทางศาสนาของทุกศาสนาที่ห้ามฆ่าตัวตาย ถือว่าส่งผลทางจิตวิทยาสูงมาก”
“นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์ของระเบิดพลีชีพก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นมุสลิมหรืออิสลาม เพราะมีมาก่อนมุสลิมที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างเช่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นก็มีกามิกาเซ่ (ฝูงบินที่ใช้การโจมตีแบบพลีชีพ) หรือกลุ่มทมิฬปลดแอกจากศรีลังกาก็มีการใช้ระเบิดพลีชีพ ทั้งหมดเริ่มมาก่อนมุสลิมมูจาฮีดีน หรือนักรบของพระเจ้าที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน”
"พลีชีพ" ไม่ใช่ "ฆ่าตัวตาย"
เมื่อศาสนาห้ามฆ่าตัวตาย คำถามก็คือเหตุใดนักรบมูจาฮีดีนซึ่งแน่นอนว่านับถือศาสนาอิสลามจึงทยอยกันไปทำระเบิดพลีชีพ ทั้งที่ไม่ต่างอะไรกับการคร่าชีวิตของตนเอง
“คนเราฆ่าตัวตายเพราะอะไร ตำรวจฆ่าตัวตายบ่อยๆ เพราะอะไร พ่อค้า เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมฆ่าตัวตายแล้วยิงลูกๆ ภาพรวมคือสิ้นหวัง คนที่ฆ่าตัวตายคือคนที่หมดหวังจากโลกใบนี้ คับแค้นใจว่าคนรักไม่เหลียวแล นี่คือลักษณะของการฆ่าตัวตาย”
“แต่กระบวนการที่คนเข้าสู่กระบวนการระเบิดพลีชีพ เขาไม่ได้หมดหวังในชีวิต บางคนเป็นวิศวกร บางคนเป็นแพทย์ บางคนเป็นนักออกแบบ บางคนเป็นคนเขียนบทละคร มีอนาคต มีเงินเดือน ไม่ได้หมดหวังอะไร”
“เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าการปลุกระดมคนมาติดอาวุธ มาจากเหตุผลเรื่องไร้การศึกษา ไม่มีงานทำ แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะคนที่มาร่วมล้วนมีอาชีพที่ดี มีอนาคตสุกสกาว ไม่ได้มีปัญหาอะไร”
“คำตอบตรงนี้คือเราจะจัดปฏิบัติการระเบิดพลีชีพเป็นระเบิดฆ่าตัวตายได้อย่างไร เมื่อผู้กระทำไม่ได้หมดหวังจากสามี ภรรยา ญาติ หรือเจ้านาย ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจระเบิดพลีชีพกันใหม่ว่า เขาไม่ได้ไปเกณฑ์คนหมดหวังมา หรือไปชักชวนคนที่เขียนในเฟซบุ๊คว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว อยากตาย แล้วมาผูกระเบิดพลีชีพ”
“ฉะนั้นคนที่ทยอยไปผูกระเบิดพลีชีพ ไม่ได้ฆ่าตัวตายบนพื้นฐานหรือเกณฑ์ปกติของคนที่ฆ่าตัวตายลาโลกนี้ไป แต่ทำด้วยความสงบ ประหนึ่งเป็นความปรีดิ์เปรม อิ่มเอิบ ภาวะต่างกันมากระหว่างคนที่ถูกหิ้วปีกไปที่เก้าอี้ไฟฟ้า สู่ตะแลงแกง ลานประหาร ไปสู่การยิงเป้า”
“สภาพของคนที่ทราบว่ากำลังจะตาย สภาวะของคนต่างกันมากกับคนที่ผูกระเบิดพลีชีพ เพราะเขากลับอยู่ในภาวะที่สงบ คนรอบข้างไม่มีใครรู้ เป็นสภาวะของคนที่ไม่ได้หวาดหวั่นกับความตาย หรือตกอยู่ในภาวะไร้สติ หรือกลัวจนสิ้นสติ”
คลี่ปริศนา...ทำไมต้องพลีชีพ
เมื่อการพลีชีพเป็นคนละเรื่องกับการฆ่าตัวตาย คำถามต่อมาก็คือทำไมถึงต้องพลีชีพ
ประเด็นนี้ ดร.อณัส ตั้งข้อสังเกตว่า ระเบิดพลีชีพเพิ่มมากขึ้นหลังสงครามโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก เพราะในสงครามรุกรานอิรักของชาติพันธมิตรตะวันตก ได้ทิ้งระเบิดโจมตีอิรักเป็นพันๆ หมื่นๆ ลูก ต่อเนื่องนานเป็นปีๆ ทำให้กองทัพอิรักที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ของตะวันออกกลางถึงขั้นล่มสลาย
เด็กกำพร้าหรือผู้สูญเสียบางส่วนจากสงคราม จึงผันตัวมาเป็นนักรบเพื่อตอบโต้ไม่ให้ชาติตะวันตกรุกรานแผ่นดินเกิดของตน
“แล้วนักรบติดอาวุธ หรือมูจาฮีดีนที่มี 50 คน 300 คน จะไปเผชิญหน้ากับกองทัพตะวันตกได้อย่างไร เพราะขนาดกองทัพอิรักที่แข็งแกร่งยังล่มสลายโดยใช้เวลาไม่นาน นี่จึงเป็นที่มาที่บรรดามูจาฮีดีนต้องสู้กับชาติตะวันตกที่เขาถือเป็นศัตรู ในยุทธวิธีที่ศัตรูเสียเปรียบ แล้วเขาได้เปรียบ”
และนั่นก็คือการใช้ระเบิดพลีชีพ!
