กพย. เผย"ยาอม" 17ชนิด มีนีโอมัยซิน ยังไม่ถูกถอนพ้นทะเบียน อย.
ผจก.กพย. สืบค้นจากฐานข้อมูล อย. พบยาอม 17 ยี่ห้อ มีส่วนผสมยาต้านแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดปัญหาดื้อยา ยังไม่ถูกถอนทะเบียน ย้ำชัด ยายอดแย่ นอกจากยาอม ยังมียาแก้ท้องเสีย ยาฝาแฝด อีกที่สังคมควรสนใจ
หลังจากที่ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว "เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย" โดยหนึ่งในยาหลายๆ ชนิดมีการเตือนภัยเรื่องยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน (Neomycin)ด้วยนั้น (อ่านประกอบ:เร่งถอนพ้นตำรับ 'ยาอม' สูตรนีโอมัยซิน กินเเล้วดื้อยา )
ล่าสุด กพย. ระบุว่า หลังจากมีการแชร์ชื่อยาอมแก้เจ็บคอผสมยาต้านแบคทีเรียอยู่เพียงยี่ห้อเดียวว่า ถูกถอนทะเบียนแล้วนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลของ อย. (http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp) Keyword ที่ใช้ในการค้นคือ amylocaine พบว่า ยาเหล่านี้ยังไม่มีชนิดใดถูกถอนทะเบียน
ยี่ห้อยาอมที่มียาต้านแบคทีเรียนีโอมัยซินเป็นส่วนประกอบมี 17 ทะเบียนยา ดังนี้ (เรียงชื่อยาตามลำดับตัวอักษร)
1. BACAL LOZENGES
2. BASINA LOZENGE
3. CITACIN
4. CONNIC 99
5. IZAC
6. LOBACIN LOZENGES
7. MEDCIN
8. MUCOZA - MCZ
9. MYBACIN LOZENGES
10. MYBACIN LOZENGES (ORANGE)
11. MYBACIN LOZENGES LEMON
12. MYBACIN LOZENGES MINT
13. PROCIN
14. THRODY LOZENGES LEMON
15. THRODY LOZENGES MINT
16. THRODY LOZENGES ORANGE
17. TRINOMYCIN COOL LOZENGE
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาระบุถึง การถอนทะเบียนยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะนั้น ปัจจุบัน มีประมาณ 17 รายการ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมข้อมูล จะเพิกถอนทะเบียนหรือไม่
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ยาอม 17 ทะเบียนยา ดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศถอนทะเบียนแต่อย่างใด
"สูตรยาที่มีนีโอมัยซิน หากค้นจากเว็บไซด์อย.มีกว่า 500 ตำรับ มีทั้งยากินยาน้ำ แต่หากค้นคำว่า อะไมโรเคน (amylocaine) ซึ่งเป็นสูตรของยาชาเฉพาะที่ อยู่ในยาอมจะพบข้อมูล 17 ทะเบียนยานี้"
เมื่อถามว่า ปัจจุบันยาอมบางยี่ห้อได้เปลี่ยนสูตรจากนีโอมัยซิน เป็น ZINC แล้วคืออะไร ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ZINC คาดว่า เป็นวิตามิน ไม่ใช่ยาต้านแบคทีเรีย
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า แม้วันนี้ ทุกคนสนใจแต่ยาอมบางยี่ห้อที่ทำให้เกิดการดื้อยา แต่การดื้อยามีเรื่องยิ่งใหญ่กว่านี้เยอะ มียายอดแย่ถึง 7 ลำดับ เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาฝาแฝด เป็นต้น
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจการขายยาอมยอดฮิต ที่วางขายตามท้องตลาด โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้้อย่านวชิระ พนักงานขาย ระบุไม่ได้นำยาอมซองสีส้ม และสีเหลืองมาขายตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ แต่ได้วางขายยาอม ยี่ห้อเดียวกันแต่เป็นคนละสูตรแทน ซึ่งเป็นซองสีเขียว
ส่วนเภสัชกรร้านขายยาแห่งหนึ่ง ระบุ ยาอมยี่ห้อดังกล่าวยังวางขายตามปกติ ไม่ได้มีการสั่งห้ามขายแต่อย่างใด และยังสามารถซื้อไปอมแก้เจ็บคอได้ แต่แนะนำไม่ควรอมบ่อย มิเช่นนั้นจะดื้อยา