ดร.อณัส ขยายความต่อถึงการต่อสู้ในบริบทของมุสลิมกับชาติตะวันตก ซึ่งเป็นสงครามใหญ่สงครามเดียวของโลกในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างเทียบเคียงกับไอเอส หรือ “กลุ่มรัฐอิสลาม” ที่ต่อสู้กับตะวันตกเพราะเชื่อว่าดินแดนมุสลิมถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง
และสิ่งที่เกิดขึ้นในอิรักก็เป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดภาพหนึ่ง...
“ศาสนาอิสลามก็ห้ามฆ่าตัวตาย แต่ไอเอสชูประเด็นว่าทำเพื่อให้อิสลามสมบูรณ์ ปลดปล่อยแผ่นดินอิสลามจากกรงเล็บชาติตะวันตก เพราะยังไม่มีประเทศมุสลิมที่เคยเป็นอาณานิคมในโลกนี้ที่รอดกรงเล็บจากชาติตะวันตกไปได้ ฉะนั้นในมุมมองของไอเอสจึงเห็นว่า ชาติอิสลามทั้งหมดไม่ได้มีเอกราชอย่างแท้จริง”
“ขบวนการไอเอสต้องการขจัดกรงเล็บหรืออิทธิพลของชาติตะวันตกออกไปจากแผ่นดินอิสลาม ซึ่งก็แน่นอนว่าตะวันตกคงไม่ต้องการให้ขจัดกรงเล็บของตัวเอง ฉะนั้นชาติตะวันตกจึงต้องทำลายล้างขบวนการไอเอส”
“ด้วยเหตุนี้ ขบวนการญิฮาดจึงเรียกร้องผู้คนให้หลั่งไหลเข้าไปสู่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแผนดินอิสลาม แต่ไม่ใช่การสอนให้คนไปฆ่าตัวตาย ฉะนั้นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจคำสอนของศาสนา”
สู้มารด้วยชีวิต
ในมุมที่เกี่ยวกับศาสนา ดร.อณัส อธิบายว่า ในตัวธรรมะของอิสลาม มีคำสอนเล็กๆ ในบรรดาโองการ 6 พันโองการ แต่ไม่ได้ปรากฏเรื่องนี้
ทว่าในบรรดาคำสอนหรือคำพูดของ นบี มูฮำหมัด นับหมื่นๆ (หรือที่เรียกว่าหะดีษ) มีปรากฏอยู่ในคำสอนวลีเล็กๆ ว่า “พวกเขาจะต่อสู้กับมารและพลพรรคของมาร ด้วยชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา และเมื่อเขาเข้าสู่สมรภูมิ เขาจึงตั้งเงื่อนไขไว้กับตัวเองว่า เขาจะไม่หันหลังออกจากสมรภูมินี้ เขาจะยืนหยัดประจัญบานในสมรภูมินี้แม้ด้วยชีวิตก็ตาม”
“จากคำสอนที่เป็นวลีเล็กๆ นี้ ทำให้บรรดาอูลามา หรือผู้นำศาสนา ผู้นำจิตวิญญาณของนักรบติดอาวุธ นำขึ้นมาเป็นเป้าหมาย แต่คำสอนนี้เป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่ได้มีนัยอะไรกับมุสลิมที่ขายลูกชิ้นปิ้ง ขายไก่ทอด หรือเป็นชาวประมง เพราะไม่ได้มีบริบทของสงคราม แต่นี่เรากำลังพูดถึงคนในพื้นที่ที่ถูกโลกตะวันตก ถูกกองทัพพันธมิตรตะวันตกรุกรานมา 20 ปี”
“บรรดาผู้นำศาสนาในกลุ่มนักรบ จึงนำหะดีษนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะที่บอกว่าเราจะเข้าสู่สมรภูมิ และจะยืนหยัดในสมรภูมินี้ พร้อมตั้งเงื่อนไขว่าราจะไม่หันหลังให้สมรภูมินี้”
สิ่งที่ ดร.อณัส ย้ำหลายครั้งตลอดการสนทนา ก็คือ บรรดานักรบมูจาฮีดีนมีเพียงหยิบมือ ฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าคนมุสลิมทั่วไปต้องคิดเหมือนกับพวกนักรบ แต่เป็นบริบทการต่อสู้ที่สามารถพัฒนาไปยังกลุ่มเป้าหมายจำเพาะเท่านั้น
ที่สำคัญ นักรบที่เลือกใช้ระเบิดพลีชีพ ก็มีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อย ดูได้จากกลุ่มไอเอส ไม่ใช่นักรบทุกคนที่ผูกระเบิดพลีชีพไปปฏิบัติการ มิฉะนั้นโลกคงไม่สงบสุขอยู่แบบนี้...
คำตอบในการแก้ไขปัญหาก่อการร้าย และหยุดยั้งการใช้ระเบิดพลีชีพ จึงมิใช่ว่างเปล่าเหมือนอากาศธาตุ แต่มีล่องลอยอยู่ในสายลม!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
* หมายเหตุ : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26
บรรยายภาพ : อณัส อมาตยกุล